คกก.คุ้มครองเด็กแห่งชาติ เห็นชอบตั้งอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ระบบการดูแลเด็กกำพร้า โดยใช้กลไกครอบครัวทดแทน ใกล้เคียงครอบครัวจริง ดีกว่าสถานสงเคราะห์ โดยมาจากตัวแทนภาครัฐ เอกชน เอ็นจีโอจำนวน 17 คน ร่วมเข้าศึกษาข้อกฎหมาย จัดสวัสดิการ สร้างมาตรฐานให้เด็กที่ไม่สามารถคืนสู่ครอบครัวเดิมได้
นางนภา เศรษฐกร รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากงานวิจัยทั้งในไทยและต่างประเทศยืนยันชัดว่า ในการให้ความดูแลเด็กทางเลือก เด็กกำพร้า เด็กที่ถูกทำร้าย ถูกทอดทิ้งนั้น แนวคิดในการดูแลที่ดีที่สุดคือการพยายามส่งเด็กเหล่านั้นให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตยังครอบครัวเดิมให้ได้มากที่สุด แต่หากครอบครัวเดิมไม่สามารถให้การดูแลเด็กได้ ก็ต้องมีการจัดหาครอบครัวที่เหมาะสมในรูปแบบของครอบครัวทดแทน หรือที่เรียกว่า (Foster Family) เพราะเด็กจะได้รับการดูแล เลี้ยงดูและมีสภาพความเป็นอยู่ใกล้เคียงกับครอบครัวจริง ซึ่งดีกว่าการให้เด็กอยู่ภายในสถานสงเคราะห์ สถานรับเลี้ยงเด็ก เนื่องจากภายในสถานสงเคราะห์ หรือสถานรับเลี้ยงเด็กแต่ละที่ จะมีเด็กที่อยู่ในการดูแลจำนวนมาก รูปแบบการจัดการจึงอาจไม่เหมาะสม สัดส่วนของเจ้าหน้าที่ในการดูแลอาจไม่เพียงพอ จนทำให้เด็กไม่ได้รับการเอาใจใส่อย่างทั่วถึงแบบตัวต่อตัว ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการหรือสภาพจิตใจของเด็กตามมาภายหลัง
“ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้มีเด็กที่ถูกส่งตัวจากสถานสงเคราะห์ไปยังครอบครัวทดแทนเพื่ออุปการะจำนวนกว่า 4,700 คน ซึ่งนอกจากจะถูกส่งต่อจากสถานสงเคราะห์แล้วนั้น ยังรวมถึงเด็กที่ไม่มีผู้เลี้ยงดู พ่อแม่เสียชีวิต หรือต้องโทษ อาจจะอยู่ในการดูแลของญาติแต่ขาดปัจจัยการช่วยเหลือ และเด็กที่ต้องอยู่กับคนที่ไม่ใช่ญาติของตัวเองก็จะได้รับการพิจารณาส่งตัวไปยังครอบครัวทดแทนเช่นกัน ดังนั้นการที่จะส่งเด็กไปยังครอบครัวทดแทนได้นั้นต้องดูถึงนิสัย สภาวะทางอารมณ์ ความเป็นอยู่เดิมของเด็กที่ต้องหาครอบครัวที่มีสภาพใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ในส่วนของเด็กบางรายที่สภาพไม่เอื้ออำนวย เช่น เป็นโรคติดเชื้อ หรือต้องอยู่ในการดูแลรักษาพยาบาลอย่างใกล้ชิดก็ไม่สามารถที่จะจัดให้อยู่ยังครอบครัวทดแทนได้”รองอธิบดี พส.กล่าว
นางนภา กล่าวต่อว่า ครอบครัวทดแทนจึงเป็นระบบการดูแลเด็กทางเลือกที่ควรได้รับการส่งเสริมพัฒนาเพื่อให้เด็กได้รับประโยชน์สูงสุด และเพื่อให้มีการนำแนวคิดครอบครัวทดแทนมาใช้ในการดูแล คุ้มครองเด็กทางเลือกอย่างเป็นรูปธรรมนั้น ในการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2552 เมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมาจึงมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ ระบบการดูแลเด็กทางเลือกโดยใช้กลไกครอบครัวทดแทน ที่ประกอบไปด้วยตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน เอ็นจีโอ จำนวน 17 คน โดยอำนาจหน้าที่ของอนุกรรมการฯ ชุดนี้เพื่อรวบรวมศึกษากฎหมาย กฎระเบียบ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องครอบครัวทดแทน การประเมินสถานการณ์ครอบครัวทดแทนในปัจจุบัน พร้อมทั้งจัดทำยุทธศาสตร์การจัดบริการ สวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับเด็กที่ไม่สามารถอยู่กับครอบครัวได้ รวมไปถึงการพัฒนากฎหมายรองรับ และสร้างคู่มือจัดการตามมาตรฐานด้วย