“ธีระ” หวั่นเด็กฆ่าตัวตายเป็นแฟชั่น ยกกรณี นศ.ม.บูรพา เป็นอุทาหรณ์ แนะพ่อแม่สอดส่องพฤติกรรมบุตรหลาน เป็นที่ปรึกษาที่ดี ขณะที่จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น แนะอย่าปล่อยให้เด็กอยู่ลำพัง ให้เข้าสังคม ทำกิจกรรมและพูดคุยฟื้นฟูจิตใจ หากพบพฤติกรรมเด็กเปลี่ยนไปควรพบแพทย์
วันนี้ (27 พ.ค.) นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า กรณีที่นักศึกษา คณะพยาบาลศาสตร์ ม.บูรพา กระโดดตึกฆ่าตัวตาย เนื่องจากความเครียด ปัญหาส่วนตัว โดยส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการติดเกมและไฮไฟว์นั้น โดยส่วนตัวคิดว่ากรณีที่เด็กและเยาวชนตัดสินใจคิดสั้น เมื่อเกิดความกดดันนั้นเหตุผลส่วนหนึ่งมาจากครอบครัว ซึ่งผู้ปกครองมีส่วนสำคัญในการดูแลพฤติกรรมบุตรหลาน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่ละเลยหรือมองข้ามการนำเด็กไปโรงพยาบาล ตนจึงขอเสนอว่าหากคนในครอบครัว พบว่า บุตรหลานมีพฤติกรรมผิดปกติ สภาพจิตใจย่ำแย่ ควรพาไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อให้เด็กมีภูมิคุ้มกันในการแก้ปัญหาชีวิต นอกจากนี้ ครู และสถาบันการศึกษาจะต้องให้ความร่วมมือกับครอบครัวเด็กในการเฝ้าระวังอีกทางหนึ่งด้วย เกรงว่า จะเกิดเป็นแฟชั่นเหมือนต่างประเทศ
“พ่อแม่ เพื่อนบ้าน ครู หรือเพื่อน จะต้องช่วยกันดูแลสภาพจิตใจเด็ก คนที่คิดสั้นจิตใจของเขาอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้ ดังนั้น สิ่งที่ควรจะทำก็คือพาเขาไปปรึกษาแพทย์ ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่ดูแลและบำบัดได้ อาทิ ศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กติดเกม สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ผ่านฮอตไลน์ 02-3548300 สายด่วนสุขภาพจิต กด 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง และ www.icamtalk.com” รมว.วัฒนธรรม กล่าว
น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ฝากเตือนไปยังผู้ปกครอง ว่า สาเหตุหนึ่งที่เด็กหลายคนฆ่าตัวตาย มาจากการขาดความอบอุ่น ความเข้าใจจากผู้ปกครอง ซึ่งโลกไซเบอร์มีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี ถ้าเราบริโภคส่วนที่ดี ก็จะเกิดประโยชน์ แต่หากบริโภคส่วนที่ไม่ดี อาทิ เล่นไฮไฟว์ เพื่อหาเพื่อนชาย ดูภาพโป๊ ก็จะนำเด็กไปสู่หนทางที่หายนะได้ และอยากเตือนไปยังเด็กๆที่กำลังติดการเล่นคอมพิวเตอร์ ว่า เราต้องรู้ตัวเอง และเล่นอย่างมีสติ ใช้เหตุผล และไม่ควรเลียนแบบการแก้ปัญหาแบบผิดๆ ด้วยวิธีการฆ่าตัวตาย เพราะกรณีเด็กฆ่าตัวตาย เกิดจากความอ่อนแอ ขาดสติยั้งคิด ไม่รักพ่อแม่ ซึ่งจะทำให้พ่อแม่ ที่รักเราเสียใจที่สุด
ด้าน พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล ในฐานะจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เท่าที่ติดตามข่าวเกี่ยวกับเด็กที่ฆ่าตัวตาย สามารถวิเคราะห์ได้ว่า เด็กรายนี้ มีปัญหาอะไรบางอย่าง ที่มีความไม่สบายใจ มีความคับข้องใจอยู่ลึกๆ ภายใน โดยไม่มีที่ระบายออก จึงแยกตัวเองออกจากโลกแห่งความเป็นจริง ดังนั้น ถือว่ากรณีของเด็กรายนี้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ที่จะไม่ใช้ชีวิตอยู่ในสภาวะปกติเหมือนเด็กทั่วไป โดยสังเกตได้จาก เด็กจะพยายามหลีเลี่ยงสังคม ไปอยู่ในโลกออนไลน์ เพื่อหาทางระบายสิ่งที่ติดอยู่ในจิตใจของตนเอง แทนการระบายให้คนใกล้ชิดได้ทราบ เมื่อตนเองขาดคนปรึกษา ก็เกิดการท้อแท้ในจิตใจ และตัดสินใจฆ่าตัวตายเพื่อเป็นทางออกสุดท้าย
“ขอฝากไปยังผู้ปกครอง และคนใกล้ชิด ให้สังเกตบุตรหลานตนเอง หากมีอาการผิดปกติ มีพฤติกรรมดังกล่าว ให้ลองพูดคุย ทำความเข้าใจกับเด็ก โดยใช้ความละเอียดอ่อน เพื่อสร้างพลังทางจิตใจ ให้กับเด็ก หากิจกรรมที่สร้างสรรค์ที่เด็กชอบ มีการพูดคุย พบปะผู้คน ให้เด็กคิดว่าตนเองมีความสำคัญ และพยายามไม่ปล่อยให้อยู่คนเดียวโดยลำพัง หากอาการหนักเกินกว่านี้ขอให้รีบพาไปพบจิตแพทย์โดยทันที” พญ.พรรณพิมล กล่าว