xs
xsm
sm
md
lg

สธ.สรุปห้ามขายเหล้า 12-14 เม.ย.ปล่อยผี! ร้านอาหาร ผับ บาร์ โรงแรมให้ขายได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เปิดช่องห้ามขายเหล้า 3 วัน 12-14 เม.ย.ยกเว้นร้านอาหาร ผับ บาร์ โรงแรม ขายได้หลัง 6 โมงเย็น-เที่ยงคืน ส่วนร้านขายของชำ สะดวกซื้อ ห้างฯ ห้าม 24 ชม. “วิทยา” พ้อเสียใจหากภาคประชาชนมองว่าเข้าข้างบริษัทเหล้า เครือข่ายรณรงค์งดเหล้าเตรียมเคลื่อนไหวไม่เห็นด้วย วัดใจ “สนั่น” ด้าน “อ.ปริญญา” นำคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเหล้ารอบมหาวิทยาลัย จี้ สธ.บังคับใช้กฎหมายจริงจัง หลังพบฝ่าฝืนอื้อแต่ไม่ดำเนินการตามกฎหมาย

เมื่อเวลา 14.30 น.วันที่ 11 มีนาคม ที่รัฐสภา นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นประธานในการประชุมคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับมาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยใช้เวลาประชุมนานประมาณ 2 ชั่วโมง

นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเสนอแนวทางการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2 แนวทาง คือ 1.ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 12-14 เมษายน ตลอด 24 ชั่วโมง และ 2.ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 12-14 เมษายน แต่ยกเว้นให้ร้านอาหาร ผับ บาร์ โรงแรม ที่มีใบอนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของกรมสรรพสามิต สามารถจำหน่ายได้ตั้งแต่เวลา 18.00-24.00 น.ส่วนร้านค้าทั่วไป ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า ไม่อนุญาตให้ขายในช่วง 3 วันดังกล่าว ทั้งนี้ สธ.จะทำหนังสือรายงานมติดังกล่าวให้คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ รับทราบต่อไป

“สธ.ได้พิจารณาอย่างรอบคอบทุกด้านแล้ว ซึ่งข้อยกเว้นให้ร้านอาหาร ผับ บาร์ โรงแรม เป็นไปตามที่ได้มีกลุ่มผู้ประกอบการร้องเรียนมา หากห้ามขายเหล้า เบียร์ ตลอดทั้งวัน จะกระทบกับการท่องเที่ยวและธุรกิจอย่างมาก ดังนั้น จึงผ่อนปรนให้ขายได้ในช่วงเวลากลางคืนเท่านั้น และต่อไป สธ.จะไม่มีการประชุม หรือหารือเรื่องนี้อีก ส่วนขั้นตอนต่อไป เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายฯ จะเป็นผู้ตัดสินใจเป็นครั้งสุดท้ายว่าจะเลือกแนวทางใด ซึ่งอาจจะเลือกแนวทางแรกห้ามขายตลอด 24 ชั่วโมง หรือแนวทางที่ 2 ก็ได้” นายมานิต กล่าว

ด้าน นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ยืนยันว่า สธ.มีจุดยืนหลักในการรักษาชีวิตทุกชีวิตโดยการไม่เพิ่มผู้ป่วยจากอุบัติเหตุในช่วงเทศกาล ไม่ได้อยู่บนฐานของผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ประกอบการร้านค้า และไม่ได้อยู่บนฐานของฝ่ายคัดค้านการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเพียงมาตรการหนึ่งในในความพยายามลดการเกิดอุบัติเหตุเท่านั้น จึงจำเป็นต้องใช้หลายมาตรการร่วมกันในหลายหน่วยงานไม่ใช่ สธ.เพียงหน่วยงานเดียว

“ไม่มีใครแพ้ใครชนะ และคงไม่มีใครที่ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการหมดทุกอย่าง เพราะทุกคนต้องอยู่บนฐานของความจริง ดังนั้น จะรู้สึกเสียใจมากหากฝ่ายคัดค้านการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มองว่า รมว.สาธารณสุข เข้าข้างบริษัทขายเหล้า”นายวิทยา กล่าว

ด้านนายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า รับไม่ได้ที่ สธ.จะเปิดช่องลักษณะนี้ เพราะ สธ.เป็นหน่วยงานที่ต้องปกป้องสุขภาพของประชาชน แต่กลับคำนึงถึงผลประโยชน์ของฝ่ายธุรกิจ เชื่อว่า เมื่อแนวทางดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายฯที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และล่าสุดทราบว่ามีพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯเป็นประธาน จะถูกตัดทอนไปอีก เพราะหลังจากนี้ก็จะมีกลุ่มธุรกิจที่ห้ามไม่ให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เลย อาทิ ร้านโชวห่วย ร้านสะดวกซื้อ ก็จะมาเรียกร้องผลประโยชน์ของตัวเอง เหมือนไม่มีมาตรการใดๆ เลย แต่หากถูกลดทอนในชั้นคณะกรรมการนโยบายฯก็ไม่เสียใจเท่ากับ ที่ สธ.เปิดช่องทั้งที่ควรทำหน้าที่ปกป้องสุขภาพประชาชนทำเช่นนี้

“ภายในสัปดาห์นี้เครือข่ายจะหารือใหญ่ในการเคลื่อนไหวต่อไป โดยคาดว่า ภายในสัปดาห์หน้าจะแสดงพลังครั้งใหญ่เดินทงไปพบ พล.ต.สนั่น เพื่อขอความชัดเจนในเรื่องนี้ โดยผู้ที่จะไปเรียกร้องจะเป็นญาติของผู้สูญเสีย เป็นผู้พิการที่เกิดจากพิษน้ำเมามาเรียกร้องเรื่องความเป็นความตาย ซึ่งแตกต่างจากภาพของคนปกติที่ไปเรียกร้องเพื่อผลประโยชน์เม็ดเงินกำไรจากการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างมาก ซึ่งก็วัดใจกันว่ารัฐบาลชุดนี้จะเป็นอย่างไร” นายคำรณ กล่าว

วันเดียวกัน นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล ประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหากาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และรองอธิบดีฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อม 6 สถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลับเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เข้ายื่นหนังสือ นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข เรื่อง ขอให้บังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 3 ข้อ ดังนี้ 1.ขอให้บังคับใช้กฎหมายและดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ฝ่าฝืนอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะมาตรา 29 การห้ามจำหน่ายแก่ผู้อายุต่ำกว่า 20 ปี บริบูรณ์ ซึ่งในทางปฏิบัติไม่มีการดำเนินการตามมาตรการนี้เลย ร้านค้ายังคงขายเหล้าให้กับเด็กที่ยังมีอายุไม่ถึง 20 ปี โดยไม่มีการขอดูบัตรประชาชนแต่อย่างใด

นายปริญญา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในมาตรา 30 ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการลดราคาเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขาย ซึ่งมีโทษตามมาตรา 41 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่กลับพบว่าร้านเหล้าแทบทุกร้านยังคงใช้วิธีการขายที่มีโปรโมชันลดราคา แถมโซดาน้ำแข็ง รวมถึงร้านสะดวกซื้อยังมีการขายเหล้าโดยการลดราคา โดยไม่มีการควบคุมหรือการจับกุมแต่อย่างใด ส่วนมาตรา 27 (4) ห้ามมิให้มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณหอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก แต่สภาพการณ์ขณะนี้หอพักแทบทุกแห่งมีร้านสะดวกซื้อที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขายและมักมีผับหรือร้านอาหารที่ขายเหล้า โดยไม่มีการดำเนินการตามกฎหมายแต่อย่างใด

“คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรประชาสัมพันธ์ให้ผู้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งที่เป็นร้านขายเหล้า สถานบริการ ร้านอาหารร้านค้าขายปลีก ร้านสะดวกซื้อรวมถึงการขายรูปแบบอื่นๆ ได้ทราบถึงข้อห้ามต่างๆ ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้และให้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ฝ่าฝืนอย่างเคร่งครัด” นายปริญญา กล่าว

2.ขอให้กระทรวงสาธารณสุขประสานงานกับกระทรวงการคลังและกรมสรรพสามิต ที่เป็นผู้ออกใบอนุญาตจำหน่ายสุรา เพราะจนถึงขณะนี้กรมสรรพสามิตรยังคงออกใบอนุญาตจำหน่ายสุราแก่สถานที่ต้องห้ามจำหน่ายตามมาตรา 27 และผู้ขายสุราที่ฝ่าฝืนมาตรา 30 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากกรมสรรพสามิตยังคงยึดถือปฏิบัติเฉพาะแต่ตามกฎกระทรวงว่าด้วยข้อกำหนดเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตขายสุราและการขายสุราฯ พ.ศ.2548 ข้อ 2.ที่ห้ามออกใบอนุญาตขายสุราเฉพาะสถานที่ 3 แห่ง คือ สถานศึกษา, ศาสนสถานและสถานบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเท่านั้น แต่ขณะนี้ที่มีปัญหามากที่สุด คือ การออกใบอนุญาตจำหน่ายสุราในบริเวณหอพักเอกชนรอบๆ สถานศึกษา ซึ่งเป็นสถานที่ห้ามจำหน่ายตามมาตรา 27(4) และการออกใบอนุญาตจำหน่ายสุราให้กับรถเข็น แผงลอยที่โยกย้ายไปมาได้ ซึ่งเข้าข่ายการเร่ขายที่ต้องห้ามตามมาตรา 30(2)

นายปริญญา กล่าวว่า ข้อที่ 3.ขอให้ออกประกาศกำหนดเขต 500 เมตร จากสถานศึกษาเป็นสถานที่ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยอาจผ่อนปรนให้เฉพาะผู้มี่ขายอยู่แล้วที่ไม่เคยมีการละเมิดกฎหมายเท่านั้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีสามารถออกประกาศได้ นอกจากนี้ ควรประกาศห้ามขายเหล้าปั่นที่กำลังระบาดอย่างมากรอบๆ สถานศึกษา รวมถึงห้ามการขายโดยรถเข็นและแผลลอยให้ชัดเจนด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น