นักวิชาการเสนอรัฐเร่งสร้างระบบขนส่งมวลชนลอยฟ้า-ใต้ดิน ให้ได้อย่างน้อย 400 กิโลเมตร ชี้ล้าหลังสิงคโปร์ พร้อมเสนอให้เก็บภาษีจากเจ้าของคอนโดฯ-ห้างสรรพสินค้า เหตุทำรถติด
วันนี้ (1 เม.ย.) ที่โรงแรมสยามซิตี เขตราชเทวี ได้มีการจัดโครงการนิทรรศการและการแสดงผลงานทางวิชาการ กรุงเทพฯ ศตวรรษที่ 21 โดย รศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวในการสัมมนาในหัวข้อการก่อสร้างใต้ดินสำหรับกรุงเทพฯ ในอนาคตตอนหนึ่งว่า การที่จะแก้ไขปัญหาการจราจรใน กทม.นั้นรถไฟฟ้าใต้ดินที่ปัจจุบันมีระยะทาง 20 กิโลเมตรยังไม่เพียงพอ เพราะอย่างน้อยจะต้องมีการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนทั้งลอยฟ้าและใต้ดินระยะทางไม่น้อยกว่า 400 กิโลเมตร ถึงจะสามารถตอบสนองความต้องการของคนกรุงเทพฯที่มีประมาณ 10 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกมีการเปิดพื้นที่ใต้ดินในการทำรถไฟฟ้าใต้ดินมาอย่างยาวนานแล้ว ขณะที่ประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มต้น ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น กรุงลอนดอน มีประชาชน 8 ล้านคน แต่มีเครือข่ายรถไฟฟ้าถึง 470 กิโลเมตร ประเทศญี่ปุ่นมีระบบขนส่งรถไฟฟ้าเกิน 500 กิโลเมตร ขณะที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ มีประชากร 10 ล้านคน ตั้งเป้าจะก่อสร้างให้ได้มากกว่าญี่ปุ่น ส่วนที่สิงคโปร์ แม้จะมีประชากร 4 ล้านคน แต่ขณะมีมีระบบรถไฟฟ้าถึง 180 กิโลเมตร และอีก 2 ปีข้างหน้าจะต้องเกิน 300 กิโลเมตรตามแผนที่วางไว้ ทั้งนี้ ประเทศที่กล่าวมาข้างต้นส่วนใหญ่จะมีระบบรถไฟฟ้าใต้ดินมากกว่าระบบลอยฟ้า
รศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาจราจรในระยะสั้นที่กทม.สามารถดำเนินการได้ทันทีนั้น จะต้องมีการระบบการใช้พื้นที่ใหม่ เช่น บริเวณตลาดโบ๊เบ๊ สามารถก่อสร้างตลาดใต้ดินแทนได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มพื้นที่การจราจร และพื้นที่สีเขียว ขณะเดียวกัน ควรจะมีการดูแลคลองผดุงกรุงเกษมเพื่อเป็นเส้นทางเชื่อมต่อคมนาคมทางน้ำในอนาคต
ด้านดร.จิตติชัย รุจนกนกนาฏ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในหัวข้อการขนส่งในเขตเมืองอย่างยั่งยืนว่า ควรที่จะมีการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการโดยเจ้าของโครงการอาคารชุดที่อยู่อาศัย ห้างสรรพสินค้า หรืออาคารขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นอย่างมากมายในย่านสำคัญของ กทม. โดยให้มีการคำนวณว่า หากเกิดโครงการนี้ขึ้นแล้วจะส่งผลกระทบต่อการจราจรอย่างไร แล้วคิดเป็นภาษีออกมาเหมือนที่ต่างประเทศดำเนินการ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้ทันที โดยสามารถออกเป็นกฎหมายมาบังคับใช้ซึ่งหากทำได้จะเป็นการลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนน รวมถึงควรมีการจำกัดโซนการก่อสร้างอาคารใหญ่ๆ อีกด้วย