“ธีระ” ชี้ 7 เรตติ้งไม่เหมาะสม ร้องศาลปกครอง คกก.กฤษฎีกา ได้ เหตุยังไม่ได้ประกาศใช้ ด้าน คกก.ภาพยนตร์แห่งชาติ ถกร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ปี 52-54 ให้เร่งทำประชาพิจารณ์ เสร็จภายใน มี.ค.นี้ หวังยกระดับไทยเป็นเขตปลอดภาพยนตร์และวิดีทัศน์ละเมิดลิขสิทธิ์
เมื่อวันที่19 ก.พ.ที่หอสมุดแห่งชาติ นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒธนธรรม (วธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวิดีทัศน์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2552 ว่า ตนได้รับมอบหมายจาก นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ให้มาเป็นประธานการประชุมครั้งนี้ ซึ่งตนได้แจ้งต่อที่ประชุมเกี่ยวกับเรื่องร่างกฎกระทรวงที่ผ่านการพิจารณาของ ครม.เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2552 ที่ผ่านมา เพราะขณะนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์ระดับความเหมาะสมของภาพยนตร์ หรือ เรตติ้ง อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะประเภทที่ 7 ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร ซึ่งห้ามมีเนื้อหาหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำลายความมั่นคงของประเทศ ก่อให้เกิดแตกความสามัคคี เหยียดหยามศาสนา ขัดต่อศีลธรรมและวัฒนธรรม ดังนั้น หากใครเห็นว่า การกำหนดเรตติ้งภาพยนตร์ทั้ง 7 ประเภท ควรมีการปรับแก้ไขอย่างไร สามารถเสนอผ่านไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือ ผ่านมายัง วธ.ก็ได้ เนื่องจากร่างกฎกระทรวงดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนประกาศใช้ ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการ ผู้ผลิตภาพยนตร์ เห็นว่า การพิจารณาภาพยนตร์ของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์มีความไม่เหมาะสม สามารถยื่นร้องต่อศาลปกครองได้
นายธีระ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาร่างยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ.2552-2554 ซึ่งมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ ได้บัญญัติให้คณะกรรมการภาพยนตร์ จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวิดีทัศน์ให้มีเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม โดยร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิต เผยแพร่ และจัดจำหน่ายภาพยนตร์และวิดีทัศน์ รายสำคัญของโลก รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ตลอดจนเป็นแหล่งผลิตพัฒนาบุคลากรด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวิดีทัศน์ที่มีคุณภาพ และเป็นเขตปลอดสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์และวิดีทัศน์เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติถึงการเป็นสังคมแห่งความโปร่งใส รวมทั้งมีพื้นที่เฉพาะ เพื่อพัฒนาให้เป็นเมืองภาพยนตร์และวิดีทัศน์
“ที่ประชุมมีมติว่า ร่างยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ควรให้คณะกรรมการภาพยนตร์ ศึกษาและมีการจัดทำประชาพิจารณ์ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม นี้ จากนั้น วธ.จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม การจัดทำร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้าน” รมว.วัฒนธรรม กล่าว