xs
xsm
sm
md
lg

www.kids-d.org กำเนิดใหม่ห้องสมุดดิจิทัล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หน้าแรกเว็บไซต์ห้องสมุดดิจิทัลคิดี
การศึกษาหาความรู้เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งกับเด็กทุกเพศทุกวัย แต่บางพื้นที่นักเรียนไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาเท่าที่ควร ดังนั้น จึงมีการพัฒนาห้องสมุดในรูปแบบใหม่โดยให้นักเรียนสามารถค้นคว้าผ่านระบบ “อินเทอร์เน็ต” ได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม

ห้องสมุดแห่งนี้ www.kids-d.org มีชื่อว่า “ห้องสมุดดิจิทัลคิดดี” จัดทำโดยสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกรุงเทพมหานคร (กศน.) ผ่านเว็บไซต์ http://www.kids-d.org โดยเนื้อหาในห้องสมุดแห่งนี้ประกอบไปด้วยสาขาวิชาต่างๆ อาทิ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย สังคม วิทยาศาสตร์ รวมไปถึงความรู้ทั่วไปที่ทุกคนสามารถเข้ามาศึกษาได้

ศ.วิลาศ วูวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และอาจารย์ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และการจัดการสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ให้ข้อมูลว่า โครงการห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้เกิดขึ้นด้วยสาเหตุที่ว่าปัจจุบันการศึกษาในประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาที่อยู่ในขั้นวิกฤต คือ เด็กนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลขาดแคลนทั้งครูและแหล่งการค้นคว้าหาความรู้จึงทำให้คุณภาพของการเรียนการสอนไม่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้แล้วเด็กยังขาดโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้ในวิธีการเรียน การสอนรวมไปถึงเนื้อหาของครูต้นแบบที่ยังไม่ดีเท่าที่ควร

ดังนั้น จึงได้มีการจัดทำห้องสมุดดิจิทัลคิดดีขึ้น เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาที่จะสร้างเครือข่ายในการแบ่งปัน แลกเปลี่ยนการเรียนของนักเรียน การสอนของครู รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนการเสริมสร้างความรู้ด้วยตนเอง อีกทั้งยังเป็นแหล่งในการรวบรวม จัดเก็บและค้นหาทรัพยากรสารสนเทศทางด้านการเรียนการสอน ความรู้ทั่วไปในสาขาวิชาต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้นักเรียนสามารถแสวงหาความรู้และเรียนรู้บทเรียนได้ด้วยตนเอง ขณะที่ทางโรงเรียนเองก็สามารถนำระบบไปประยุกต์ใช้ตามความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ นอกจากความร่วมมือกับ กศน.แล้ว เอไอทียังได้รับงบประมาณจากรัฐบาล 1.4 ล้านบาทในการช่วยเหลือการสร้างห้องสมุด เพื่อทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยในแถบภูมิภาคแม่น้ำโขง ในการจัดสร้างห้องสมุดอีกด้วย

สำหรับหลักการทำงานของห้องสมุดนั้น ศ.วิลาศ อธิบายว่า จะคล้ายกับห้องสมุดธรรมดาทั่วๆไป ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของระบบการสืบค้นข้อมูลจำพวก บทความ หนังสือ และสื่อมัลติมีเดียอื่นๆ แต่จะมีข้อแตกต่างตรงที่ว่า ระบบห้องสมุดแนวใหม่นั้นจะมีการถาม-ตอบ การแสดงความคิดเห็นในเรื่องของรายวิชาต่างๆ ที่นักเรียนเรียนในห้องเรียนแล้วไม่เข้าใจก็สามารถที่จะนำข้อสงสัยมาโพสต์ไว้และช่วยกันตอบได้ เพราะบางครั้งนักเรียนให้ครูประจำวิชาอธิบายถึงข้อสงสัย แต่ด้วยความรู้ที่แตกต่างกันจึงทำให้ให้ไม่เด็กเข้าใจได้

นอกจากนี้แล้ว ห้องสมุดดังกล่าวยังสามารถระบุได้ว่าตำรำเล่มไหนดีเหมาะสมในการเรียนรู้ และยังมีแบบทดสอบพร้อมกับคำเฉลย พร้อมกับคำอธิบายที่ดีๆให้เด็กได้ฝึกทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ศ.วิลาศ วูวงศ์
ศ.วิลาศ ให้ข้อมูลถึงการทำงานของระบบห้องสมุด ว่า จะมีด้วยกัน 2 ระบบ คือ ระบบห้องสมุดดิจิทัล และระบบห้องสมุดธรรมดา โดยการทำงานของระบบจะเป็นในลักษณะห้องสมุดเครือข่ายครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ซึ่งจะสามารถติดต่อกับห้องสมุดในต่างประเทศได้ด้วย สำหรับการนำระบบทั้ง 2 ระบบมารวมเข้าด้วยกัน ก็เพราะว่านักเรียนคนใดที่สนใจในการเรียนรู้ในระดับที่สูงกว่าที่เรียนอยู่นั้นก็สามารถที่จะเข้ามาเรียนรู้ได้เช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนที่เรียนอยู่ในมัธยมศึกษาปีที่ 4 แต่อยากจะทราบว่าเนื้อหาในระดับปริญญาตรีเป็นอย่างไรก็สามารถที่จะเข้าเรียนรู้ได้ หรือมีหนังสือเล่มใดที่น่าสนใจ แต่หนังสือนั้นเล่มนั้นอยู่ต่างจังหวัดก็สามารถที่จะสั่งจองและมีบริการจัดส่งทางไปรษณีย์มาให้อ่านได้ถึงที่ แต่ในการยืมนั้นนั้นจะต้องมีการทำข้อตกลงว่า ยืมได้กี่วัน หากหนังสือชำรุดจะต้องเสียค่าปรับเท่าไร

ดังนั้น โรงเรียนใดที่มีตำราในการเรียนที่ดี หรือนักเรียนคนไหนสามารถที่จะเขียนบทความที่เกี่ยวกับการเรียนได้ ก็สามารถที่จะนำมาใส่ในห้องสมุดดิจิทัล ในลักษณะหนังสืออิเลกทรอนิกส์ (E-BOOK) หรือ Facebook เพื่อให้ครู อาจารย์และนักเรียนโรงเรียนอื่นๆ เข้ามาดูและเรียนรู้ได้ เพราะความรู้เป็นสิ่งที่ควรจะแบ่งกันเรียนรู้ แต่ทั้งนี้ ต้องมีการทำข้อตกลงเพื่อให้ระบบการสืบค้นและการจัดเก็บข้อมูลเป็นมาตราเดียวกัน โดยจะกำหนดชื่อผู้แต่งวันเดือนปีที่เขียน เลขรหัสหนังสือไว้ เพราะถ้าหากไม่มีการทำให้เป็นมาตราฐานเดียวกันจะไม่สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ ซึ่งห้องสมุดในรูปแบบใหม่นี้เปรียบเสมือนกับห้องเรียนรวมอีกแห่งหนึ่งที่นักเรียนทั่วประเทศสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้

นอกจากนี้แล้ว ประชาชนที่สนใจยังสามารถที่จะเข้าไปเรียนรู้ได้เนื่องจากโปรแกรมที่ใช้งานเป็นโปรแกรมที่เป็นอิสระ รวมทั้งยังใช้งานในรูปแบบภาษาไทยได้ด้วย ในขณะเดียวกันโรงเรียนใด หรือมหาวิทยาลัยที่สนใจก็สามารถที่จะนำโปรแกรมดังกล่าวไปใช้ได้เช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น