xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ตั้งเป้าทำคลองสวย น้ำใสใน 3 ปี ถวายในหลวง 84 พรรษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กทม.ตั้งเป้าทำคลองสวย น้ำใสใน 3 ปี ถวายในหลวง 84 พรรษา การันตีหน้าน้ำปีนี้รับมือได้แน่ ด้าน ผอ.สนน.เตือนหลังสงกรานต์ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่มากขึ้น

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับคณะผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ (สนน.) ที่ศาลาว่าการ กทม. 2 ดินแดง ว่า ในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งขณะนี้ทาง กทม.โดย สนน.ได้เตรียมการรับมือปัญหาน้ำท่วมไว้เรียบร้อยแล้ว และให้ประชาชนสามารถมั่นใจได้ว่าสามารถบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ในที่ประชุม สนน.ได้รายงานโครงการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ เพื่อป้องกันน้ำไหลจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำ มีแนวป้องกันน้ำท่วมที่จะต้องก่อสร้างยาว 77 กม.ก่อสร้างแล้วเสร็จ 70 กม.อยู่ระหว่างก่อสร้าง 7 กม.จะแล้วเสร็จปี 2553 โครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำเพื่อระบายน้ำฝนตกในพื้นที่ มีเครื่องสูบน้ำรวม 758 เครื่อง กำลังสูบ 1,531 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยมีสถานีสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา 126 แห่ง แบ่งเป็นพื้นที่ฝั่งพระนครสามารถระบายน้ำได้ 1,057 ลบ.ม.ต่อวินาที ฝั่งธนบุรีได้ 474 ลบ.ม.ต่อวินาที โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่เพื่อลำเลียงน้ำจากพื้นที่น้ำท่วมขังลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้เร็วยิ่งขึ้น โดยก่อสร้างแล้วเสร็จจำนวน 6 แห่ง อยู่ระหว่างก่อสร้าง 1 แห่ง จะแล้วเสร็จกลางปี 2552 และมีแผนจะก่อสร้างเพิ่มอีก 4 แห่งในปี 2552 -2555 โครงการจัดหาพื้นที่แก้มลิงซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 21 แห่ง รองรับน้ำได้ 12.75 ล้าน ลบ.ม.

ในปี 2552-2555 จะหาแก้มลิงเพิ่มเติมที่บึงมะขามเทศ และบึงสะแกงามสามเดือน เขตคลองสามวา และได้รับความร่วมมือจากบึงในหมู่บ้านเอกชน 4 แห่ง ในการลดระดับน้ำบึงในหมู่บ้านเพื่อใช้เป็นแก้มลิง ได้แก่ หมู่บ้านเมืองทอง หมู่บ้านเมืองทองการ์เด้น หมู่บ้านสัมมากร ซึ่งกทม.อยู่ระหว่างเสนอขอแก้ไขข้อกำหนดจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานคร เพื่อจัดให้มีพื้นที่ชะลอน้ำในหมู่บ้านจัดสรรที่สร้างใหม่ ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม กทม.ได้พัฒนาระบบเครื่องวัดระดับน้ำบนถนน โดยส่งข้อมูลผ่านคลื่นวิทยุ และสายเคเบิลใยแก้วนำแสง ทำให้ทราบข้อมูลปริมาณฝน ระดับน้ำ การเดินเครื่องสูบน้ำการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำ ระดับน้ำท่วมบนถนนสายสำคัญ พร้อมติดตั้งเรดาร์ตรวจกลุ่มฝน ณ ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมฝั่งธนบุรีเขตภาษีเจริญ สามารถตรวจวัดกลุ่มฝนที่ก่อตัวในรัศมี 60 กม.เพื่อใช้ในการติดตามแนวโน้ม ขนาด ทิศทางของกลุ่มฝน ทำให้สามารถคาดการณ์เกี่ยวกับฝนที่จะตกใน กทม.ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม

นอกจากนี้ ในส่วนของโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ด้านตะวันออกนอกคันกั้นน้ำ ในพื้นที่เขตหนองจอก คลองสามวา มีนบุรี และ ลาดกระบัง ได้ขยายแนวป้องกันน้ำท่วมจากแนวคันป้องกันเดิมตามพระราชดำริ ออกไปจนสุดเขตพื้นที่ กทม.โดยประสานงานกับกรมชลประทาน ในการก่อสร้างแนวป้องกันร่วมกันในพื้นที่ตอนบนบริเวณคลองหกวาสายล่าง โดยก่อสร้างทำนบชั่วคราว เพื่อชะลอน้ำ 6 แห่ง ที่ปากคลองสองสายใต้ คลอง 8-12 ส่วน กทม.สร้างแนวป้องกันตามแนวด้านตะวันออกตามแนวคลองแสนแสบ คลองนครเนื่องเขต และคลองหลวงแพ่ง โดยสร้างทำนบ จำนวน 11 แห่ง และขุดลอกคลองระบายน้ำหลักสายสำคัญจากเหนือลงใต้ จำนวน 67 คลอง เมื่อปี 2549-2550

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวอีกว่า ในระยะเวลา 3 ปีนับจากนี้ไปได้มอบให้ สนน.กำหนดแผนการ และดำเนินการปรับปรุงสภาพน้ำในแม่น้ำ ลำคลองต่างๆ ของ กทม.ให้ใสสะอาด เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา นอกจากนั้น ใน 3 ปีนี้จะต้องมีโรงบำบัดน้ำเสียเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 แห่งด้วย ทั้งนี้ กทม.มีโรงบำบัดน้ำเสียแล้วจำนวน 7 แห่ง สามารถบำบัดน้ำเสียได้ 40% จากปริมาณน้ำเสียทั้งหมด และหากสร้างได้ครบ 18 แห่งตามแผนแม่บทก็จะสามารถบำบัดน้ำเสียได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยจะใช้งบประมาณก่อสร้างโรงบำบัดนำเสียที่เหลืออีก 11 แห่งประมาณ 1 แสนล้านบาท

ด้านนายชาญชัย วิทูรปัญญกิจ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ สนน.รอให้คณะรัฐมนตรีอนุมติโครงการสร้างโรงบำบัดน้ำเสียคลองเตย มูลค่า 8,383 ล้านบาท เนื่องจากโครงการนี้รัฐบาลให้งบประมาณอุดหนุน 40% ที่เหลืออีก 60% เป็นงบประมาณของ กทม.ซึ่งได้เสนอผ่านไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้ว ทั้งนี้ หากอนุมัติโครงการจะสามารถเปิดประกวดราคาหาผู้รับเหมาก่อสร้างได้ภายใน 5 เดือน ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี โดยจะใช้รูปแบบ TURN KEY ที่ผู้รับเหมาจะต้องไปดำเนินการออกแบบ และก่อสร้างอาคาร แล้วเสร็จแต่เพียงผู้เดียว ทำให้การก่อสร้างเป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพราะผู้รับเหมาก่อสร้างมีอิสระในการออกแบบ แทนที่จะต้องรอการแก้ไขหรือ การอนุมัติจากผู้ออกแบบ อีกทั้งงบประมาณไม่บานปลาย เพราะผู้รับเหมาจะต้องควบคุมงบประมาณในการก่อสร้าง

ผอ.สนน.กล่าวด้วยว่า ส่วนการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมที่ปัจจุบันมีทั้งหมด 15 แห่ง โดยก่อนหน้านี้ กทม.สามารถแก้ไขได้จนเหลือ 12 แห่ง แต่กลับเกิดจุดอ่อนน้ำท่วมแห่งใหม่เพิ่มขึ้นอีก 3 แห่ง ได้แก่ บริเวณนิคมมักกะสัน เขตราชเทวี ถนนนวมินทร์ หน้าตลาดอินทรลักษณ์ เขตบางกะปิ และบริเวณแยกถนนพัฒนาการตัดถนนศรนครินทร์ อย่างไรก็ตาม กทม.สามารถทำเวลาระบายน้ำท่วมขังได้ดีขึ้นจาก 2 ชั่วโมงลดเหลือ 1.30 ชั่วโมง เป็นต้น ทั้งนี้ หลังเทศกาลสงกรานต์เป็นต้นไปจะเริ่มมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น และจะตกหนักมากสุดในเดือนกันยายน
กำลังโหลดความคิดเห็น