xs
xsm
sm
md
lg

เปิดประชุม “ซีเมค” ยิ่งใหญ่ เห็นพ้องวางกรอบการศึกษาร่วมกัน พัฒนาคลอบคลุม เท่าเทียม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กอร์ปศักดิ์” เปิดการประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 44 หรือซีเมค 19 ประเทศสมาชิกร่วมประชุม วางกรอบการทำงานด้านการศึกษาร่วมกัน “จุรินทร์” เผยมติรัฐมนตรีศึกษาอาเซียนวางแผนปฏิบัติการ 5 ปี นำการศึกษาไปสู่การพัฒนาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม อย่างยั่งยืน

วันนี้ (6 เม.ย.) ที่ จ.ภูเก็ต นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีเมค) ครั้งที่ 44 และการประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 4 อย่างเป็นทางการ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุม 19 ประเทศ โดยนายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่า แม้ว่าทั้ง 2 องค์การจะมีกรอบการดำเนินงานที่ต่างกัน แต่ก็ยังมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยใช้การศึกษาเป็นกุญแจหลักในการพัฒนาคน เพื่อนำไปสู่การขจัดความยากจนให้หมดไป พร้อมกันนี้ยังทำให้ประชาชนมีความพร้อมเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ทั้งไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนจะต้องประสานความร่วมมือในการพัมนายุทธศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนที่ขาดโอกาสได้เข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึง

ด้าน ดาโต๊ะเสรี ฮิชัมมูดิน ตุน ฮุสเซน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแห่งมาเลเซีย และประธานสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียคตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ในการประชุมดังกล่าวทุกประเทศกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจทั่วโลก ภาวะโลกร้อน การขาดแคลนอาหาร และราคาอาหารที่สูงขึ้น การแพร่กระจายของโรคเอดส์ และโรคที่เกิดขึ้นใหม่ ความแตกแยกทางเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ไร้ขอบเขต การเปลี่ยนแปลงของภาพรวมด้านสังคมโลก ซึ่งปัจจัยทั้งหมดนี้ไม่สามารถหลีกหนีได้ ดังนั้นทุกประเทศจึงต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาในทุกระดับ เพื่อสร้างความเข้มแข้งให้เกิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียน

ในขณะนี้มีคนถึง 9.2 ล้านคน ที่ไม่มีโอกาสศึกษาในโรงเรียน และในจำนวนดังกล่าว มี 3 ล้านคน อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีผู้ใหญ่ถึง 34.3 ล้านคน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ไม่สามารถอ่าน และเขียนหนังสือได้ จึงจำเป็นต้องหาทาง ให้ประชากรกลุ่มนี้ได้รับการศึกษา

ขณะที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ในฐานะประเทศสมาชิกของซีเมคได้เน้นย้ำพันธกรณีที่ไทยมีต่อองค์กรระดับภูมิภาค โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจในบทบาทและการมีส่วนร่วมของแต่ละองค์กรในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับภูมิภาค การประชุมดังกล่าวจึงเป็นโอกาสดีที่ทุกฝ่ายจะสามารถประสานการทำงานร่วมกันเพื่อเชื่อมโยงช่องว่างแห่งการพัฒนา และสร้างสังคมให้มีความเท่าเทียมและครอบคลุม ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการของไทยเห็นถึงความจำเป็นในการให้โอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ รัฐบาลจึงได้จัดสรรงบประมาณสำหรับการศึกษาในสัดส่วนที่สูง และถึงแม้ว่า การดำเนินงานตามกรอบปฏิบัติการดาการ์ว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชนจะมีความคืบหน้าอยู่บ้าง แต่ยังมีช่องว่างทางการศึกษาในขั้นวิกฤต ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง นอกจากนี้ความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษาระหว่างประชาชนในกลุ่มต่างๆ อาทิ ประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงระหว่างเมืองและชนบท

นายจุรินทร์กล่าวภายหลังเปิดการประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 44 ว่า มีหลายฝ่ายกล่าวชื่นชมการจัดระบบการจัดการศึกษาของไทย โดยเฉพาะรัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อการพัฒนาบุคลากรของประเทศทุกระดับให้กลายเป็นบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ สามารถเป็นกำลังสำคัญในการนำพาประเทศไทยไปสู่ความเจริญก้าวหน้าได้อย่างเท่าเทียมกับชาติอื่นๆ เช่น องค์การยูเนสโก และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแห่งมาเลเซียได้กล่าวชื่นชมการทำงานด้านการศึกษาของประเทศไทยที่ให้ส่งเสริมให้เยาวชนเรียนฟรีเป็นเวลา 15 ปี ในจำนวนถึง 12 ล้านคน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่สูงมาก นอกจากนี้ไทยยังมีแผนที่จะเร่งเดินหน้าปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ด้วยการเน้นพัฒนาครูให้มีประสิทธิภาพ และนำเทคโนโลยีมาใช้ปรับกับการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม

“ไทยได้ให้สัญญาร่วมกับกลุ่มประเทศซีเมคว่า จะนำพาประชาคมอาเซียนไปสู่เป้าหมายปี 2015 ว่าด้วยการใช้การศึกษาพัฒนาการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะด้านสังคม เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในอนาคต” นายจุรินทร์กล่าว

นายจุรินทร์กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 4 กลุ่มประเทศอาเซียนด้วยว่า การศึกษาเป็นตัวจักรสำคัญในการพัฒนาบุคลากรในกลุ่มประเทศอาเซียน บวก 3 ได้แก่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐประชาชนจีน และญี่ปุ่น เพื่อต้องการสร้างให้สังคมเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยขณะที่กลุ่มอาเซียนมีโครงการและเปลี่ยนหน่วยกิตในภาควิศวกรรม บริหารธุรกิจ และทรัพย์สินทางปัญญา ของนักศึกษาระดับปริญญาตรี โดยมีมหาวิทยาลัยชั้นนำในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน สำหรับไทยมีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมโครงการ 3 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยบูรพา โดยโครงการนี้ชื่อว่า “เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน” (Asean University Network) หรือ AUN


ทั้งนี้ ในที่ประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียนมีมติให้จัดทำแผนปฏิบัติการ 5 ปี ว่าด้วยการพัฒนาด้านศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างครอบคลุมเท่าเทียมกัน และมีความเสมอภาคในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักเลขาธิการอาเซียน สำนักงานเลขาธิการซีมีโอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปร่วมกันร่างแผนปฏิบัติการ 5 ปี เพื่อให้ออกมาเป็นรูปธรรมเพื่อให้การปฏิบัติงานด้านการศึกษาของประเทศอาเซียนเดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง




กำลังโหลดความคิดเห็น