“วัณโรค” ดุ! รมว.สธ.เร่งคุมโรค 3 ชายแดนใต้ รวมทั้งไข้ปวดข้อ ยุงลาย และไข้เลือดออก เผยปัญหาการติดต่อของวัณโรคขณะนี้ฉุดเศรษฐกิจไทยสูญปีละ กว่า 1,500 ล้านบาท ตั้งเป้าค้นหาผู้ป่วยครอบคลุม 100 เปอร์เซ็นต์ในปี 2553 หวังนำประเทศไทยออกจากบัญชีประเทศที่มีผู้ป่วยวัณโรคสูงสุดขององค์การอนามัยโลก ภายในปี 2558
วันนี้ (30 มี.ค.) ที่โรงแรมทวินโลตัส จ.นครศรีธรรมราช นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป /โรงพยาบาลชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุข จาก 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง กระบี่ พังงา ภูเก็ตและนครศรีธรรมราช จำนวนกว่า 1,000 คน เพื่อมอบนโยบายเร่งรัดงานป้องกัน และควบคุมโรคในพื้นที่จังหวัดภาคใต้
นายวิทยากล่าวว่า โรคที่เป็นปัญหาในจังหวัดภาคใต้ในขณะนี้มี 3 โรคสำคัญ ได้แก่ ไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา( Chikungunya) โรคไข้เลือดออก(Hemorrhagic Fever) และวัณโรค(Tuberculosis) โดยสถานการณ์แต่ละโรค พบผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลายตั้งแต่ 1 ม.ค.2552-17 มี.ค. 2552 จำนวน 10,556 ราย ไม่มีเสียชีวิต มากที่สุดที่ จ.นราธิวาส 5,148 ราย รองลงมาคือสงขลา 3,269 ราย ปัตตานี 1,531 ราย ยะลา 596 ราย โรคไข้เลือดออกตั้งแต่ 1 มกราคม 2552-21 มีนาคม 2552 พบผู้ป่วย 5,004 ราย มากที่สุดในภาคกลางรวม 2595 ราย รองลงมาคือภาคใต้ 1,533 ราย เสียชีวิต 6 ราย ได้ให้ทุกจังหวัดที่พบผู้ป่วย เร่งควบคุม ป้องกันโรคอย่างเร่งด่วน รวมทั้งรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันตัวเอง การรักษาเมื่อเจ็บป่วย
สำหรับวัณโรคขณะนี้กำลังเป็นปัญหาใหญ่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้วัณโรคเป็นปัญหาฉุกเฉินระดับโลก ให้ทุกประเทศเร่งกวาดล้างเชื้อโดยตั้งเป้าให้อัตราป่วยและตายลดลงครี่งหนึ่งใน พ.ศ.2558 รวมทั้งได้จัดอันดับประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคสูงสุด 22 ประเทศ โดย 3 อันดับแรก ได้แก่ อินเดีย จีน และอินโดนีเชีย สำหรับไทยอยู่ในอันดับที่ 18 โดยมีผู้ป่วยรายใหม่ ปีละ 90,000 ราย หรือใน 1 แสนคนจะพบผู้ป่วย 142 คน เป็นวัณโรคปอดระยะแพร่เชื้อ จำนวน 40,000 ราย เสียชีวิตปีละ 13,000 ราย ผู้ป่วยวัณโรคติดเชี้อเอช ไอ วี ด้วยร้อยละ 11 ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ป่วยเอดส์ ถูกวัณโรคคุกคามฉวยโอกาสป่วยซ้ำสองอีก ร้อยละ 30 และที่สำคัญมีเชื้อวัณโรคดื้อยาหลายขนาน เนื่องจากกินยาไม่ครบตามสูตร 6 เดือน ร้อยละ 1.6
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักวัณโรค ปี 2550 พบผู้ป่วยวัณโรคทุกประเภท 29,888 ราย รักษาหาย 22,648 ราย เสียชีวิต 2,562 ราย ความสำเร็จในการรักษา ร้อยละ 82 ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ ร้อยละ 85 สาเหตุจากผู้ป่วยย้ายที่อยู่ และขาดยาร้อยละ 7 ผู้ป่วยเสียชีวิตและรักษาล้มเหลว ร้อยละ 11 สำหรับปี 2551 พบผู้ป่วยวัณโรคทุกประเภท 55,252 ราย อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด ภาคใต้ต่ำสุด โดยอยู่ระยะแพร่เชื้อ 28,788 ราย ในจำนวนนี้ เป็นผู้ป่วยติดเชื้อวัณโรครอบ 2 จำนวน 1,716 ราย จังหวัดที่พบผู้ป่วยรายใหม่และอยู่ในระยะแพร่เชื้อมากที่สุด คือศรีสะเกษ 1,090 ราย รองลงมา ขอนแก่น 999 ราย และอุบลราชธานี 968 ราย
“ขณะนี้การค้นหาผู้ป่วยครอบคลุมประชากรแล้ว ประมาณร้อยละ 74 คาดว่าจะค้นหาผู้ป่วยครอบคลุม 100 เปอร์เซ็นต์ อย่างช้าภายในในปี 2553 นี้ และนำมารักษาให้หายทั้งหมด เพื่อนำประเทศไทยออกจากบัญชีประเทศที่มีผู้ป่วยวัณโรคสูงสุด ภายในในปี 2558 ตามเป้าขององค์การอนามัยโลก” นายวิทยากล่าว
ทั้งนี้ ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด เร่งแก้ไขด้วย 2 มาตรการสำคัญ คือค้นหาผู้ป่วยให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย และรักษาผู้ป่วยให้หายขาดทุกรายภายใน 6 เดือน โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือ อสม.เป็นพี่เลี้ยงกำกับการกินยาต่อหน้า ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือของชุมชน และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนในการเสริมสร้าง ความเข้มแข็งการดำเนินงานตามมาตรฐานการควบคุมวัณโรคแห่งชาติ
ทางด้าน นพ.ปราชญ์ กล่าวว่า ผู้ป่วยวัณโรคแต่ละคนจะมีความสูญเสียด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก เพราะต้องใช้เวลารักษานานประมาณ 6 เดือน หากครอบครัวใดมีผู้ป่วยวัณโรค 1 คนจะต้องสูญเสียรายได้นาน 40-60 วัน และสมาชิกในครอบครัว 1-2 คน จะต้องเสียเวลาดูแลผู้ป่วย เมื่อคิดเป็นการสูญเสียรายได้ทางอ้อมประมาณปีละ 16,800 บาท และคิดเป็นภาพรวมทั้งประเทศจะเกิดความสูญเสียมากกว่าปีละ 1,500 ล้านบาท ดังนั้น การค้นหาผู้ป่วยและให้กินยารักษาจนหายขาดต่อเนื่อง 6 เดือน ซึ่งเสียค่ายาเพียง 2,200 บาท จะเป็นการป้องกันไม่ให้มีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ เพราะเชื้อไม่แพร่สูคนรอบข้าง และป้องกันปัญหาเชื้อดื้อยา
สำหรับสถานการณ์วัณโรคในเขต 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ปี 2551 ตรวจพบผู้ป่วยวัณโรค จำนวน 3,094 ราย โดยป็นผู้ป่วยใหม่ที่อยู่ในระยะแพร่เชื้อ จำนวน 1,689 ราย คิดเป็นร้อยละ 55 อัตราความสำเร็จของการรักษา ผู้ป่วยที่ขึ้นทะเบียนรักษาในปีงบประมาณ 2550 ร้อยละ 81