สธ.ทุ่มงบประมาณกว่า 366 ล้านบาท สร้างอาคารบริการผู้ป่วยนอกโรคติดต่อ สถาบันบำราศนราดูรหลังใหม่ พร้อมเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีระบบควบคุมคุณภาพอากาศ ป้องกันการแพร่เชื้อ สร้างความปลอดภัยผู้รับบริการและเจ้าหน้าที่ คาดเปิดให้บริการได้ในปี 2555
วันนี้ (19 เม.ย.) นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารแม่แบบการปฏิบัติการผู้ป่วยนอกโรคติดต่อ ที่สถาบันบำราศนราดูร จังหวัดนนทบุรี
นายวิทยากล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางการแพทย์ได้เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน เชื้อโรคก็มีการพัฒนาตัวเองอย่างรวดเร็วเช่นกัน ทำให้เกิดโรคติดต่อใหม่ๆ เช่น โรคซาร์ส โรคติดต่อที่เคยหายไปกลับมาระบาดซ้ำ เช่น โปลิโอ หรือโรคที่มีอยู่เดิมแต่มีความรุนแรงขึ้น ดื้อยามากขึ้น เช่น วัณโรค โรคเอดส์ เป็นต้น ซึ่งโรคติดต่อเหล่านี้ พร้อมที่จะแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วกว่าในอดีต เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าของโลกและการคมนาคมขนส่ง กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดทุกแห่ง ทั้งหน่วยงานทางด้านวิชาการและหน่วยงานบริการ พัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโรคต่างๆ และสามารถรับมือได้เต็มที่
โดยในส่วนของสถาบันบำราศนราดูร ซึ่งเป็นสถานบริการในสังกัดกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นอกจากการให้บริการด้านการแพทย์ทั่วไปแก่ประชาชนในพื้นที่แล้วยังได้รับการพัฒนาให้เป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษในด้านการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคติดต่อทั่วไปและโรคติดต่ออันตรายตามมาตรฐานสากล ซึ่งขณะนี้มีความก้าวหน้าเป็นระดับต้นๆ ของภูมิภาค และเป็นแหล่งศึกษาดูงานของหลายประเทศ
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อาคารผู้ป่วยนอกหลังเดิม เป็นอาคาร 2 ชั้น สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.2502 ซึ่งมีความคับแคบไม่เพียงพอให้บริการผู้ป่วยที่มีมากถึงปีละประมาณ 200,000 ราย เฉลี่ยวันละ 700-800 ราย จึงได้เสนอโครงการก่อสร้างอาคารแม่แบบการปฏิบัติการผู้ป่วยนอกโรคติดต่อ โดยเป็นอาคาร 2 หลังเชื่อมต่อกัน ส่วนแรกมี 9 ชั้น และส่วนที่ 2 มี 4 ชั้น ใช้งบก่อสร้าง 366 ล้านบาทเศษ ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2555 จะเป็นอาคารบริการผู้ป่วยโรคติดต่อ ที่มีเทคโนโลยีทันสมัยตามมาตรฐานระดับนานาชาติ มีคลินิกแยกโรคอย่างชัดเจน พร้อมระบบควบคุมคุณภาพอากาศภายในอาคารป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคตามมาตรฐานสากล เพื่อป้องกันการติดเชื้อและภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดกับผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ทำให้สามารถให้บริการผู้ป่วยได้อย่างมีคุณภาพและปลอดภัยมากขึ้น และพร้อมรองรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต