xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯ แจงยิบเงื่อนไขรับนิสิตปี 53 ไฟเขียวเพิ่มใช้ GAT/PAT ครั้งที่ 1

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จุฬาฯ แถลงรับตรงปี 53 นิ่ง กำหนดใช้ GAT/PATครั้งที่1เพิ่ม จากเดิมใช้ PAT2 สั่งนิติการจุฬาฯ เตรียมเหตุผลแจงศาล เดินหน้าเสนอ ทปอ.เพิ่ม PAT 7 ภาษาต่างประเทศ 30% ในแอดมิชชันปี 54 ขู่ถ้า ทปอ.ไม่เพิ่ม คณะอักษรศาสตร์จะกลับไปรับตรง 100% เหมือนเดิม

ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวการรับนิสิตระบบรับตรง ปีการศึกษา 2553 ว่า ตามที่ยังมีนักเรียนไม่เข้าใจและสอบถามเข้ามามากถึงระบบรับตรงของจุฬาฯ นั้น ขณะนี้กระบวนการนิ่งแล้ว จึงขอแถลงข้อมูลที่ชัดเจน ดังนี้ ผู้สมัครเข้าคณะวิทยาศาสตร์, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทย, คณะครุศาสตร์, คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาวารสารสนเทศ, คณะศิลปกรรมศาสตร์, คณะอักษรศาสตร์ หลักสูตรภาษาและวรรณคดีไทย และโครงการศิลปะดีเด่น จะต้องสอบวิชาเฉพาะที่จุฬาฯ จัดสอบ โดยสมัครสอบวิชาเฉพาะผ่านระบบออนไลน์ วันที่ 16-31 พ.ค. ประกาศผลคะแนนสอบ วันที่ 30 ก.ค. สมัครสอบโครงการรับตรงแบบพิเศษ วันที่ 1-15 ส.ค. ประกาศผลผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษา วันที่ 30 ต.ค. สมัครโครงการรับตรงแบบปกติ โดยเลือกได้ 4 อันดับ วันที่ 16-30 พ.ย. ประกาศผลผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษา วันที่ 19 ม.ค.53 ดูรายละเอียดที่ www.atc.chula.ac.th โดยที่ต้องสอบวิชาเฉพาะ เนื่องจากสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ไม่ได้สอบให้

สำหรับคณะอื่นๆ ที่รับระบบรับตรงนั้น ไม่ต้องสอบวิชาเฉพาะ ทั้งนี้ คณะทำงานศึกษาแอดมิชชัน ปี 2553 ในวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้ขอให้มหาวิทยาลัยเร่งส่งรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษาเพื่อตัดสิทธิ์ในระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา (แอดมิชชัน) เร็วขึ้นจากเดิมวันที่ 15 มี.ค.53 โดยอาจเลื่อนมาเป็นภายในเดือน ก.พ.53 ทั้งนี้ การรับนิสิตในระบบรับตรงของจุฬาฯ ต้องการเปิดโอกาสให้แก่นักเรียนมากที่สุด ดังนั้น จึงเพิ่มการใช้คะแนนการวัดความถนัดทั่วไป (GAT) และคะแนนการวัดความถนัดวิชาชีพ/วิชาการ (PAT) ครั้งที่ 1 เดือน มี.ค.52 เข้ามาในการรับตรงแบบพิเศษและการรับตรงแบบปกติด้วย จากเดิมระบบรับตรงแบบพิเศษใช้คะแนน GAT และ PAT ครั้งที่ 2 เดือน ก.ค.52 เท่านั้น ส่วนระบบรับตรงแบบปกติ ใช้คะแนน GAT และ PAT สูงสุดจากครั้งที่ 2 เดือน ก.ค.52 หรือครั้งที่ 3 เดือน ต.ค.เท่านั้น เนื่องจากการสอบ GAT และ PAT ครั้งที่ 1 เดือน มี.ค.52 ที่ผ่านมามีผู้สอบมากขึ้น 2 แสนคน การนำคะแนนดังกล่าวมาใช้ด้วย จึงเป็นการเพิ่มโอกาสสูงสุดแก่นักเรียน ส่วนองค์ประกอบและค่าร้อยละที่ใช้ในการพิจารณารับนิสิตโดยวิธีรับตรงแบบปกตินั้น ยังคงเหมือนเดิม คือ เกรดเฉลี่ย ม.ปลาย(GPAX) 5 ภาคเรียน 10% GAT 10-90% PAT 0-60% ดูรายละเอียด www.admissions.chula.ac.th

ม.ร.ว.กัลยา กล่าวต่อไปอีกว่า ส่วนผู้พลาดหวังจากระบบรับตรง ยังสามารถสมัครแอดมิชชันภายในเดือน เม.ย.53 โดยมีโอกาสใช้คะแนน GAT และ PAT สูงสุดจากครั้งที่ 1, 2, 3 และ 4 ซึ่งทุกคณะของจุฬาฯ ร่วมระบบแอดมิชชันกลาง ยกเว้นคณะอักษรศาสตร์ที่รับด้วยวิธีรับตรงแบบปกติ 100% ไปแล้ว จำนวน 295 คน

“หากมีเด็กฟ้องศาลปกครองจุฬาฯ เรื่องคณะอักษรศาสตร์ไม่ร่วมระบบแอดมิชชันกลาง เราก็พร้อมชี้แจง ว่าจำเป็นต้องได้เด็กที่มีความรู้ภาษาต่างประเทศแน่นเข้ามาเรียน มิเช่นนั้นจะเป็นการทำร้ายเด็กระยะยาวถ้าเข้ามาเรียนแล้วเรียนไม่ไหว ซึ่ง ทปอ.กำหนดเกณฑ์กลาง PAT 7 ความถนัดทางภาษาต่างประเทศ 10% เท่านั้น ไม่เพียงพอต่อการคัดกรองเด็กที่เก่งภาษาต่างประเทศแท้จริงเข้ามาเรียน เราจึงต้องเลี่ยงมารับตรงเองโดยกำหนดค่าน้ำหนัก PAT 7 ความถนัดทางภาษาต่างประเทศ 30% แต่หากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ยินยอมเพิ่มทางเลือก PAT 7 ความถนัดทางภาษาต่างประเทศ 30% ในการแอดมิชชัน ปีการศึกษา 2554 ในส่วนของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ก็พร้อมจะร่วมแอดมิชชันกลางโดยรับนิสิตผ่านระบบนี้ 100% ทันที แต่หากไม่เพิ่ม ก็คงต้องกลับไปรับตรงวิธีปกติ 100%” ม.ร.ว.กัลยา กล่าว

รองอธิการบดีฯ กล่าวอีกว่า ในการประชุมคณะทำงานศึกษาแอดมิชชันฟอรั่ม ครั้งที่ 1/2554 วันที่ 25 พ.ค. ณ ม.บูรพา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จะเสนอเรื่องนี้เข้าไปพิจารณาด้วย รวมถึงจะเสนอให้เพิ่ม PAT 8 ความถนัดทางด้านภาษาไทยและสังคมศึกษา และ PAT 2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ มีการแยกข้อสอบวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ซึ่งคณะทำงานแอดมิชชันฟอรั่ม ต้องได้ข้อสรุปวันที่ 30 ก.ค. ก่อนจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ทปอ.วิชาการประจำปี 2552 ในวันที่ 31 ก.ค. -1 ส.ค. เพื่อพิจารณาตัดสินใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น