xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เปลี่ยนเรียก “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009” ยันผู้ป่วยเฝ้าระวัง 4 รายไม่ติดเชื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.กำหนดชื่อใหม่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่ระบาดในเม็กซิโกว่า “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ 2009 เอช 1 เอ็น 1” หรือชื่อย่อว่า “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009” รวมตั้งแต่ต้นมีผู้เข้าข่ายเฝ้าระวังโรค 4 ราย หายดีทั้งหมด ไม่มีผู้ป่วยสงสัยหรือยืนยันไข้หวัดใหญ่ เตรียมแผนรับมือในพื้นที่ จัดประชุมแพทย์ผู้รักษาป้องกันเชื้อดื้อยา และประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อจัดซ้อมแผนร่วมกับมหาดไทย รวมทั้งจัดประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน 7-8 พฤษภาคมนี้


วันนี้ (1 พ.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและควบคุมแก้ไขสถานการณ์การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ ซึ่งในวันนี้ นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มีคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขจัดตั้งศูนย์บัญชาการเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมแก้ไขสถานการณ์การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ ของกระทรวงสาธารณสุข ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วยคณะกรรมการ 2 ชุด คือ
 
คณะกรรมการอำนวยการ มีนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน คณะกรรมการประกอบด้วย อธิบดีทุกกรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ทำหน้าที่อำนวยการสั่งการ กำหนดแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขสถานการณ์การระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ วิเคราะห์สถานการณ์ และสนับสนุนการปฏิบัติงานของฝ่ายต่างๆ ทั้งงบประมาณ อัตรากำลัง ให้เพียงพอ

ชุดที่ 2 ศูนย์บัญชาการกระทรวงสาธารณสุข มีนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน คณะกรรมการประกอบด้วย หัวหน้าผู้ตรวจราชการ รองอธิบดีทุกกรม รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ทำหน้าที่บัญชาการเหตุการณ์ระดับกระทรวง มีโครงสร้างงาน 4 ส่วน ได้แก่ ส่วนติดตาม กำกับ ประสานงาน ส่วนกำหนดกลยุทธ์และวางแผน ส่วนสนับสนุนงบประมาณ และการบริหาร ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์ และส่วนประสานต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้งานมีความครอบคลุม มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


นพ.ปราชญ์ กล่าวว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลก ได้เปลี่ยนการเรียกชื่อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จากที่เคยเรียกว่า ไข้หวัดหมู หรือสไวน์ ฟลู (Swine Flu) และไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก เป็น “ไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1” (Influenza A H1N1) ซึ่งต่อไปนี้กระทรวงสาธารณสุขไทยจะใช้ชื่อคล้ายกับขององค์การอนามัยโลก แต่เพิ่มคำว่า สายพันธุ์ใหม่ 2009 คือ “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ 2009 เอช 1 เอ็น 1” หรือชื่อย่อว่า “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009” เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจตรงกัน เชื้อดังกล่าวเป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ มีความรุนแรงน้อยกว่าโรคซาร์ส แต่ติดเชื้อได้ง่าย จึงแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 28-30 เมษายน 2552 สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักควบคุมป้องกันควบคุมโรคประจำเขต มีผู้ป่วยในข่ายเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่สะสม 4 ราย จาก กทม. สมุทรปราการ และเชียงใหม่ โดย 3 ราย มีประวัติเดินทางจากพื้นที่เสี่ยงในระยะ 7 วันก่อนป่วย อีก 1 ราย เป็นชายชาวออสเตรเลีย มีประวัติเดินทางไปมาเลเซียซึ่งไม่ใช่พื้นที่เสี่ยงก่อนป่วย 2 สัปดาห์ เดินทางมาประเทศไทยผ่านสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2552 ตรวจพบมีไข้สูงจึงขอนอนพักที่ สถาบันบำราศนราดูร ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไม่พบรายใดติดเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จึงตัดออกจากรายการเฝ้าระวังทั้งหมด โดยในวันนี้ แพทย์อนุญาตให้ชาวออสเตรเลียกลับบ้านได้ ซึ่งทางสถาบันบำราศนราดูรได้จัดรถส่งถึงบ้านที่พัทยา โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงต่างประเทศได้รายงานว่ามีคนไทยในเม็กซิโก ที่แสดงความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศในวันที่ 3  พฤษภาคม เวลา 23.00 น. จำนวน 18 ราย ซึ่งเป็นนักเรียนโครงการแลกเปลี่ยนจำนวน 7 คน และอาสาสมัครอีก 11 คน และอาจมีคนที่จะแสดงความประสงค์เดินทางเพิ่มอีก โดยกระทรวงต่างประเทศจะเป็นผู้ประสาน และรายงานให้ สธ.รับทราบเพื่อเตรียมพร้อมในการจัดหน่วยแพทย์ไปรอรับที่สนามบิน เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียด หากพบว่ามีไข้จะนำส่งโรงพยาบาลบำราศนราดูร เพื่อตรวจสอบอาการต่อไป หากไม่มีไข้ จะถามความสมัครใจว่าจะกลับบ้านแต่อยู่ภายใต้การดูแลจากกระทรวง หรือเข้าพักในสถานที่ที่เตรียมไว้ให้ เพื่อรอดูอาการ

“แม้ว่าระยะฟักตัวของเชื้อจะมีโอกาสแพร่เชื้อได้ แต่ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำกว่าระยะที่มีการแสดงอาการแล้ว เพราะจำนวนเชื้อมีอัตราต่างกันมาก ต้องอยู่ในระยะใกล้ชิดมากจึงจะมีความเสี่ยง  ซึ่งคนไทยที่เดินทางกลับมาจากเม็กซิโก สธ.จะติดตามอาการอย่างใกล้ชิด    ดังนั้น ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก แต่อยากให้มีความรู้เพื่อป้องกันตนเองให้ได้ เช่น การใช้หน้ากากอนามัย หรือ หมั่นล้างมือบ่อยๆ ก็สามารถช่วยได้เช่นกัน”นพ.ไพจิตร์ กล่าว

** เช็คสต๊อกยาอาเซียนคาดมีไม่ต่ำกว่า 20 ล้านเม็ด
นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ประสานไปยังรัฐมนตรีสาธารณสุขประเทศอาเซียนซึ่งจะเดินทางมาประชุมเพื่อหารือถึงมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด A/H1N1 ที่ประเทศไทยในสัปดาห์หน้า ถึงการสต๊อกยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ในแต่ละประเทศ ซึ่งในส่วนของไทยมีสต๊อกอยู่ประมาณ 5 ล้านเม็ด ขณะนี้กำลังให้องค์การเภสัชกรรมผลิตเพิ่มอีก 1 ล้านเม็ด เพื่อให้ได้ประมาณ 10 % ของประชากร ขณะที่ประเทศสิงคโปร์มีมาตรการเตรียมความพร้อมที่เข้มข้น โดยมีการสต๊อกยาต้านไวรัสไว้ถึง 5 ล้านเม็ด เช่นเดียวกับประเทศไทย แม้จะมีประชากรน้อยกว่าก็ตาม ส่วนประเทศอื่นๆก็มีการสต๊อกยาบางส่วนไว้แล้ว คาดว่าในส่วนของประเทศอาเซียนน่าจะมีสต๊อกยาโอเซลทามิเวียร์ประมาณ ไม่ต่ำกว่า 20 ล้านเม็ด  และว่า ในส่วนของประเทศไทยนอกจากสต๊อกยาไว้ใช้ในประเทศแล้ว บางส่วนอาจต้องสนับสนุนให้กับประเทศในแถบอินโดจีนที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย เช่น กัมพูชา และ ลาวด้วย

** ประสานถ่ายทอดสดประชุมรมว.สธ.อาเซียน+3
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เตรียมการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ในวันที่ 7-8 พฤษภาคม 2552 ที่โรงแรมดุสิตธานี ตามที่ไทยเสนอรัฐมนตรีสาธารณสุขฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประธานรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน โดย นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า ขณะนี้กำลังประสานกับกรมควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (CDC)เพื่อที่จะถ่ายทอดสดวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์จากการประชุมรมต.สาธารณสุขอาเซียน+3 หารือกับเจ้าหน้าที่ของซีดีซี เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ แนวทางการสอบสวนโรค การควบคุมโรค การป้องกัน รักษา และปฏิบัติการในห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยโรค ซึ่งจะติดต่อให้มีการเชื่อมโยงกับคณะแพทย์และทีมสอบสวนโรคของประเทศในอาเซียนโดยตรงกับประเทศที่มีการระบาด 

ทั้งนี้ในบ่ายวันที่ 7 จะเป็นการประชุมระดับปลัดกระทรวงและนักวิชาการอาวุโส เพื่อหาข้อสรุปทางวิชาการ ส่วนเช้าวันที่ 8 จะประชุมระดับรัฐมนตรี สาระการประชุม ไทยจะเสนอเรื่องการเฝ้าระวังโรคข้ามแดนและตามแนวชายแดน ระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลให้ทันสถานการณ์ การบริหารจัดการสต๊อกยาต้านไวรัสที่สำรองไว้ระหว่างประเทศ และการผลิตวัคซีนอย่างเร่งด่วน ซึ่งยาต้านไวรัสมี 2 ประเทศที่ผลิตได้คือ ไทยและอินโดนีเซีย นอกจากนี้จะหารือเรื่องความร่วมมือเครือข่ายห้องชันสูตรโรคระดับภูมิภาค โดยจะนำข้อสรุปนี้เข้าสู่ที่ประชุมสมัชชาโลกในกลางเดือนพฤษภาคม ที่สวิตเซอร์
 
 
สำหรับสถานการณ์ทั่วโลก องค์การอนามัยโลกรายงานตั้งแต่ 24 เมษายน - 1 พฤษภาคม 2552 มีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จาก 11 ประเทศ ทั้งหมด 257 ราย เสียชีวิต 8 ราย ประกอบด้วย อเมริกาป่วย 109 รายใน 11 รัฐ เสียชีวิต 1 ราย เม็กซิโกป่วย 97 ราย เสียชีวิต 7 ราย แคนาดาป่วย 19 ราย สหราชอาณาจักรป่วย 8 ราย สเปนป่วย 13 ราย เยอรมัน 3 ราย นิวซีแลนด์ 3 ราย อิสราเอล 2 ราย ออสเตรีย 1 ราย เนเธอร์แลนด์ 1 ราย และสวิสเซอร์แลนด์ 1 ราย

ทั้งนี้ มาตรการป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ระบาดในไทย กระทรวงสาธารณสุขจะจัดประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้ เพื่อจัดการซ้อมแผนรับมือหากเกิดการระบาดใหญ่ ระหว่างสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กับกรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในด้านการแพทย์ สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขจะต้องเคร่งครัดคือ การป้องกันปัญหาการดื้อยาต้านไวรัส โอเซลทาร์มิเวีย (Oseltamivir) ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีปัญหา เนื่องจากยาดังกล่าวต้องใช้โดยแพทย์สั่ง มีเฉพาะในสถานพยาบาล ไม่มีจำหน่ายในร้านขายยา ในวันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคมนี้ กรมการแพทย์จะจัดประชุมแพทย์ผู้รักษาและผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ถนนวิภาวดีฯ ส่วนสต็อกยาโอเซลทาร์มิเวียนั้น ขณะนี้ได้สั่งสำรองเพิ่มอีก 10 เท่า และในระดับอาเซียนยังมีสต็อกอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์อีกประมาณ 5 ล้านกว่าเม็ด จึงมั่นใจว่าเพียงพอ
 

รวมข่าวเกี่ยวเนื่องโรคหวัดเม็กซิโกในประเทศไทย

  • รู้จัก “ไวรัสไข้หวัดหมู” มฤตยูสายพันธุ์ล่าสุด!

  • สธ.สั่งจับตาหวัดใหญ่พันธุ์ใหม่ในเม็กซิโกใกล้ชิด ยันไม่พบเชื้อนี้ในไทย ปชช.ไม่ต้องกังวล

  • คุมเข้ม! ตั้งด่านวัดอุณหภูมิ สนามบินสุวรรณภูมิสกัดหวัดหมู เน้นขาเข้าจากเม็กซิโก-อเมริกา

  • สธ.เปิดสายด่วนไข้หวัดหมู ป้องกันประชาชนตระหนก

  • สธ.รับมือ “หวัดหมู” กระจายยาสำหรับ 3 แสนคน WHO เผยติดจากคนสู่คน

  • แพทย์ระบุ “หวัดหมู” รุนแรงน้อยกว่าหวัดนก แต่กระจายได้มากกว่า

  • “สุวรรณภูมิ” จับตา 8 เที่ยวบินจากเม็กซิโก ยังไม่พบติดเชื้อหมูมรณะ

  • สธ.เตรียมใช้แผนรับหวัดนก หาก WHO เพิ่มความรุนแรง “หวัดหมู” เตรียมทำคู่มือแจกปชช.

  • รับมือ “ไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก” (ฉบับประชาชน)/เอมอร คชเสนี

  • WHO ยกระดับ “หวัดเม็กซิโก” ระดับ 4-สธ.ชง ครม.ตั้งกรรมการคุมระบาด

  • สธ.เฝ้าระวัง "หวัดเม็กซิโก"เข้มข้น คัดกรองทุกสนามบิน วอนคนไทยเลี่ยงไปพื้นที่ระบาด

  • ครม.ตั้ง “เสธ.หนั่น” นั่งประธานคุม “หวัดเม็กซิโก”

  • ด่วน! ไทยพบผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อ “หวัดเม็กซิโก” หลังกลับจากเมืองจังโก้ รพ.จุฬาฯ แถลง 4 โมงเย็นนี้

  • จุฬาฯ แถลงพบหญิงผู้ป่วยเฝ้าระวัง “หวัดจังโก” วัย 42 ปี ลุ้นผลแล็บคืนนี้

  • ไทยโล่ง! ผลตรวจผู้ป่วยต้องสงสัย แค่หวัดธรรมดา-สธ.ออกแถลงการณ์ ฉ.1

  • คำแนะนำ สธ.เรื่องโรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเม็กซิโก ฉบับที่ 1

  • จุฬาฯ แถลงชัดสาวใหญ่ป่วยหวัดใหญ่ธรรมดา ไม่ใช่หวัดเม็กซิโก

  • กรมการจัดหางานเตรียมพร้อมอพยพแรงงานไทยหาก “หวัดเม็กซิโก” คุมไม่อยู่

  • กทม.ร่อนสารแจ้งโรงแรมทั่วกรุงเฝ้าระวังหวัดเม็กซิโก หวั่นนักท่องเที่ยวนำเชื้อ

  • รับมือ “ไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก”/ศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล ภาควิชาจุลชีววิทยา

  • สธ.จับมือ 84 สายการบิน-ทัวร์ ทำประวัติผู้โดยสาร ยุ่นกัก นร.ไทยป่วย 1 รายขอดูอาการ

  • “วิทยา” เผยคนไทยกลุ่มแรกจะกลับจากเม็กซิโก 3 พ.ค.นี้

  • นักวิชาการชี้ไม่ช้าก็เร็ว “หวัดจังโก้” มาถึงไทยแน่

  • กำลังโหลดความคิดเห็น