xs
xsm
sm
md
lg

ผลสอบ GAT/PAT ครั้งแรกคะแนนห่วย สทศ.เล็งปรับชอยส์คำตอบ แก้เผ็ด นร.เดา “ทิ้งดิ่ง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
“ชัยวุฒิ” แถลงผลการจัดสอบ GAT/PAT ครั้งแรก ชี้เด็กได้คะแนนต่ำเพราะส่วนใหญ่ผู้เข้าสอบยังเรียนอยู่ชั้น ม.5 คาดสอบครั้งที่ 2 และ 3 คะแนนจะดีขึ้น เพราะต้องใช้จริง ขณะที่ สทศ.เล็งปรับข้อสอบช้อยส์ให้มีคำตอบมากกว่า 1 คำตอบ แก้เผ็ดเด็กตอบข้อสอบแบบ “ทิ้งดิ่ง” เลือกคำตอบเดียวทุกข้อ ด้านประธาน ทปอ.ระบุ องค์ประกอบแอดมิชชัน 53 ยังใช้เหมือนเดิม เตรียมถกสภาวิชาการและสภาวิชาชีพถึงเกณฑ์คัดเด็ก พร้อมเปิดเวทีให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกคนร่วมแสดงความเห็นวางแนวแอดมิชชันปี 2554 ด้านอธิการบดี มศว ถามกลับ สทศ.ข้อสอบวัดอะไรเป็นหลัก ชี้เมื่อผล GAT/PATตกเด็กจะวิ่งเขาหาสถาบันกวดวิชามากขึ้น

เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และ ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.) ร่วมแถลงข่าวการจัดสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และ ความถนัดทางวิชาชีพ (PAT) ครั้งที่ 1/2552 (มีนาคม 2552) โดยนายชัยวุฒิ กล่าวว่า การสอบ GAT/PAT ปีนี้เป็นปีแรกที่จะนำผลมาใช้เป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกนิสิต นักศึกษาระบบกลาง หรือ แอดมิชชันในปีการศึกษา 2552 แทนผลการทดสอบขั้นพื้นฐานระดับสูง (A-NET) โดยเปิดให้นักเรียนสอบ GAT/PAT ได้ 3 ครั้ง ซึ่งการสอบครั้งที่ 2 จะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคม จากเดิมเปิดให้นักเรียนสมัครสอบพร้อมกัน 3 ครั้ง แต่ได้ปรับให้นักเรียนสามารถสมัครสอบ GAT/PAT ได้ทีละครั้ง ซึ่งจากผลการสอบ GAT/PAT เบื้องต้นที่ออกมานั้น แม้คะแนนเฉลี่ยของแต่ละวิชาจะต่ำกว่าครึ่งเป็นส่วนใหญ่ แต่ขอชี้แจงว่าผู้ที่สอบส่วนใหญ่กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 แต่เนื้อหาการสอบทั้งหมดควรเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก่อน เห็นได้จากการสอบครั้งที่ผ่านมามีผู้สอบที่กำลังศึกษาอยู่ระดับ ม.5 ประมาณ 90% ส่วนนักเรียนชั้น ม.6 ที่เข้าสอบมี ประมาณ 10% และผลที่ออกมานั้นเป็นการทดสอบความถนัด ไม่ใช่ผลชี้วัดความผิดพลาดทางการศึกษาของเด็กแต่อย่างใด

นายชัยวุฒิกล่าวอีกว่า สำหรับผลการสอบ GAT/PAT ครั้งที่ 1/2552 คะแนนเต็มวิชาละ 300 คะแนน มีค่าเฉลี่ยแต่ละวิชา ดังนี้ GAT ความถนัดทั่วไป 78.09 คะแนน PAT1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์ 88.34 คะแนน PAT2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ 90.47 คะแนน PAT3 ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์ 108.53 คะแนน PAT4 ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ 89.29 คะแนน PAT5 ความถนัดทางวิชาชีพครู 129.83 คะแนน PAT6 ความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์ 98.25 คะแนน PAT7.1 ความถนัดทางภาษาฝรั่งเศส 81.59 คะแนน PAT7.2ความถนัดทางภาษาเยอรมัน 93.69 คะแนน PAT7.3ความถนัดทางภาษาญี่ปุ่น 89.51 คะแนน PAT7.4ความถนัดทางภาษาจีน 75.18 คะแนน PAT7.5 ความถนัดทางภาษาอาหรับ 111.85 คะแนน และ PAT7.6 ความถนัดทางภาษาบาลี 84.77 คะแนน

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า การจัดสอบที่ผ่านมามีปัญหาอยู่บ้าง โดยการให้เด็กสอบได้ 3 ครั้งนั้น ถือเป็นภาระทั้งผู้สอบและเป็นภาระเรื่องค่าใช้จ่าย แต่หลักการที่เปิดให้สอบ 3 ครั้ง เพื่อให้เด็กเลือกสอบในวิชาที่คิดว่าทำได้ดีที่สุดในแต่ละครั้ง ไม่จำเป็นต้องเลือกสอบทุกครั้ง ทุกวิชา ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับนักเรียนถึงจุดมุ่งหมายในเรื่องดังกล่าว รวมทั้งเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปว่าจะมีการปรับสอบ 2-3 ครั้งอย่างไรให้เหมาะสม และยังพบปัญหาเรื่องการชำระเงินแต่ไม่ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะอย่างน้อย สทศ.เปิดให้สอบได้ถึง 3 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องสนามสอบที่เด็กรู้สึกว่าไกลและบางคนเข้าห้องสอบคลาดเคลื่อน ทั้งนี้ ในการสอบครั้งที่ 2 ที่จะมีขึ้น มีผู้สมัครสอบเข้ามาแล้ว 3.2 แสนคน ซึ่งถือว่าสูงกว่าครั้งแรกที่มีประมาณแสนกว่าคน เนื่องจากคาดว่าการสอบครั้งที่ 2 และ 3 จะเป็นการสอบที่เด็กตั้งใจเพราะจะต้องเอาคะแนนไปใช้จริง ซึ่งถือว่าผลการสอบ GAT/PAT ครั้งนี้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ส่วนการเยียวยาต่างๆ จะนึกถึงประโยชน์ของนักเรียนเป็นหลัก รวมถึงจะมีการปรับปรุงการสอบครั้งต่อไปให้มีประสิทธิภาพขึ้นด้วย

“ผมยืนยันว่าระบบแอดมิชชันเป็นระบบที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ประหยัดและตรงกับปรัชญาการศึกษาเหมาะสมกับการคัดเลือกเด็กเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใส สามารถคัดเลือกเด็กได้ตรงตามที่คณะหรือสาขาวิชาต้องการ ซึ่งการจัดสอบของ สทศ.นั้น ยืนยันว่าไม่ได้มุ่งหมายเรื่องรายได้หรือค้ากำไร แต่เป็นการบริการทางการศึกษา เด็กไม่จำเป็นต้องสมัครสอบทุกครั้ง”นายชัยวุฒิกล่าว

ด้าน นางอุทุมพร กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ผลการสอบ GAT และ PAT ครั้งที่ 1/2552 พบว่าสาเหตุที่เด็กคะแนนเฉลี่ยไม่ถึงครึ่งเพราะกว่าร้อยละ 90 เป็นเด็ก ม.5 ซึ่งยังเรียนไม่จบหลักสูตร แสดงให้เห็นว่าการกวดวิชาไม่ได้ช่วยอะไร แต่เชื่อว่าการสอบในเดือน มี.ค.2553 เด็กจะคะแนนสูงขึ้น เนื่องจากเรียนจบ ม.6 แล้ว อย่างไรก็ตามการสอบ GAT ในส่วนของการเขียน อ่าน คิดเชิงวิเคราะห์และการแก้ปัญหาพบว่ามีเด็กได้คะแนนเต็มถึง 1,276 คน แยกเป็นเด็ก ม.5 จำนวน 1,050 คน และ ม.6 จำนวน 226 คน โดยเป็นเด็กจาก ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา ร.ร.นครสวรรค์ และร.ร.มหิดลวิทยานุสรณ์ ทั้งนี้ สทศ.ได้ประเมินข้อสอบแล้ว พบว่าเด็กจะทิ้งดิ่ง คือ เลือกคำตอบเดียวกันทุกข้อเพราะมีโอกาสที่จะตอบถูก ดังนั้น สทศ.จะปรับรูปแบบของข้อสอบให้มีตัวเลือกที่ถูกต้องมากกว่า 1 คำตอบ ส่วนปัญหาที่เด็กไม่พอใจสนามสอบนั้น ในการสอบครั้งที่ 2 ได้แก้ปัญหาโดยให้นักเรียนเลือกสนามสอบเอง ซึ่งขณะนี้นักเรียน 3 แสนคนเลือกสนามสอบไปเรียบร้อยแล้ว แต่ยังมีนักเรียนอีก 50,000 คนที่จ่ายเงินแล้ว แต่ไม่มาลงทะเบียนและเลือกสนามสอบ หากเลยกำหนดวันที่ 25 พ.ค. สทศ.จะเลือกสนามสอบให้ ซึ่งอาจจะได้สนามสอบที่ไม่ตรงกับความต้องการ สำหรับใบรายงานผลการทดสอบ GAT/PAT ครั้งที่ 1/2552 สทศ.จะจัดส่งให้นักเรียนภายในเดือน มิ.ย.

นพ.ภิรมย์ กล่าวว่า ทปอ.ยืนยันหลักการว่า แอดมิชชันในปีการศึกษา 2553 ยังคงใช้องค์ประกอบและสัดส่วนเดิมที่ได้ประกาศไว้แล้ว ในส่วนของแอดมิชชันปีการศึกษา 2554 เป็นต้นไปนั้น จะยังคงหลักการสำคัญไว้ ได้แก่ 1.องค์ประกอบแอดมิชชัน ได้แก่ คะแนนโอเน็ต GAT PAT และคะแนนจีแพกซ์ 2.การสอบ GAT และ PAT 3 ครั้ง/ปี 3.อนุญาตให้ใช้คะแนนที่ดีที่สุดของวิชาที่สอบ 4.อนุญาติให้นักเรียน ม.5 ขึ้นไปสมัครสอบได้ทุกครั้ง และ 5.การกำหนดให้เก็บคะแนน GAT และ PAT ไว้ใช้ได้ 2 ปี แต่อาจจะมีการปรับปรุงรายละเอียดบางประการ อาทิ สัดส่วนองค์ประกอบคะแนนโอเน็ต GAT PAT และคะแนนจีแพกซ์ จำนวนในการสอบ GAT และ PAT ที่กำหนดไว้ 3 ครั้งต่อปี จะต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่ การให้เก็บคะแนนไว้ได้ถึง 2 ปี นานเกินไปหรือไม่ การเพิ่มประเภทของ PAT โดยเฉพาะในสายวิชาด้านวิทยาศาสตร์ ภาษาไทยและสังคมศึกษา เป็นต้น

“ทปอ.จะมีการประชุมร่วมกับสภาวิชาการและสภาวิชาชีพว่าจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้างในวันที่ 25 พ.ค. จากนั้นเมื่อสภาวิชาการและสภาวิชาชีพได้ข้อสรุปร่วมกันแล้วจะต้องส่งผลให้นายมณฑล สงวนเสริมศรี ประธานคณะทำงานศึกษาแอดมิชชันฟอรั่ม ประจำปี 2553 ภายในต้นเดือน ก.ค. เพื่อนำไปพิจารณาและสังเคราะห์ผลดังกล่าว ก่อนที่จะนำเข้าที่ประชุมวิชาการของ ทปอ.ในวันที่ 30 ก.ค.-1 ส.ค. ในวันดังกล่าวจะมีการนำเสนอผลการพิจารณาของคณะทำงานฯ และเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ นักเรียน ผู้ปกครอง ได้เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย เพื่อนำข้อสรุปเข้าสู่ที่ประชุม ทปอ.ในวันที่ 22 ส.ค.ต่อไป ดังนั้น คาดว่าหลังจากวันที่ 22 ส.ค.นี้ จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า หลักการและรายละเอียดแอดมิชชั่น ในปีการศึกษา 2554 เป็นต้นไป จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง” นพ.ภิรมย์ กล่าว

เมื่อถามว่า จากผลการสอบ GAT และ PAT ของนักเรียน ม.5 ที่ต่ำกว่าชั้น ม.6 เพราะยังไม่ได้เรียนจนจบหลักสูตรเช่นเดียวกันนักเรียน ม.6 นั้นจะนำไปสู่การกำหนดให้สอบเฉพาะนักเรียนชั้น ม.6 หรือไม่ นพ.ภิรมย์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าครั้งแรกที่ ทปอ.กำหนดให้นักเรียน ม.5 เข้าสอบ GAT และ PAT ได้นั้น เพราะต้องการเปิดโอกาสให้กับนักเรียนจริง แต่เมื่อให้โอกาสแล้วมีผลกระทบตามมาเช่นนี้ก็จะต้องนำไปวิเคราะห์กันว่า ควรจะจำกัดให้สอบเฉพาะนักเรียน ม.6 ได้หรือไม่ รวมทั้งลดจำนวนครั้งในการสอบลงดีหรือไม่ เพราะการตัดสินใจใดก็ตามย่อมมีผลกระทบตามมาเสมอ โดยหากจะให้สอบเฉพาะนักเรียน ม.6 ก็จะเป็นการตัดโอกาสนักเรียน ม.5 ซึ่งคาดว่าในวันที่ 22 ส.ค.น่าจะได้ข้อสรุป

ด้าน ศ.ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวถึงการี่สถาบันทดสอบทางกาศึกษาแห่งชาติเปิดเผยถึง ความคืบหน้าการเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยGAT/ PAT ครั้งที่ 1 ปรากฏว่า ทั้ง ม.5 และ ม.6 ได้คะแนนเฉลี่ยไม่ถึงครึ่งหนึ่งของ 300 คะแนนนั้น อยากให้ไปดูที่ข้อสอบว่าในข้อสอบนั้นเราวัดอะไรเด็ก ไม่ว่าจะเป็น GAT หรือ PAT นั้นเราเน้นต่อเนื้อหาหรือต้องการวัดกระบวนการคิดในศาสตร์นั้นๆ ของเด็ก ตนอยากเห็นการวัดโดยดูกระบวนการคิดในศาสตร์นั้นๆ มากกว่าจะเน้นแต่เนื้อหา อยากให้การเน้นในส่วนเนื้อหาเป็นพียงส่วนประกอบ

“ถ้าเขาตอบได้ว่าแบบทดสอบทั้ง GAT และPAT นั้นเราเน้นหนักต้องการวัดอะไรเด็ก เราจะรู้ทันทีว่าเด็กอ่อนอะไร ถ้าราวัดเรื่องระบบคิด ล้วงผลออกมาอยากที่ สทศ.เปิดเผยออกมาแสดงว่าเด็กไทยยังอ่อนเรื่องระบบคิด ถ้าเราเน้นหนักเรื่องเนื้อหาสาระแล้วผลการทดสอบออกมาในลักษณะนี้แสดง่าเด็กอ่อนเรื่องเน้อหาสาระ ผมอยากเห็น สทศ.หยิบและหันมาทบทวนเรื่องข้อสอบที่ใช้วัดเด็กด้วย ไม่ใช่แค่ออกมาให้ข่าวว่าเดกมีคะแนนเฉลี่ยต่ำเพียงแค่นั้น ใครๆ ฟังแล้วก็ใจหาย สทศ.จึงควรจะได้อธิบายรายละเอียดต่างๆ ของผลการสอบที่เกิดขึ้นด้วย”

อธิการบดี มศว กล่าวอีกว่า หาก สทศ.เปิดเผยข้อมูลคะแนนออกสู่สังคมจะทำให้เด็กกังวลใจอาจจะเร่งตัวเองอย่างหนัก และหันไปในระบบกวดวิชามากขึ้น ซึ่งตนได้เสนอไปยังโรงเรียนสาธิตมศว ปทุมวัน ประสานมิตร ทั้งประถมและมัธยมว่าเพื่อไม่ให้เด็กออกไปเรียนกวดวิชาข้างนอก โรงเรียนจะต้องเน้นการเสริมสมรรถนะ โดยการให้โรงเรียนเปิดสอนเองอย่างน้อยครูก็มีเวลาที่จะกวดขันหรือตักเตือนในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เด็กอาจจะองไม่เห็นอย่างเรื่งคุณงามความดี คุณธรรมจริยธรรม

กำลังโหลดความคิดเห็น