xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ออกคำแนะนำเรื่อง “หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009” ฉบับที่ 2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำแนะนำกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง โรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเม็กซิโก ฉบับที่ 2

สถานการณ์โรค
ความคืบหน้าสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเม็กซิโก ข้อมูลองค์การอนามัยโลก ณ วันที่ 29 เมษายน 2552 มีผู้ป่วยที่มีผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการในเม็กซิโก 26 ราย เสียชีวิต 7 ราย สหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วย 91 ราย แต่อาการไม่รุนแรงและไม่มีผู้เสียชีวิต โดยพบผู้ป่วยใน 10 มลรัฐ ได้แก่ แคลิฟอร์เนีย 14 ราย เทกซัส 16 ราย (เสียชีวิต 1 ราย) นิวยอร์ก 51 ราย แคนซัส 2 ราย แมสซาชูเซตส์ 2 ราย มิชิแกน 2 ราย โอไฮโอ 1 ราย แอริโซนา 1 ราย อินเดียนา 1 ราย และเนวาดา 1 ราย นอกจากนั้นยังพบผู้ป่วยติดเชื้อหลังกลับจากเม็กซิโก ได้แก่ ออสเตรีย 1 ราย แคนาดา 13 ราย เยอรมนี 3 ราย อิสราเอล 2 ราย นิวซีแลนด์ 3 ราย สเปน 4 ราย และสหราชอาณาจักร 5 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยขณะนี้ประเทศเม็กซิโกมีมาตรการตรวจคัดกรองโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในผู้โดยสารเครื่องบินขาออก ดังนั้น อาจมีผลให้การเดินทางของท่านล่าช้าไปบ้าง

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 52 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเม็กซิโก เป็นภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern : PHEIC )

วันที่ 27 เมษายน 52 ได้ประกาศปรับเตือนการระบาดจากเดิม ระดับ 3 เป็นระดับ 4 พร้อมทั้งแนะนำมาตรการว่า ไม่ควรจำกัดการเดินทางหรือปิดพรมแดน หากประชาชนมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ ควรเลื่อนการเดินทางระหว่างประเทศและหากเริ่มป่วยหลังจากการเดินทางระหว่างประเทศ ควรไปพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ การบริโภคเนื้อหมูหรือผลิตภัณฑ์จากหมูที่ปรุงสุก ไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ ประชาชนทั่วไปควรล้างมือด้วยสบู่และน้ำ บ่อยๆ และหากเริ่มมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ ควรไปพบแพทย์

ล่าสุดวันที่ 29 เมษายน 2552 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศยกระดับการเตือนการระบาดเป็นระดับ 5 และเน้นย้ำให้ทุกประเทศเริ่มปฏิบัติการตามแผนเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรการเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มข้น การค้นหาโรคได้รวดเร็ว การรักษาพยาบาล และการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลในสถานบริการสาธารณสุข

สถานการณ์ในประเทศไทย จากการเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มข้นได้ตรวจผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา และได้ตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการแล้ว 3 ราย ยังไม่พบผู้ป่วยจากโรคนี้
 
การป้องกันควบคุมโรค ประเทศไทยได้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ มาตั้งแต่ พ.ศ.2547 และหน่วยงานต่างๆ กำลังดำเนินงานตามแผนเตรียมความพร้อม มาตรการสำคัญในระยะนี้ ได้แก่
 
1. มาตรการสกัดกั้นโรค มิให้แพร่เข้าประเทศไทย
- เร่งรัดการเฝ้าระวังในผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ
- คัดกรองผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ โดยติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ (เทอร์โมสแกน) ที่สนามบินนานาชาติทุกแห่ง
- แจกเอกสารคำแนะนำการดูแลตนเองและบอกแหล่งข้อมูลในการติดต่อกับทางราชการ (Health Beware Cards)
- ขอความร่วมมือสายการบินจากต่างประเทศแจกแบบฟอร์ม ให้ผู้เดินทางกรอกเพื่อการติดตามอาการ
- ขอความร่วมมือบริษัททัวร์ โรงแรม สายการบินในการดูแล แนะนำ ป้องกันโรคในผู้เดินทางระหว่างประเทศ

2. มาตรการค้นหาผู้ป่วย และแก้ไขหากพบผู้ป่วยในประเทศ
- เร่งปรับระบบการเฝ้าระวังโรคค้นหาผู้ป่วยให้เร็วที่สุด
- เร่งเพิ่มระดับความพร้อมระบบการดูแลผู้ป่วย รวมทั้งจัดห้องแยก และเวชภัณฑ์

3. มาตรการทั่วไป
- ให้คำแนะนำ เผยแพร่ความรู้ ให้กับประชาชน แจ้งเตือนประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางไปพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค
- ประสานองค์การอนามัยโลก ขอให้ประเทศที่มีการระบาด ตรวจสอบอาการของผู้เดินทางก่อนออกเดินทาง (Exit screening)

เนื่องจากในปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีโรคนี้ ประชาชนทั่วไปยังไม่จำเป็นต้องตระหนก และควรปฏิบัติเพื่อการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

1.หากไม่มีความจำเป็น ควรชะลอการเดินทางไปยังประเทศที่เป็นพื้นที่เกิดการระบาดจนกว่าสถานการณ์จะยุติลง แต่ถ้าจำเป็นต้องเดินทางไปพื้นที่เกิดการระบาด ให้หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการไอ หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อย ๆ หรือเช็ดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ พร้อมทั้งติดตามข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และปฏิบัติตามข้อแนะนำของทางการในพื้นที่นั้นๆ อย่างเคร่งครัด

2.ผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่เกิดการระบาด ถ้ามีอาการของไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยเนื้อตัวมาก ฯลฯ ภายใน 7 วันหลังจากเดินทางกลับ ควรสวมหน้ากากอนามัย หรือใช้กระดาษทิชชูหรือผ้าเช็ดหน้าปิดปากจมูกทุกครั้งที่ไอจาม และรีบปรึกษาแพทย์ กรณีที่อาการไม่รุนแรง แพทย์อนุญาตให้รักษาตัวที่บ้าน ควรหยุดงาน หยุดเรียน และงดไปในที่ชุมชน เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายเชื้อให้แก่ผู้อื่น
3. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดย
3.1 รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักและผลไม้ ดื่มน้ำสะอาดและนอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และสุรา
3.2 หมั่นล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการไอ จาม
3.3 หากพบว่ามีผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ภายในบ้านหรือสถานที่ทำงานเดียวกัน ต้องรีบแจ้งสำนักงานสาธารณสุขหรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเพื่อเข้าดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดทันที

ติดตามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข www.moph.go.th และหากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการ กรมควบคุมโรค หมายเลขโทรศัพท์ 0-2590-3333 และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง

กระทรวงสาธารณสุข
วันที่ 30 เมษายน 2552


รวมข่าวเกี่ยวเนื่องโรคหวัดเม็กซิโกในประเทศไทย

  • รู้จัก “ไวรัสไข้หวัดหมู” มฤตยูสายพันธุ์ล่าสุด!

  • สธ.สั่งจับตาหวัดใหญ่พันธุ์ใหม่ในเม็กซิโกใกล้ชิด ยันไม่พบเชื้อนี้ในไทย ปชช.ไม่ต้องกังวล

  • คุมเข้ม! ตั้งด่านวัดอุณหภูมิ สนามบินสุวรรณภูมิสกัดหวัดหมู เน้นขาเข้าจากเม็กซิโก-อเมริกา

  • สธ.เปิดสายด่วนไข้หวัดหมู ป้องกันประชาชนตระหนก

  • สธ.รับมือ “หวัดหมู” กระจายยาสำหรับ 3 แสนคน WHO เผยติดจากคนสู่คน

  • แพทย์ระบุ “หวัดหมู” รุนแรงน้อยกว่าหวัดนก แต่กระจายได้มากกว่า

  • “สุวรรณภูมิ” จับตา 8 เที่ยวบินจากเม็กซิโก ยังไม่พบติดเชื้อหมูมรณะ

  • สธ.เตรียมใช้แผนรับหวัดนก หาก WHO เพิ่มความรุนแรง “หวัดหมู” เตรียมทำคู่มือแจกปชช.

  • รับมือ “ไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก” (ฉบับประชาชน)/เอมอร คชเสนี

  • WHO ยกระดับ “หวัดเม็กซิโก” ระดับ 4-สธ.ชง ครม.ตั้งกรรมการคุมระบาด

  • สธ.เฝ้าระวัง "หวัดเม็กซิโก"เข้มข้น คัดกรองทุกสนามบิน วอนคนไทยเลี่ยงไปพื้นที่ระบาด

  • ครม.ตั้ง “เสธ.หนั่น” นั่งประธานคุม “หวัดเม็กซิโก”

  • ด่วน! ไทยพบผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อ “หวัดเม็กซิโก” หลังกลับจากเมืองจังโก้ รพ.จุฬาฯ แถลง 4 โมงเย็นนี้

  • จุฬาฯ แถลงพบหญิงผู้ป่วยเฝ้าระวัง “หวัดจังโก” วัย 42 ปี ลุ้นผลแล็บคืนนี้

  • ไทยโล่ง! ผลตรวจผู้ป่วยต้องสงสัย แค่หวัดธรรมดา-สธ.ออกแถลงการณ์ ฉ.1

  • คำแนะนำ สธ.เรื่องโรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเม็กซิโก ฉบับที่ 1

  • จุฬาฯ แถลงชัดสาวใหญ่ป่วยหวัดใหญ่ธรรมดา ไม่ใช่หวัดเม็กซิโก

  • กรมการจัดหางานเตรียมพร้อมอพยพแรงงานไทยหาก “หวัดเม็กซิโก” คุมไม่อยู่

  • กทม.ร่อนสารแจ้งโรงแรมทั่วกรุงเฝ้าระวังหวัดเม็กซิโก หวั่นนักท่องเที่ยวนำเชื้อ

  • รับมือ “ไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก”/ศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล ภาควิชาจุลชีววิทยา
  • กำลังโหลดความคิดเห็น