xs
xsm
sm
md
lg

“กษมา” พบ 30 โรงเรียนแตกแถวแจกคูปองเรียนฟรีแทนเงินสด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“กษมา” เผยมีโรงเรียน 30 แห่งออกนอกลู่ แจกคูปองแทนเงินให้ผู้ปกครอง อ้างผู้ปกครองต้องการ มีปัญหาใบเสร็จ พร้อมให้โรงเรียนนำร่องโรงเรียนผ่านการประเมินระดับดีมาก ใช้หลักสูตรนำร่อง สั่งเกาะติดโรงเรียนขยายโอกาส หลังพบนักเรียนลด ขาดครู

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยภายหลังการประชุม กพฐ.ว่า วันนี้ (28 เม.ย.) ที่ประชุมได้มีการติดตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ กรณีที่มีการแจกเงินผู้ปกครองเพื่อให้นำเงินไปซื้อเครื่องแบบนักเรียน กับอุปกรณ์การเรียน โดยภาพรวมโรงเรียนได้แจกเงินให้ผู้ปกครองไปแล้ว ร้อยละ 85 แต่ก็มีหลายเขตพื้นที่ที่มีการมอบเงินในสัดส่วนที่ต่ำ อย่างไรก็ดี สพฐ.จะมีการประชุมทางไกลเพื่อติดตามเรื่องนี้ ขณะเดียวกันยังได้มอบหมายให้คณะติดตาม ซึ่งเป็นการติดตามในรอบที่ 2 ไป เจาะดูโรงเรียนสังกัดอื่นๆ เพื่อจะได้ทราบว่าในการดำเนินงานเขามีปัญหาอย่างไรบ้าง เช่นโรงเรียนเอกชน โรงเรียนเทศบาล โรงเรียน ตชด. ซึ่งการติดตามครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการตรวจสอบเขาแต่จะไปเรียนรู้จากเขาด้วย

สำหรับการสั่งหนังสือแบบเรียน ทางโรงเรียนได้มีการสั่งไปกว่า ร้อยละ 80 อย่างไรก็ตาม จะประสานงานเพื่อเร่งรัดให้หนังสือเรียนถึงโรงเรียนก่อนเปิดเทอม ส่วนปัญหาเท่าที่ทราบมา พบว่ามีปัญหาการจัดซื้ออยู่บ้าง กรณีที่โรงเรียนหลายแห่ง หรือประมาณ 30 แห่งได้มีการมอบคูปอง ทางโรงเรียนให้เหตุผลว่าผู้ปกครองสะดวกถ้าใช้คูปอง มีปัญหาใบเสร็จ และผู้ปกครองไม่มีเวลาจึงให้โรงเรียนดำเนินการให้ ไม่ว่าจะให้เหตุผลอย่างไร ถ้าหากมีการแจ้งรายชื่อโรงเรียน สพฐ.จะประสานไปยังโรงเรียนเหล่านี้ เพื่อให้มอบเงินให้ผู้ปกครองแทน ส่วนปัญหาอื่นๆ ที่เร่งด่วนยังไม่มี ทุกอย่างดำเนินการได้ดีพอสมควร จะมีบ้างเรื่องความล่าช้า โดยเฉพาะโรงเรียนมัธยมศึกษา มักจะรอให้ดำเนินการรับเด็กแล้วเสร็จแล้วจึงจะดำเนินการตามนโยบายเรียนฟรี

คุณหญิงกษมากล่าวด้วยว่า มักจะมีคำถามเข้ามาว่าการที่จัดสรรเงินให้เด็กเข้าใหม่ซึ่งจัดให้ร้อยละ 80 ที่เหลืออีกร้อยละ 20 โรงเรียนจะได้รับเมื่อไหร่ ซึ่งเรื่องนี้ สพฐได้เร่งรัดให้สำนักงานเขตพื้นที่ (สพท.) แจ้งยอดนักเรียน และแม้ว่าจะมีตัวเลขไม่แน่นอน สพท.คาดเดาได้ว่าจะมียอดเด็กเข้าเรียนเป็นเท่าไหร่ หาก สพท.แจ้งยอดเข้ามาเราจะส่งเงินให้ทันทีที่ สพท.แจ้งตัวเลขนักเรียนเข้ามา

จากนั้น คุณหญิงกษมากล่าวถึงโรงเรียนนำร่องหลักสูตรใหม่ว่า ขณะนี้ให้ สพท.สำรวจโรงเรียนที่มีความพร้อมและเข้าตามเกณฑ์ที่กำหนด พบว่านอกเหนือโรงเรียนนำร่อง 555 โรงแล้ว ยังมีโรงเรียน 1,027 โรง ที่ผ่านการประเมินของ สมศ.ในระดับดีมากและมีความประสงค์เป็นโรงเรียนนำร่องและดูแลตนเอง นอกจากนี้ยังมีโรงเรียน 452 โรง ซึ่งไม่ได้ผ่านการประเมินจาก สมศ.ในระดับดีมาก แต่มีความประสงค์สนใจนำร่องและจะดูแลตัวเอง ซึ่งตรงจุดนี้ ให้มอบให้ นายวินัย รอดจ่าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะ ไปตรวจสอบโรงเรียนเหล่านี้อีกครั้ง โดยให้พิจารณาว่าโรงเรียนเหล่านี้มีครูเพียงพอตามวุฒิหรือไม่ ผลการประเมิน NT ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และโรงเรียนได้มีการเตรียมความพร้อมการใช้หลักสูตรใหม่มากน้อยเพียงใด หากโรงเรียนใดผ่านเกณฑ์เหล่านี้ อาจอนุมัติให้แต่ไม่ใช่อนุมัติในขณะนี้

นายสุชาติ วงศ์สุวรรณ ที่ปรึกษา สพฐ.อธิบายเพิ่มเติมว่า โรงเรียนที่จะนำร่อง สพฐ.ได้มีการประชุมชี้แจงทั้งระดับเขต และตัวแทนโรงเรียนระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา หลังจากนั้นโรงเรียนเหล่านี้ ไปดำเนินการจัดทำตามข้อกำหนด เช่น ให้โรงเรียนไปทำกรอบหลักสูตรท้องถิ่น พัฒนาบุคลากร โรงเรียนต้นแบบพัฒนาหลักสูตรของตนเอง เพื่อเตรียมพร้อมที่จะเปิดใช้ในปีการศึกษา 2552 อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเปิดเทอม ต้นเดือนพฤษภาคมจะเชิญมาคุยอีกครั้งหนึ่ง เพื่อสร้างความเข้าใจและความมั่นใจก่อนที่จะนำหลักสูตรนี้ไปใช้ เมื่อโรงเรียนนำหลักสูตรไปสอนแล้ว 1 เทอม ทาง สพท.และ สพฐ.จะติดตามประเมินว่ามีปัญหาอะไร เพื่อจะได้นำไปปรับปรุงในภาคเรียนที่ 2 ต่อไป และข้อมูลเหล่านี้จะเป็นการนำไปปรับปรุงเพื่อเตรียมใช้ในโรงเรียนทั่วไปในปีการศึกษา 2553

คุณหญิงกษมากล่าวว่า ในที่ประชุมแสดงความห่วงใยที่ สพฐ. มีโรงเรียนมัธยมขนาดเล็กและไปเปิดสอนระดับประถมศึกษา ทั้งนี้ สพฐ.คิดว่าควรสนับสนุนให้โรงเรียนเหล่านี้เปิดมัธยมที่เป็นทางเลือกให้เหมาะสมกับเด็กในท้องถิ่นโดยเน้นเรื่องอาชีพมากขึ้น ซึ่ง สพฐ.ร่วมกับสำนักงานการอาชีวศึกษา และจะลงนามความร่วมมือกับ กศน. วันที่ 30 เม.ย.นี้ พร้อมกันนี้จะประสานงานกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้โรงเรียนขนาดเล็กมีหลักสูตรกว้างขวางมากกว่าจะเน้นเรียนเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น