xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบครูเหนือ-อีสาน 1.5 พันคนบุก ศธ.จี้แก้ปัญหาวิทยฐานะ-จวก กบข. ยันไม่เกี่ยวการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ม็อบครูกว่า 1,500 คนบุกกระทรวงศึกษาธิการ ยื่น 9 ข้อจี้เยียวยาครูที่ไม่ผ่านการประเมินวิทยฐานะเร่งด่วน จวก กบข.ซัดทำครูเสียเปรียบมาก พร้อมเสนอตั้งทบวงการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขณะที่ครูขอเข้าเออร์ลีฯ พบครูป่วยจริงหลายรายไม่ได้รับการพิจารณาเข้าโครงการ

วันนี้ (21 ต.ค.) ที่หอประชุมคุรุสภา กลุ่มครูจากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง กว่า 1,500 คน ได้มารวมตัวกันพร้อมสวมเสื้อสีชมพูตามมติของสำนักงานเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูแห่งประเทศไทย (คอท.) ให้ทุกวันอังคาร สวมเสื้อสีชมพู สำหรับบรรยากาศในหอประชุมคุรุสภา มีครูมาร่วมตัวกันจนล้นห้องประชุม ครูที่เหลือกระจัดกระจายนั่งกันตามตึกต่างๆ บริเวณภายในกระทรวงศึกษาธิการ

ทั้งนี้ ครูได้นำป้ายผ้าที่มีข้อความว่า ทบวงการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ ความต้องการของเรา, กระจายอำนาจแบบจอมปลอม เผด็จการรูปแบบใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ, เอา สพฐ. คืนไป เอา สปช.คืนมา, กบข.ปล้นเงินเดือนครูเมื่อยามเกษียณ, กบข.แปลว่า โกงเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เป็นต้น

นายเพิ่ม หลวงแก้ว ประธานสหภาพครูแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูแห่งประเทศไทย (คอท.) พร้อมด้วยตัวแทนครูจะนำข้อเสนอ 9 ข้อเกี่ยวกับนโยบายการศึกษาเสนอต่อ นายศรีเมือง เจริญศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ดังนี้

1.ให้มีการปฏิรูปการศึกษา โดยให้ยึดการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ 2.ให้มีการจัดตั้งทบวงการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยยึดโครงสร้างของ สปช.เดิม 3.เร่งขยายการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี อย่างทั่วถึงและครอบคลุม 4.ให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคลอย่างแท้จริง 5.จัดสรรงบประมาณอาหารกลางวัน ให้ครบ 100% ให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ 6.เร่งรัดปรับปรุงกฎหมายที่คงค้างอยู่ ให้เกิดความเป็นธรรมและรวดเร็ว 7.แก้ปัญหาข้าราชการครูที่ขอเลื่อนวิทยฐานะ ที่ไม่ผ่านการประเมินตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด โดยให้มีการเยียวยาอย่างเร่งด่วน 8.แก้ไขปัญหาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ขอออกจากราชการตามโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด ให้ได้เกษียณจากราชการทุกคน และ 9.เสนอปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2540

ด้าน นายสนอง ทาหอม ประธาน ส.ค.ท.กล่าวว่า พวกเรามาในวันนี้เพื่อต้องการขอเรียกร้องให้ผู้บริหารคือ นายศรีเมือง เจริญศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) และคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ได้รับทราบข้อเรียกร้องของเรา อย่างเรื่องโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด (เออร์ลีรีไทร์) ขณะนี้มีครูได้รับการอนุมัติให้เข้าร่วมแล้วทั้ง 3ครั้งรวม 10,080 อัตรา โดยทาง ศธ. บอกว่าได้แก้ไขให้แล้วแต่ในความจริงขณะนี้ยังมีครูประมาณ 400 คนจาก 186 เขตพื้นที่การศึกษายังตกหล่นจากการพิจารณาในรอบล่าสุด ทั้งที่ครูยังได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้มีหลักฐานที่ระบุรับรองปัญหาความเจ็บป่วยอย่างชัดเจน แต่ไม่เข้าใจว่าเหตุใดคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาที่พิจารณาแล้ว จึงไม่ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พิจารณา

สิ่งที่น่าข้อสังเกตก็คือ มีครูที่มีประวัติเจ็บป่วยบางรายซึ่งแพทย์ได้ออกใบรับรองว่าป่วยจริงแต่ไม่ได้รับการเสนอชื่อเข้าโครงการเออร์ลีฯ ขณะที่มีครูบางรายซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมีประวัติการเจ็บป่วยหรือเข้ารับการรักษาแต่อย่างใด พอมีโครงการเออร์ลีฯ แพทย์ออกใบรับรองและมีรายชื่ออยู่ใน 3,077 คน จุดนี้ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่

นายสนอง กล่าวอีกว่า การมาครั้งนี้ พวกตนต้องการขอให้มีการพิจารณาปรับเกณฑ์ของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เพราะว่าปัจจุบันนี้ครูเสียเปรียบมากจากการเข้ากองทุนนี้ หากคิดตามเกณฑ์เดิมที่ว่า เงินบำเหน็จ จะคิดโดยนำเงินเดือนของเดือนสุดท้ายคูณด้วยเวลาราชการ ส่วนเงินบำนาญ (สูตรสมาชิก) จะคิดโดย นำเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย คูณด้วย เวลาราชการ หารด้วย 50 ทั้งนี้ในส่วนนี้มีเงื่อนไขว่า เงินเดือนเฉลี่ยของ 60 เดือนสุดต้องไม่เกินร้อยละ 70 ซึ่งหากเป็นไปตามนี้ ผู้ที่เข้ากองทุน กบข.จะเสียเปรียบมาก เมื่อมาคำนวณผลตอบแทนที่จะได้เมื่อเกษียณอายุราชการ หรือลาออก หรือตาย

สำหรับข้อเรียกร้องในการปรับเกณฑ์ใหม่นั้น เรื่องเงินบำนาญขอให้มีการปรับสูตรคำนวณ ในส่วนของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายนั้นจะต้องอยู่ที่ร้อยละ 90, นำอายุราชการทวีคูณมาใช้คำนวณบำเหน็จบำนาญให้ครบถ้วน,นำเงินของ กบข. มาลงทุนในสหกรณ์ออมทรัพย์ของครู หรือนำเงินมาลงทุนในกองทุนเปิดเพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาหนี้สินครู

ด้านอาจารย์จากจังหวัดพิจิตร รายหนึ่งบอกว่า ที่เดินทางมาวันนี้เพราะต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมในการประเมินวิทยฐานะ อย่างจังหวัดพิจิตร มีอาจารย์ส่งผลงานเพื่อประเมิน 60 คน ผ่านการประเมินเพียง 2 คน ซึ่งตนเป็นคนหนึ่งที่ไม่ผ่านการประเมิน เมื่อถามคณะกรรมการถึงเหตุผลที่ไม่ผ่าน คณะกรรมการ ตอบไม่เคลียร์ บอกแบบกำปั้นทุบดินว่าผลงานต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดโดยไม่อธิบายใดๆ ทั้งสิ้น ขณะที่ตนต้องการรู้ว่าจุดไหนที่บกพร่องจะได้นำมาปรับปรุงแก้ไข แล้วจะได้ยื่นกลับประเมินใหม่

“พฤติกรรมหลายอย่างของคณะกรรมการ จึงมีคำถามค้างคาใจว่าพวกเขามีความรู้ความสามารถเหมาะสมที่จะทำหน้าที่ประเมินรึเปล่า เพราะผู้ที่ให้คะแนน หรือประเมิน ต้องมีคำตอบหรืออธิบายได้ซิว่ามีจุดไหนที่มีปัญหา ตนรู้สึกเพื่อนครูภาคอีสานซึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า วงการประเมินวิทยฐานะไม่ได้โปร่งใสอย่างที่คิด มีขบวนการใต้โต๊ะให้คณะกรรมการด้วย ก็มาทบทวนเรื่องนี้ รึว่าจริงอย่างที่เพื่อนครูบอก”

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ครูที่มาร่วมชุมนุมวันนี้ได้ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นการเดินทางมาเพื่อเรียกร้องถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองระดับชาติแต่อย่างใด


เวลา 14.00 น. นายศรีเมือง เจริญศิริ รมว.ศธ. ได้เดินทางไปพบกลุ่มครูที่หอประชุมคุรุสภา กล่าวว่า เป็นเรื่องผิดปกติที่ครูไม่ผ่านการประเมินกันจำนวนมาก บางจังหวัดอย่างสกลนคร มีครูไม่ผ่านประเมินถึง 70 % หรือบางวิชามีครู เช่น คอมพิวเตอร์ ขอรับการประเมิน 40 คน แต่ผลงานไม่ผ่านการประเมินแม้แต่คนเดียว อย่างไรก็ตาม ตนจะให้ความยุติธรรม เพราะต้องการให้ครูมีวิทยฐานะที่ดี ทำหน้าสอนนักเรียนโดยมีจิตวิญญาณความเป็นครู

ส่วนการแก้ปัญหาผลงานไม่ผ่านการประเมินนั้น ให้เป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการที่ ก.ค.ศ.แต่งตั้งขึ้น โดยมีปลัด ศธ.เป็นประธาน และมีตัวแทนจากทุกหน่วยงานที่มีครูในสังกัดร่วมเป็นกรรมการ อนุกรรมการชุดนี้จะไปศึกษาปัญหาและทำข้อเสนอมาให้ ก.ค.ศ.พิจารณา เชื่อเร็ว ๆ คณะอนุกรรกการชุดนี้คงได้ประชุมกัน ยืนยันว่า จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายได้อย่างไร

สำหรับข้อเรียกร้องต่างๆ เช่นเรื่องการปฏิรูปการศึกษานั้น สภาการศึกษาประกาศแล้วว่าจะมีการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 หรือเรื่องการพัฒนาคุณภาพการศึกษา นโยบายด้านการศึกษา ข้อ 3 กำหนดชัดเจนว่าจะต้องมีการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ส่วนให้เพิ่มค่าอาหารกลางวันเป็น 100 % นั้น ศธ.ได้เสนอให้ปรับอัตรางบอาหารกลางวันจากหัวละ 10 บาท เป็น 13 บาท เพื่อให้คุณภาพอาหารกลางวันดีขึ้น ซึ่งครม.อนุมัติแล้ว หากต้องการให้เด็กทั้ง 100% ได้กินอาหารกลางวันนั้น จะต้องขึ้นอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย เพราะปัจจุบัน งบอาหารกลางวันและอีกหลายรายการกระจายอำนาจให้ อปท.ไปดำเนินการแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น