98 ปี กรมศิลป์เน้นพัฒนาคน-ทักษะภาษาสื่อสารนานาชาติ หนุนงานวิชาการและสร้างส่วนร่วมภาคสังคม วอนรัฐบาลอย่าลดอัตรากำลัง โดยเฉพาะงานช่างหวั่นไร้คนสีบทอด ศิลปะสูญหาย
วันนี้ (25 มี.ค.) นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวภายหลังเปิดนิทรรศการครบรอบ 98 ปี กรมศิลปากร ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ว่า กรมศิลปากรจะครบรอบ 98 ปีในวันที่ 27 มี.ค.นี้ ซึ่งการก้าวสู่ปีที่ 98 ตนมีนโยบายที่จะพัฒนากรมศิลปากร ใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1.พัฒนาบุคลากร ภายในให้มีศักยภาพ โดยเฉพาะการเสริมสร้างทักษะในเรื่องของภาษาอังกฤษ เนื่องจากกรมศิลปากรจะต้องทำงานร่วมกับนานาชาติ รวมถึงยูเนสโก จึงจำเป็นจะต้องมีทักษะภาษาในการสื่อสาร ในขณะเดียวกัน ตนอยากเห็นบุคคลากรของกรมศิลปากรไปยื่นอยู่บนเวทีนานาชาติ เพื่อทำหน้าที่แลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านศิลปวัฒนธรรมกับนานาชาติมากขึ้น
นายเกรียงไกรกล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่ 2 การสร้างให้บุคคลภายนอกเข้าใจคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม โดยจะมีการเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ เช่น การขุดค้นพบโบราณวัตถุ องค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์ งานวิจัยของนักวิชาการ เป็นต้น ให้ประชาชนได้เห็นคุณค่า ซึ่งการจัดงานครบรอบ 98 ปีครั้งนี้ กรมศิลปากรก็ได้นำผลงานของหน่วยงานภายใน เช่น สำนักโบราณคดี สำนักหอสมุดแห่งชาติ สำนักศิลปากร มาจัดนิทรรศการให้ประชาชนได้เรียนรู้การทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมด้วย และ3.การสร้างการมีส่วนร่วมดูแลศิลปวัฒนธรรมของทุกภาคส่วนทั้งภายในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ประชาชนในท้องถิ่น ภาคเอกชน ยูเนสโก เพราะตนเห็นว่า ศิลปวัฒนธรรมของชาติเป็นสมบัติของคนทุกคนที่จะต้องช่วยกันรักษา
“สิ่งสำคัญที่กรมศิลปากร กำลังเร่งดำเนินการแก้ไขในวาระก้าวย่างสู่ปีที่ 98 คือ ปัญหาบุคลากรไม่เพียงพอต่อการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เพราะในเดือนตุลาคมนี้ ก็จะมีข้าราชการเกษียณอายุราชการเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยกรมศิลปากร ได้มีแผนรองรับด้วยการขออัตรากำลังจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) การรับสมัครพนักงานราชการ รวมทั้ง ให้ข้าราชการที่เกษียณอายุราชการไปแล้วมาเป็นทีปรึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่บุคลากรรุ่นใหม่ ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาได้บ้าง แต่อยากจะร้องขอต่อรัฐบาลว่า อัตรากำลังด้านช่างฝีมือ ต้องมีทดแทนกัน เพราะงานช่างศิลป์ชั้นสูงเป็นงานเฉพาะที่ต้องถ่ายทอดกันรุ่นสู่รุ่น หากขาดตอนไม่มีคนก็จะไม่ได้รับการสืบทอด ศิลปะของชาติก็จะสูญหายไปในที่สุด”อธิบดีกรมศิลปากร กล่าว