เครือข่ายภาคประชาชน สรุปยอดเจ็บ-ตายสงกรานต์ตอกหน้า “เสธ.หนั่น” ชี้ ต้องรับผิดชอบ จี้ไถ่บาปทบทวนมาตรการห้ามขายเหล้าปีใหม่ สงกรานต์ วันพระใหญ่ พร้อมเสนอให้ “อภิสิทธิ์” เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายฯ เอง ด้าน สธ.เตรียมนำประกาศสำนักนายกฯ 2 ฉบับ ห้ามดื่มบนยานพาหนะทุกชนิดบนถนน และวันสำคัญทางศาสนาใส่พานให้นายกรัฐมนตรีลงนาม
วันที่ 19 เมษายน นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า เครือข่ายฯ ได้ออกแถลงการณ์ท่าทีต่ออุบัติเหตุช่วง 7 วันอันตรายในเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2552 ระบุว่า สถิติอุบัติเหตุยอดสะสมทั้ง 7 วันอันตราย (10-16 เม.ย.) พบมีอุบัติเหตุรวม 3,977 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 4,332 ราย เสียชีวิต 373 ราย สูงขึ้นจากเดิม 5 ราย สาเหตุหลักๆ ของการเกิดอุบัติเหตุ ก็ยังคงเป็นการเมาสุราเช่นเดิม ทั้งๆ ที่เป็นช่วงวันหยุดยาวที่มีการกระจายความหนาแน่นบนท้องถนนในช่วงการเดินทาง ดังนั้น เครือข่ายเตรียมที่จะนำตัวเลขดังกล่าวมอบให้ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติด้วย
“ในภาพรวมภาคประชาชนรู้สึกผิดหวังกับมาตรการของภาครัฐ โดยเฉพาะคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่มี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เป็นประธาน คงไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ เพราะถือเป็นผู้ติดสินใจในนโยบายที่ผิดพลาด ที่ผ่านมามีการเตะถ่วงมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่เน้นการใช้มาตรการรณรงค์ให้ความรู้ ซึ่งผลตัวเลขอุบัติเหตุสงกรานต์ออกมาอย่างชัดเจนว่า ไม่ได้ผล ทั้งจุดตรวจวัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 7 หมื่นจุดของกระทรวงมหาดไทยที่ใช้งบสูงเกือบ 1 พันล้านบาทที่ไม่มีประสิทธิภาพ”นายคำรณ กล่าว
นายคำรณ กล่าวต่อว่า เครือข่ายมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.ขอให้คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ แสดงความรับผิดชอบ ด้วยการ ประกาศมาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3 วัน ไม่มีข้อยกเว้น รวมไปถึงมาตรการ ห้ามดื่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในรถและท้ายกระบะ โดยเร็วที่สุด ให้มีผลบังคับใช้ ในเทศกาลปีใหม่ และสงกรานต์ ปี 2553 เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีการปรับตัว และมีเวลาในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์มากขึ้น
2) ขอให้คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ เร่งออกมาตรการ ห้ามจำหน่าย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวันพระใหญ่ โดยเร่งด่วน เพื่อเป็นการไถ่ปาปจากการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ผิดพลาด และไม่มีเหตุผลที่รัฐบาลจะไม่ดำเนินการ นอกเสียจากเป็นไปตามข้อครหาในการปกป้องผลประโยชน์ให้ธุรกิจเครื่องดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
3) หากไม่มีการดำเนินการใดๆ ตามข้อเสนอข้างต้น เครือข่ายฯ ขอเรียกร้องให้ พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ พิจารณาตัวเองลาออกจากประธานคณะกรรมการนโยบายฯ เพราะเป็นผู้นำในการตัดสินใจที่ผิดพลาด และในการดำรงตำแหน่งดังกล่าว ยังขัดกับหลักการขององค์การ อนามัยโลก ซึ่งไม่ให้ผู้ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะมีธุรกิจน้ำเมาของตนเอง มาพิจารณานโยบาย และขอให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีซึ่งประชาชน ศรัทธาและ ไว้วางใจ มากกว่า เป็นประธานดำเนินการ ตามอำนาจหน้าที่ ในพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ทั้งนี้ เพื่อพิสูจน์และลดข้อครหาที่ว่า พรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่กล้าทำอะไรที่ ขัดผลประโยชน์กับนายทุนพรรค
“ขณะนี้ พล.ต.สนั่น ไม่มีความน่าเชื่อถือหลงเหลืออยู่เลย ทุกมาตรการที่จะควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงสงกรานต์ ไม่ว่าจะห้ามขาย ห้ามดื่มวันพระใหญ่ หรือแม้แต่มาตรการที่อ่อนที่สุดย่างห้ามดื่มหลังรถกระบะก็ไม่ยอม มาตรการโดนดองหมด ทั้งๆ ที่รัฐบาลควรล้อมคอกก่อนวัวหายแต่กลับไม่ทำ ดังนั้น รัฐจะต้องรับผิดชอบ และให้ความสำคัญกับการเจ็บตายช่วงสงกรานต์ด้วยไม่ใช่ห่วงแต่การสลายการชุมนุม ขณะที่เทศกาลสงกรานต์รู้อยู่แล้วว่าต้องมีคนเสียชีวิต 300-400 คน แต่ไม่มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้เครือข่ายฯ อยู่ระหว่างการหารือว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป ซึ่งอาจต้องรอให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก่อน”นายคำรณ กล่าว
นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตัวเลขผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุสงกรานต์ครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า มาตรการรณรงค์ ตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์เพียงเท่านั้น ยังไม่เพียงพอในการลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทั้งๆ ที่มีปัจจัยหลายประการที่น่าจะช่วงให้อุบัติเหตุลดลง เช่น การเดินทางลดลง สถานการณ์ทางการเมืองวุ่นวายไม่เอื้ออำนวยต่อการท่องเที่ยวแต่อุบัติเหตุ ซึ่งภายในสัปดาห์นี้จะนำสถิติตัวเลขอุบัติเหตุสงกรานต์และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี 2 ฉบับ คือ การกำหนดสถานที่ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บนยานพาหนะทุกชนิดบนถนน และการกำหนดห้ามดื่มในวันสำคัญทางศาสนา ต่อนายอัครพล สรสุชาติ เลขานายกรัฐมนตรี ตรวจพิจารณา ก่อนที่จะเสนอนายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศเพื่อบังคับใช้ต่อไป
“คาดว่า จะใช้เวลาไม่นานในการพิจารณาประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เพราะถือว่า เป็นมติจากคณะกรรมการนโยบายฯ แล้ว ซึ่ง สธ.ได้แก้ไขร่างประกาศฯ ทั้ง 2 ฉบับ โดยมีการตั้งคณะกรรมการจากผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อัยการ และตัวแทนหน่วงงานที่เกี่ยวข้องตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ เรียบร้อยแล้ว จึงขึ้นอยู่กับพล.ต.สนั่น จะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีหรือไม่”นพ.สมาน กล่าว