xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนากุ้งกาฬสินธุ์ระทม เลิก-ชะลอเลี้ยงกุ้ง 70% หวั่นน้ำไม่เพียงพอทำกุ้งน็อกตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปรีชา ภูนาสูง เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามใน ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์นั่งดูบ่อกุ้งของตัวเองที่เหือดแห้ง หลังจากได้ชะลอการเลี้ยงกุ้งลง เพราะไม่มั่นใจในปริมาณน้ำ และสภาพอากาศที่ร้อนจัด ประกอบกับเกรงว่าจะเกิดปัญหาแล้งยาวนาน ซึ่งจะทำให้กุ้งน๊อคตายได้
กาฬสินธุ์ - แล้งพ่นพิษเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามในจังหวัดกาฬสินธุ์ ต้องเลิกกิจการและชะลอการเลี้ยงไปแล้วถึงร้อยละ 70 เหตุไม่มั่นใจในปริมาณน้ำและสภาพอากาศร้อนประกอบกับแล้งยาวนาน ด้านประธานสมาพันธ์ฯระบุในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม จะเกิดปัญหาขาดแคลนกุ้ง พร้อมจี้รัฐบาลหามาตรการช่วยเหลือปัญหาพันธุ์กุ้งและอาหารแพง

จากการติดตามปัญหาภัยแล้งที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยเฉพาะพื้นที่เขตชลประทาน หลังจากเขื่อนลำปาว ได้แจ้งยอดปริมาณน้ำล่าสุดเหลืออยู่เพียง 682 ล้าน ลบ.ม.จากปริมาณเก็บกักที่ 1,430 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งเหลืออยู่ไม่ถึงร้อยละ 50 ของความจุอ่าง จากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามในพื้นที่ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ หลายราย ต้องหยุดและชลอการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามลง เนื่องจากเกรงว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่จะไม่เพียงพอต่อการเพาะเลี้ยงกุ้ง ตลอดจนอากาศร้อนจัดจะทำให้กุ้งน็อกตายได้

นายไพฑูรย์ คันธนาม ประธานสมาพันธ์ผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากสภาพอากาศที่แปรปรวน รวมทั้งปัญหาฝนทิ้งช่วงมานาน ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนลำปาวลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้พื้นที่ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ส่วนใหญ่เกษตรกรจะทำการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกราม เพราะเป็นเขตพื้นที่เขตชลประทาน แต่ขณะนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ได้หยุดและชะลอการเพาะเลี้ยงกุ้งลงจำนวนมาก

เนื่องจากเกษตรไม่มั่นใจว่าจะมีน้ำเพียงพอต่อการเลี้ยงกุ้ง และเกรงว่า กุ้งจะน็อกตาย เพราะอากาศร้อนจัด และแล้งยาวนานกว่าทุกๆ ปี ทำให้ผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามเลิกการเพาะเลี้ยงกุ้ง และส่วนใหญ่ได้ทำการล้างบ่อทั้งไว้ ปล่อยบ่อให้ว่างเปล่า ซึ่งจากการสำรวจมีอยู่กว่าร้อยละ 70 จากจำนวนบ่อกุ้งกว่าเดิม 8,000 บ่อ ก็เหลืออยู่เพียง 1,500 บ่อเท่านั้น

นายไพฑูรย์ กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ปริมาณการส่งออกกุ้งไปยังตลาดทั่วทุกแห่งลดน้อยลง อาจถึงขั้นขาดแคลน และจะทำให้ราคากุ้งพุ่งสูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ยิ่งจะทำให้เกิดปัญหากุ้งก้ามกรามขาดตลาดมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อความอยู่รอดของเกษตรกรเอง อย่างไรก็ตาม แนวทางการช่วยเหลือ รัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ควรหามาตรการในการลดต้นทุนการผลิต เช่น พันธุ์ลูกกุ้ง อาหารกุ้ง เพื่อรองรับการเพาะเลี้ยงต่อไป

เนื่องจากปัจจุบันพันธุ์กุ้ง อาหารกุ้ง มีราคาแพงและไม่มีคุณภาพ อีกทั้งยังมีการปรับราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เกษตรกรยังขายกุ้งที่เลี้ยงมานานราคาเท่าเดิมอยู่

นายสัมฤทธิ์ ภูโอบ อายุ 76 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม หมู่ 19 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สภาพอากาศที่แห้งแล้งและร้อนจัด จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามเป็นอย่างมาก เนื่องจากกุ้งนั้นชอบอากาศชื้น มีน้ำถ่ายเทสะดวก ปัจจุบันกำลังประสบปัญหาจากภัยแล้งและสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้กุ้งตาย ทำให้เกษตรกรขาดทุนเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ตนเลี้ยงกุ้งมานาน 20 กว่าปีแล้ว แต่ปัจจุบันได้เลิกเลี้ยงไปแล้ว

พร้อมทั้งขายบ่อกุ้งไป 8 ไร่ เพื่อนำเงินมาใช้หนี้ที่กู้ยืมมาลงทุน ส่วนสาเหตุเนื่องจากน้ำขาดแคลนและไม่เพียงพอ ประกอบกับอากาศร้อนจัด พันธุ์กุ้ง และหัวอาหารแพง ทำให้กุ้งตายและขาดทุนทุกปี ทำให้ไม่มีเงินทุนที่จะซื้อพันธุ์กุ้งมาเลี้ยงต่อไปอีก

นายปรีชา ภูนาสูง เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งอีกราย กล่าวว่า จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดและคาดว่าจะประสบภัยร้อนแล้งยาวนาน ตนหวั่นว่าจะทำให้น้ำสำหรับเลี้ยงกุ้งขาดแคลน ไม่พอใช้ จึงได้ลดพื้นที่เลี้ยงลง จากปกติเคยเลี้ยงครั้งละ 5 แสนตัว ปัจจุบันลดเหลือเพียง 5 หมื่นตัวเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีเพื่อนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งอีกหลายรายที่ปล่อยพื้นที่บ่อกุ้งให้ว่างไว้ เพราะไม่มีกล้าที่จะเสี่ยงเลี้ยงกุ้งในหน้าแล้ง เนื่องจากการเลี้ยงกุ้งแต่ละบ่อ ต้องใช้เงินลงทุนสูงบ่อละกว่า 3 หมื่นบาท

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดกาฬสินธุ์ หยุดการเลี้ยงและชะลอการเลี้ยงลงเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เพื่อลดภาวะความเสี่ยงจากปัญหากุ้งตายแล้ง ที่จะทำให้เกิดการขาดทุน ทำให้กุ้งก้ามกรามที่เป็นสัตว์เศรษฐกิจ ติดอันดับหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เลี้ยงกันมากที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งแล้ว

ด้าน นายเดชา ตันติยวรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับปัญหาภัยแล้งในพื้นที่อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ได้สั่งการให้นายอำเภอยางตลาดลงพื้นที่ไปดูแลอย่างเต็มที่และใกล้ชิด โดยเบื้องต้นจะมีการจัดงบประมาณและเครื่องสูบน้ำเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกร และต่อไปจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปติดตามและรับทราบปัญหาจากนั้นจะนำมาแก้ไขต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น