xs
xsm
sm
md
lg

แนะ สมศ.แบ่งกลุ่มครูให้ชัด เพื่อแก้ปัญหาแม่พิมพ์ไร้คุณภาพตรงจุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิชาการ แนะ สมศ.แยกเป็นกลุ่มให้ชัดเจนว่าครูไร้คุณภาพสอนอยู่ ร.ร.ยอดนิยม ในเมือง หรือต่างจังหวัด เพื่อการแก้ปัญหาที่ตรงจุด เผย เบ้าหลอมครูอ่อน ไม่มีแรงจูงใจให้คนเก่งมาเรียนครู เสนอคืนอัตราเกษียณ ส่งอาจารย์ดูงานต่างประเทศ

จากผลการประเมินมาตรฐานภายนอกสถานศึกษาของ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ในรอบสอง พบว่าการศึกษาไทยในทุกระดับตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยม อาชีวศึกษา จนถึงระดับอุดมศึกษา ประสบปัญหา คุณภาพครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ไร้คุณภาพนั้น

นายวรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แสดงความเห็นว่า โรงเรียนบ้านเรามีความหลากหลายคุณภาพ เพราะฉะนั้น สมศ.จะต้องลงลึกในรายละเอียด แยกเป็นหมวดเป็นกลุ่ม โรงเรียนยอดนิยม โรงเรียนในเมือง โรงเรียนต่างจังหวัด โรงเรียนเอกชน และโรงเรียนไอซียู คือไม่อยากให้พูดภาพรวมๆ อยากให้มีความชัดเจน หน่วยงานที่รับผิดชอบจะได้เร่งเข้าไปแก้ไขให้ตรงจุด

ทุกวันนี้กระทรวงพยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยเฉพาะครูที่จบไม่ตรงวุฒิ อย่างเช่น ให้ครูสังคมไปสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ครูพลศึกษา ไปสอนคณิตศาสตร์ ถามว่าสอนได้มั้ย สอนได้ แต่คงไม่ดีเท่าผู้ที่จบสายตรง นอกจากครูท่านนั้นขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมแล้วนำมาสอนลูกศิษย์

“ศธ.จัดอบรมครูที่สอนไม่ตรงสาย เพื่อยกระดับความรู้แล้วนำไปถ่ายทอดให้นักเรียน ยิ่งครูคนไหนมีความใส่ใจเก็บข้อมูลช่วงที่อบรม รวมถึงหาข้อมูลจากเว็บไซต์ และนำมาบูรณาการ ก็เป็นครูคุณภาพได้อย่างแน่นอน”

นายวรากรณ์ ยังกล่าวด้วยว่า การที่ครูผู้สอนมีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพ มันสะท้อนถึงสถาบันที่ผลิตด้วย แต่จะไปโทษสถาบันก็ไม่ได้ เพราะวันนี้ไม่มีแรงจูงใจให้คนเก่งมาเรียนครู ถ้าได้คนเก่งมาสอนเด็ก เด็กจะเก่ง เฉลียวฉลาดตามไปด้วย ที่ผ่านมายังไม่มีนโยบายแบบชัดๆ เพื่อจูงใจให้คนเก่งมาเรียน แต่เร็วๆ นี้ จะมีสถาบันกำหนดมาตรฐานการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยจะมีหน้าที่ดูแลการผลิตครูทั่วประเทศ เหมือนเป็นตัวกลางคอยประสานมหาวิทยาลัยแห่งไหน ผลิตครูสาขาไหนบ้าง จำนวนเท่าไหร่ จะเน้นให้ผลิตครูสาขาขาดแคลน เพื่อบัณฑิตย์เรียนจบมาแล้วไม่ต้องแตะฝุ่นหรือไปประกอบอาชีพอื่นเหมือนวันนี้

ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และอดีตอธิการบดีคณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า ช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ผู้ที่มาเรียนวิชาชีพครูจะมีความรู้ระดับกลาง ระดับหัวกะทิ มักจะเลือกเรียนแพทย์ วิศวะ วิทยาศาสตร์ ประกอบกับการทำวิทยฐานะของครูทำให้การเตรียมการสอนลดลง สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบกับนักเรียน

“ศธ.มีโครงการคุรุทายาท ครูพันธุ์ใหม่ แต่มักจะเป็นโครงการสั้นๆ ไม่ค่อยต่อเนื่อง จึงไม่จูงใจให้คนเก่งมาเรียนครูมากนัก เพราะคนเก่งเขาไปเรียนสาขาอื่นแล้วทำงานเอกชน ธุรกิจส่วนตัวได้เงินเยอะกว่า ถ้าต้องการคนเก่งมาเรียนครูคงต้องมาทบทวนเรื่องตำแหน่ง เงินเดือน ตรงนี้น่าจะจูงใจให้คนเก่งมาเรียน”

เมื่อถามว่า คุณภาพครูลดลง ตรงนี้สะท้อนถึงสถาบันที่ผลิตหรือไม่ ศ.ดร.ไพฑูรย์ กล่าวว่า น่าจะมีส่วน เพราะหลายปีมานี้อาจารย์เก่งๆ ทยอยเกษียณแล้วมหาวิทยาลัยไม่ค่อยคืนอัตราเกษียณ ควรมีการคืนอัตราเกษียณบ้าง ซึ่งต่างจากคณะวิทยาศาสตร์ วิศวะ จะคืนให้เกือบหมด อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ครูสอนครูมีคุณภาพ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ต้องเปิดโอกาสให้ไปหาประสบการณ์ยังต่างประเทศ เนื่องจากอาจารย์ใหม่ส่วนมากจะจบในเมืองไทย เพราะฉะนั้น ถ้าหากเป้าหลอมอ่อน จะต้องพัฒนาให้เข้มแข็ง เพื่อผลิตคนเก่งต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น