"คุณหญิงกษมา" นำคณะตรวจเยี่ยมการสอบรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อชั้น ม.1 ประจำปีการศึกษา 2552 แนะเด็กที่พลาดการสอบ ประสานงานกับศูนย์ประสานงานการรับนักเรียนในสำนักงานการศึกษาเขตพื้นที่ ซึ่งมีอยู่ 11 ศูนย์ มั่นใจปีนี้ไม่มีปัญหานักเรียนไม่มีที่เรียน ด้านบรรยากาศโรงเรียนดังเด็กแห่สอบ-ผู้ปกครองมาให้กำลังใจเพียบ
วันนี้(21 มี.ค.) คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เดินทางมาตรวจการสอบเข้าศึกษาต่อในปีการศึกษา 2552 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โดยมีนายมนตรี แสนวิเศษ ผู้อำนวยการโรงเรียนฯ คอยให้การต้อนรับ ซึ่งบรรยากาศมีบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองมานั่งรอเป็นกำลังใจให้กับบุตรหลานที่เข้าสอบ และบางรายนำดอกไม้ไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำโรงเรียน
คุณหญิงกษมา กล่าวว่า ภาพรวมของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนชายที่มีการแข่งขันสูงที่สุดโรงเรียนหนึ่งของประเทศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยการสอบของเด็กที่อยู่ในพื้นที่มีอัตราการแข่งขันประมาณ 1 ต่อ 1.15 และนอกพื้นที่ อัตราการแข่งขัน 1 ต่อ 12 ด้านผู้ปกครองให้ความร่วมมือดี และเด็กก็ไม่เครียด ส่วนข้อสอบเป็นข้อสอบในเนื้อหาสาระที่เด็กได้เรียนมา คือ วิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคมศึกษา และจะมีการประกาศผลในวันที่ 24 มีนาคมนี้
“การประกาศผลเพื่อความโปร่งใส โรงเรียนจะแสดงให้เห็นว่าเด็กที่ได้รับการคัดเลือกจะมีคะแนนไล่ลำดับกันมาอย่างไร ขณะเดียวกันทางสำนักงานการศึกษาเขตพื้นที่ ก็ได้ประกาศจุดประสานงาน 11 จุด เพื่อให้ผู้ปกครองได้ทราบล่วงหน้า และสามารถดูได้ในวันนี้เลย ถ้าเด็กไม่สามารถเข้าได้ก็จะมีที่รองรับ ซึ่งปีนี้ในภาพรวมยังมีที่เหลืออีกมาก โดยเฉพาะใน กทม.1 ไม่น่ามีปัญหา มีโรงเรียนที่มีคุณภาพดีพร้อมจะรองรับเด็กๆ อีกเยอะ และสำหรับการสอบวันนี้ มีกฎระเบียบ เหมือนการสอบทั่วไป ไม่ให้นำมือถือเข้าห้องสอบ แต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องของการทุจริต เพราะเด็กต่างมีระเบียบวินัยและอยู่ในวัยที่ยังเชื่อฟังอยู่” คุณหญิงกษมา กล่าว
เมื่อถามว่าการนำคะแนนโอเน็ตมาใช้สำหรับการสอบรับนักเรียนเข้า ม.1 และ ม.4 คุณหญิงกษมา กล่าวว่า ทราบว่ามีโรงเรียนจำนวนหนึ่งที่สนใจ แต่คงต้องคุยกันตั้งแต่ต้นปี ถ้าจะนำคะแนนโอเน็ตมาใช้ ซึ่งมีข้อดีหลายประการ จะได้เป็นมาตรฐานเดียวกันแต่การควบคุมการสอบจะต้องเข้มงวดกว่าที่ผ่านมามาก ฉะนั้น อาจจะต้องแยกระหว่างเด็กที่ต้องการนำคะแนนนี้มาใช้กับเด็กทั่วไปและควบคุมการสอบให้ดียิ่งขึ้น เพราะขณะนี้การสอบโอเน็ตของเราไม่ได้นำคะแนนมาใช้ ฉะนั้น หากมีความบกพร่องไปบ้าง ก็ถือว่าไม่มีใครเรียกร้องเรื่องของความโปร่งใส ความเป็นธรรม ก็เป็นเพียงการประเมินมาตรฐาน ถ้านำมาใช้ก็จะทำให้เด็กกระตือรือร้นและพยายามสอบให้ดีขึ้น ซึ่งตรงนั้นเป็นข้อดีแต่ต้องมีมาตรการ เพราะปีหนึ่งเคยทำเช่นนี้และค่อนข้างมีปัญหาเรื่องการร้องเรียน บางครั้งข้อสอบไม่ได้รั่วแต่คนที่ได้คะแนนไม่ดี ก็จะเรียกร้องว่าข้อสอบรั่วซึ่งก็ทำให้เดือดร้อนมาก ฉะนั้น ยังไม่ค่อยฟันธง ต้องดูว่ามีมาตรการควบคุมให้ดีอย่างไร
นายมนตรี แสนวิเศษ ผอ.โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กล่าวว่า ปีนี้มีเด็กสมัครสอบเข้าเพิ่มขึ้น โดยเป็นการสมัครทั่วไป จำนวน 1,350 คน รับได้เพียง 114 คน หรืออัตรา 1 ต่อ 12 ส่วนในเขตพื้นที่ สมัคร 188 คน รับได้ 120 คน หรืออัตราแข่งขัน 1 ต่อ 1.16 และยังมีห้องเรียนพิเศษ 4 ห้อง ห้องละ 36 คน และอีก 6 ห้อง ห้องละ 40 คน รวมนักกีฬาอีก 6 คน สำหรับการสอบวันนี้ นอกจากการห้ามนำโทรศัพท์มือถือเข้าห้องสอบ ยังมีลูกเสือจากนักเรียนกองร้อยพิเศษมาคอยประจำตามจุด เพื่อดูแลเพื่อนนักเรียนไม่ให้ทุจริตการสอบ และหากนักเรียนคนใดต้องการเข้าห้องน้ำก็จะพาไป หากพบการทุจริตก็จะปรับตก ซึ่งเพียงวิชาเดียวก็ไม่สามารถสอบได้แล้ว โดยในส่วนของเด็กที่พลาดไม่สามารถสอบเข้าได้ ขอให้แจ้งไปทางศูนย์ประสานงานการรับนักเรียน สำนักงานการศึกษาเขตพื้นที่ที่ 1 (สพท.กทม.1) สำหรับกรณีการนำคะแนนโอเน็ตมาใช้นั้น ไม่มีปัญหา หากเป็นนโยบายทางโรงเรียนพร้อมปฏิบัติตาม
จากนั้น คุณหญิงกษมา พร้อมคณะได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมบรรยากาศการสอบที่โรงเรียนเบญจมราชาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ต่อ โดยที่โรงเรียนแห่งนี้ สามารถรับนักเรียน ชั้น ม.1 ในเขตพื้นที่ ได้ 160 คน และชั้น ม.1 ทั่วไป 160 คน ซึ่งบรรยากาศก็ไม่แตกต่างกันมีผู้ปกครองมารอให้กำลังใจอย่างคึกคัก
ด้านนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีการเรียนการสอน สพฐ. ได้ตรวจเยี่ยมการจัดสอบของโรงเรียนบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) และโรงเรียนบางกะปิ ซึ่งเป็นโรงเรียนในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา กรุงเทพมหานคร เขตที่ 2 โดยเป็นเขตที่มีนักเรียนสมัครสอบมากที่สุด
นายอมรรัตน์ ปิ่นเงิน ผู้อำนวยการโรงเรียนบดินทร์เดชา กล่าวว่า สำหรับโรงเรียนบดินทร์ฯ สามารถรับนักเรียนชั้น ม.1 ได้จำนวน 552 คน รับเด็กห้องพิเศษไปแล้ว 72 คน ที่เหลือรับด้วยวิธีสอบและจับสลาก ขอให้ผู้ปกครองมั่นใจได้ว่าระบบมีความโปร่งใส และเชื่อว่า สพฐ.จะสามารถเกลี่ยเด็กทุกคนไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ให้มีที่เรียนได้แน่นอน ในส่วนของโรงเรียนบดินทร์ฯ มีผู้สมัครสอบ 1,641 คน พบว่าขาดสอบไปกว่า 100 คน เพราะเด็กสามารถสมัครได้หลายโรงเรียน ทำให้มีจำนวนผู้ขาดสอบค่อนข้างมาก สำหรับมาตรการป้องกันการทุจริตการสอบ ได้มีข้อห้ามนำโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารเข้าในห้องสอบ ซึ่งในระดับสอบเข้าม.1ยังไม่มีการทุจริตแต่ถือเป็นการฝึกเด็กไม่ให้นำเครื่องมือสื่อสารเข้าห้องสอบ
นายอมรรัตน์ กล่าวอีกว่า ภาพรวมการสมัครสอบ ม.1 ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีผู้สมัครประมาณ 85,000 คน รับได้ 47,000 คน ยังไม่รวมโรงเรียนเอกชน โรงเรียนขยายโอกาส และโรงเรียนสาธิต ท้ายที่สุด เกลี่ยแล้วเด็กทุกคนจะมีที่เรียน อย่างไรก็ตาม โรงเรียนบดินทร์ฯ เป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนเรียนมากเป็นอันดับ 2 รองจากโรงเรียนสตรีวิทยา 2
ผอ.ร.ร.บดินทร์ฯ ยังกล่าวถึงการแจกจ่ายเงินสนับสนุนค่าเครื่องแบบนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนจากรัฐบาลตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ว่า สพฐ.มีปฏิทินการดำเนินการ และได้จัดตารางไว้คร่าวๆ ซึ่งเมื่อวานนี้ (20 มี.ค.) เมื่องบประมาณกระจายไปถึงโรงเรียนแล้ว หลายโรงเรียนได้นัดผู้ปกครองเด็กมารับเงินไปแล้ว ในส่วนของโรงเรียนบดินทร์ฯ มีนักเรียนรับเงินไปแล้ว ร้อยละ 60 ซึ่งเท่า ๆ กับโรงเรียนอื่น ๆ ในกรุงเทพฯ มีโรงเรียนในต่างจังหวัดที่เด็กยังมารับเงินไม่ครบ เพราะอยู่ในช่วงปิดภาคเรียน โดยโรงเรียนได้ย้ำให้นำหลักฐานมาให้โรงเรียน หากไม่อยากให้เป็นภาระของครูที่ต้องดูแลเรื่องใบเสร็จ ก็ขอให้นำใบเสร็จมาให้ตามที่โรงเรียนกำหนด เพื่อครูจะได้ไปทำงานวิชาการ