“ธงทอง” ยันปฏิรูปการศึกษา 9 ปีที่ผ่านมา ไม่เหลว หลายเรื่องยังต้องเดินหน้าต่อ ฟิตจัดรับเป็นเจ้าภาพฟังความเห็นปฏิรูปการศึกษารอบสอง โดยจะเน้นไปที่เรื่องคุณภาพภาพการศึกษาเป็นหลัก เพราะครั้งแรกเสียเวลากับการปรับโครงสร้างไปเยอะ ตั้งเป้า 6 เดือน รู้ผลปฏิรูปอะไรก่อนหลัง
รศ.ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า จากที่ตนร่วมประชุมกับ นายศรีเมือง เจริญศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหาร 5 องค์กรหลัก ซึ่งตนได้หยิบยกประเด็นเรื่องการปฏิรูปการศึกษารอบสองขึ้นมาหารือ โดยเห็นว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ควรเป็นแกนหลัก หรือเป็นเจ้าภาพในการรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายเพื่อปฏิรูปการศึกษารอบสอง ซึ่ง นายศรีเมือง และผู้บริหารทั้งหมดเห็นพ้องด้วย นอกจากนี้ ยังเห็นร่วมกันด้วยว่าการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมา 9 ปี มีหลายเรื่องที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และต้องเดินหน้าต่อไป ขณะเดียวกัน ก็มีบางเรื่องที่ยังติดขัดและต้องปรับปรุงแก้ไข ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษา 9 ปีที่ผ่านมาจึงไม่ได้ล้มเหลว แต่เป็นกระบวนการหนึ่งของการพัฒนาการศึกษาที่มีความก้าวหน้าไปเรื่อยๆ
“การปฏิรูปการศึกษารอบสองนี้ จะต้องมุ่งเน้นไปที่เรื่องเนื้อหาสาระ และคุณภาพการศึกษาเป็นสำคัญ เพราะการปฏิรูปการศึกษาครั้งแรกนั้น เราใช้เวลาไปกับการปรับโครงสร้างค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ จะปรับแก้โครงสร้างไม่ได้เลย เพราะหากจุดไหนมีปัญหาก็ต้องปรับปรุงแก้ไขให้เกิดประสิทธิภาพ เพียงแต่ต้องมีการพูดคุยกันถึงเหตุผลความจำเป็น และอยู่บนพื้นฐานของการรับฟังซึ่งกันและกัน เชื่อว่า ทุกอย่างจะเดินหน้าไปได้ แต่เรื่องคุณภาพของครูและนักเรียนจะต้องเป็นเรื่องหลักที่ต้องมาก่อน เพราะหลังได้รับตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษา มีผู้มาปรารภถึงเรื่องการศึกษากับผมเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนแสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องคุณภาพครู และนักเรียน” รศ.ธงทอง กล่าว
รศ.ธงทอง กล่าวอีกว่า สกศ.ตั้งเป้าว่า ภายในระยะเวลา 6 เดือนแรกจะวางแผนจัดลำดับความสำคัญเรื่องที่ต้องปฏิรูปการศึกษาก่อนหลัง โดยจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากบุคลากร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทุกภูมิภาค และ สกศ.จะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภายในและภายนอกกระทรวงศึกษาธิการมาร่วมกับขับเคลื่อน
เลขาธิการ กกศ.กล่าวอีกว่า ในปี 2552 สกศ.จะเน้นการดำเนินงาน 7 เรื่องใหญ่ ได้แก่ 1.การทำงานที่มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาทั้งจาก 5 องค์กรหลัก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันครอบครัว และองค์กรภาครัฐและเอกชน 2.การจัดระบบการศึกษาให้สอดคล้องและตอบสนองความต้องการของผู้เรียนที่มีความแตกต่างหลากหลายอย่างเหมาะสม 3.การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ 4.การส่งเสริมเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน 5.การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาในระบบการศึกษา 6.การทบทวนปรับแก้ และผลักดันกฎหมายการศึกษาหลายฉบับ และ 7.การให้ความสำคัญกับวิชาประวัติศาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่ง สกศ.มีครูต้นแบบจำนวนมากที่จะช่วยสอนวิชาประวัติศาสตร์