หลายคนจะทราบหรือไม่ว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ คือในวันที่ 13 เมษายนของทุกปี จะถูกยกให้เป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” เพื่อเป็นการย้ำเตือนให้ประชาชนมีความตระหนักถึงคุณค่าของผู้สูงอายุ สร้างความเข้าใจการยอมรับทางสังคม พร้อมทั้งให้ลูกๆ หลานๆ รำลึกถึงพระคุณด้วยการแสดงความกตัญญูกตเวที
และในทุกๆ ปี คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการสรรหาผู้สูงอายุที่เป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม โดยในปีนี้ ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.2552
** ดึงคนแก่ เก๋าประสบการณ์ ทำงานเพื่อบ้านเมือง
ในปัจจุบัน ท่านผู้หญิงพูนรัพย์ มีอายุ 99 ปีแล้ว แต่ก็ยังคงไม่หยุดทำงาน โดยเป็นทั้งประธานกรรมการมูลนิธิกตเวทิน ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประธานมูลนิธิศาสตราจารย์ หม่อมหลวงจิรายุ-ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา เพื่อส่งเสริมงานด้านภาษาไทย ประธานกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือการเป็นที่ปรึกษาสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ทำให้อายุที่กำลังย่างเข้าสู่ 1 ศตวรรษต้องกลายเป็นเพียงแค่ตัวเลขไปเลยทีเดียว ที่สำคัญคือ ทุกสัมผัสทางกายทั้งหู ตา รวมกระทั่งถึงความจำยังเป็นเลิศ สามารถอ่านออก เขียนได้และสนทนาได้
“ในส่วนของอาหารการกินก็กินอย่างปกติ เน้นอาหารที่ย่อยง่าย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “จิตใจ” หากใจสบายทุกอย่างก็จะสบายตามไปด้วย ทำอะไรก็ปรอดโปร่ง”ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์เผยเคล็ดลับ
และในฐานะของผู้สูงอายุแห่งชาติ ปี 2552 ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ยังมองการมีส่วนร่วมทางสังคมของผู้สูงอายุไว้ด้วยว่า การมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุในสังคมยังน้อยไป ควรจะมีมากกว่านี้ โดยเฉพาะครูบาอาจารย์ที่ปลดเกษียณไปแล้ว เราควรดึงท่านเหล่านั้นเข้ามาใช้ประโยชน์ เพราะทุกคนต่างสั่งสมประสบการณ์อย่างมากมาย จนบางครั้งคนหนุ่ม สาว ที่จบมาใหม่ไม่อาจเทียบความล้ำลึกในประสบการณ์ของอาจารย์เก่าแก่ได้ ในวงการการศึกษาหรือวงการไหนๆ ควรนำความสามารถของบุคคลกรที่เกษียณดึงออกมาใช้ให้ได้มากที่สุด และไม่อยากเห็นผู้สูงอายุที่คิดว่าตนเองยังมีประโยชน์อยู่นิ่งเฉย อยากให้รับอาสาออกมาทำงาน คนที่เกษียณไปแล้วต่างยังมีไฟอยู่ เพียงแต่เขาไม่รู้จะนำไปใช้อย่างไรจึงจะเหมาะสมเท่านั้น
“คนเหล่านั้นอาจยังไม่เข้าใจตัวเอง บางคนยังมีสติปัญญา มีภูมิปัญญาดีๆ ที่ยังเก็บเงียบไว้ ไม่กล้าที่จะเอาออกมาแสดง ต้องรอจนกว่าจะมีคนเข้ามาพูดจาด้วย สิ่งเหล่านั้นถึงจะถูกถ่ายทอดออกมา ในประเทศไทยยังมีผู้สูงอายุที่เก่งและมีศักยภาพอีกหลายคน ส่วนตัวดิฉันเองกลับรู้สึกว่า ยิ่งอายุมากขึ้นเท่าไหร่ โอกาสที่จะได้ทำประโยชน์ให้แก่สังคมก็จะมีน้อยลง ระหว่างนั้นก็ควรฉวยโอกาสใช้เวลาสร้างประโยชน์แก่บ้านเมืองให้มากที่สุดอย่างเต็มที่” ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์บอก
** ‘ผูกพันรัก’ สิ่งที่ห่างหายไปจากครอบครัวไทย
สำหรับมุมมองด้านครอบครัวของไทยในปัจจุบันนั้น ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์มองว่า ตอนนี้ครอบครัวไทยจะห่างกันมาก สมัยก่อนเมื่อลูกโดนพ่อ แม่ดุด่า ก็จะวิ่งแจ้นไปหาปู่ย่า ตายาย พวกท่านเหล่านั้นเปรียบเหมือนตัวแทนความดี เป็นพ่อพระแม่พระของหลานๆ แต่หลังๆ มานี้ไม่มีให้เห็นอีกแล้ว โดยการมีญาติผู้ใหญ่เป็นส่วนประกอบหนึ่งของครอบครัวคือสิ่งดีๆ ที่ทุกบ้านควรมีไว้ เพื่อจะช่วยทำให้ครอบครัวเกิดความอบอุ่น ไม่ว่าเกิดเรื่องอะไรคำชี้แนะ จากคนแก่ในบ้านอาจเป็นแนวทางสู่ทางออกของปัญหาที่พบได้
ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ยังบอกอีกว่า อยากเห็นครอบครัวไทยกลับมาสนิทสนมกัน เมื่อมีเรื่องอะไรก็อยากให้หันหน้าเข้าหากัน ปรึกษาหารือกันอย่างจริงจัง อย่าไปฟังแต่คำคนอื่น ให้พยายามใช้สมองช่วยกันคิด หาทางแก้ไข คิดให้มากๆ เมื่อคิดมากๆ แล้วตัดสินใจอะไรออกไปก็จะเป็นการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนของทุกคน และสิ่งที่ทุกครอบครัวควรมีเพิ่มเติมคือ การอบรม ดูแลเพื่อให้คนรุ่นใหม่อย่าง ลูกๆ หลานๆ มีความเข้าใจการใช้ชีวิตในสังคมอย่างถูกต้อง ซึ่งอยากให้มีการใช้สติปัญญาเพื่อพิจารณาเหตุผลในเรื่องต่างๆ เพราะปัจจุบันทุกคนมัวหลงอยู่กับคำโฆษณา โอ้อวดต่างๆ ทำให้นำพาชีวิตไปตามกระแส จนบางครั้งลืมวิถีชีวิตของตนเองไป นอกจากนี้อยากให้ทุกคนในครอบครัวพยายามนึกถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัวบ้าง หากทำอย่างนี้ได้รับรองว่าครอบครัวจะไม่เกิดปัญหาขึ้นเลย
“ทุกครอบครัวต้องรักใคร่ ผูกพันกัน ลูกหลานต้องมีความกตัญญูกับผู้หลักผู้ใหญ่ เพราะการนึกถึงบุญคุณของผู้อื่นจะทำให้คนๆ นั้นเป็นคนดีได้ พ่อแม่สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกๆ ได้ นอกจากนี้สิ่งที่ดิฉันพยายามสอนลูกหลานอยู่เสมอนั่นคือ เราใช้ชีวิตอยู่คนเดียว ตามลำพังไม่ได้ ทุกอย่างต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน การจะพึ่งพาคนอื่นได้ความเคารพ นอบน้อมต้องมาก่อน อย่างไรก็ตามไม่ว่าสิ่งที่ได้รับการช่วยเหลือจะถูกใจ หรือไม่ถูกใจ ก็ขอให้รับไว้โดยดี แล้วนำมาคิดต่อให้ลึกซึ้ง เพราะบางครั้งสิ่งที่เราคิดว่าถูก อาจจะผิดในสายตาคนอื่น สิ่งที่เราคิดว่าทำแล้วดี อาจจะไม่ดีก็ได้”
“ดังนั้น ควรรับฟังความเห็นและรับปรารถนาดีจากคนอื่นด้วย นี่เป็นสิ่งย้ำเตือนลูกหลานมาตลอด และสิ่งแวดล้อมภายในบ้านก็สำคัญ ต้องมีความรักให้กัน เห็นใจกัน ช่วยเหลือกัน ผู้ใหญ่ดูแลเด็ก เด็กเองก็ต้องให้ความนับถือเช่นกัน เมื่อลูกหลานมีโอกาสได้รับใช้ ตอบแทนพระคุณ ถึงแม้จะเล็กๆ น้อยๆ ก็ขอให้รีบทำ เพราะจะทำให้ผู้ใหญ่ชื่นใจ เป็นกำลังใจให้แก้เขาได้” ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์สะท้อนภาพ
สุดท้ายผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปี 2552 ได้ฝากแนวทางการใช้ชีวิตเนื่องในวันปีใหม่ไทยไว้ด้วยว่า สงกรานต์วันนี้เป็นวันสำคัญ เป็นวันหนึ่งที่ดำรงอยู่ในชาติไทยเรามาเป็นเวลายาวนาน ฉะนั้นในวันนี้จึงมีแต่สิ่งดีๆ ก็ขอให้คนไทยจงคิดแต่เรื่องดีๆ ในคนที่กำลังจะคิดท้อแท้ สิ้นหวังก็อย่าเพิ่งคิด เพราะถ้าหากเราคิดว่าเราสิ้นหวัง ทุกอย่างในชีวิตก็จะมืดมัวไปด้วย จึงอยากให้ใช้เวลาในวันดีๆ นี้ คิดเริ่มต้นในสิ่งใหม่ๆ แนวทางเดินใหม่ๆ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จที่จะตามมาต่อไป
“สุดท้ายจริงๆ คือ อยากให้ทุกคนคิดถึงชาติบ้านเมืองให้มากๆ เพราะตั้งแต่เราเกิดจนถึงสร้างตัวมาได้ถึงทุกวันนี้ก็เพราะเรามีแผ่นดินไทย เราควรหาโอกาสตอบแทนคุณแผ่นดินโดยใช้สติปัญญาคิดให้รอบคอบว่าอันไหนควรทำ ไม่ควรทำ ถ้าทุกคนมีจิตใจที่หวังดีต่อชาติ ต่อส่วนรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งหากเรารู้จักเทิดทูนคนที่ทำแต่คุณงาม ความดี คนคนนั้นก็จะมีแต่ความเจริญ”ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ฝากแง่คิดทิ้งท้าย
เส้นทางชีวิต..."ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์" ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา เป็นบัณฑิตรุ่นแรกของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเข้ารับราชการในสังกัดกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จากนั้นได้รับทุนบาเบอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ไปศึกษาต่อด้านจิตวิทยาการศึกษาที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน เมื่อสำเร็จการศึกษาก็ได้โอนกลับมารับราชการเป็นอาจารย์ประจำที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ หลังจากนั้นท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ได้สมรสกับศาสตราจารย์หม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์ อดีตคณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้เป็นองคมนตรี ในระหว่างการรับราชการท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ได้เป็นผู้ริเริ่ม และบุกเบิกคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ขึ้นในปี พ.ศ.2500 ซึ่งท่านเองก็ได้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะครุศาสตร์คนแรกและนับเป็นคณบดีหญิงคนแรกของเมืองไทยอีกด้วย นอกเหนือจากงานราชการแล้วท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ยังปฏิบัติภารกิจเพื่อสังคมอีกหลายอย่าง และจากการเล็งเห็นความสำคัญของภาษาไทยที่ถือเป็นเอกสักษณ์ของชาติ ในฐานะที่เป็นคณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทยของจุฬาฯ จึงได้ผลักดันให้รัฐบาลจัดตั้งวันภาษาไทยแห่งชาติขึ้นโดยถือเอาวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ตั้งแต่ ปีพ.ศ.2542 เป็นต้นมา ภายหลังจากเกษียณอายุราชการท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ ก็ยังดำรงตำแหน่งสำคัญของกิจกรรมทางสังคมอีกมากมาย จนได้รับรางวัลเกียรติคุณอีกจำนวนมาก ทั้งรางวัลที่ถือเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจคือ การได้รับประกาศเกียรติคุณให้เป็น “ปูชนียาจารย์” คนแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ.2533 และการได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาปรมาภรณ์ช้างเผือกและทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ พระราชทานเป็นกรณีพิเศษ ให้กับผู้ที่กระทำความดีเป็นประโยชน์แก่ราชการหรือสาธารณชน ซึ่งถือเป็นเกียรติประวัติสูงสุด |