xs
xsm
sm
md
lg

DSI แกะรอยล่าแก๊งโกงสอบเข้ากรมราชทัณฑ์

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


กรมสอบสอบสวนคดีพิเศษ แกะรอบล่าแก๊งโกงข้อสอบบรรจุเข้าเป็นเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ ทำกันเป็นขบวนการตั้งแต่เริ่มสมัครสอบทางอินเทอร์เน็ต จ้างพวกหัวกะทิมาทำข้อสอบในห้องสอบ ก่อนส่งซิกคำตอบให้ลูกค้า แฉต้องจ่ายแพงตั้งแต่ 1-3 แสนบาท แถมทำกันมายาวนานนับ 10 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (22 ก.ค.) พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้เดินทางลงพื้นที่ อบต.ราษฎร์นิยม อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี เพื่อตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวเจ้าหน้าที่ อบต.คนหนึ่ง ซึ่งอยู่ในข่ายร่วมการทุจริตสอบแข่งขันเข้ารับราชการกรมราชทัณฑ์ หลังจากกกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับการร้องเรียนจากผู้สมัครสอบว่ามีขบวนการทุจริตการสอบแข่งขันเป็นข้าราชการระดับ 2 กรมราชทัณฑ์ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.เมือง จ.นนทบุรี

ต่อมานายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้สั่งการให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ สืบสวนสอบสวนขบวนการโกงการสอบเข้ารับราชการในหน่วยงานราชการทั้งท้องถิ่นและส่วนกลาง ทาง พ.ต.อ.ดุษฎี อารยะวุฒิ ผู้บัญชาการสำนักเทคโนโลยีข้อมูลและการตรวจสอบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงตั้งชุดสืบสวนสอบสวนขึ้นมาเกาะติดจนสามารถสืบสวนพบขนวนการเฉลยข้อสอบในห้องสอบและส่งสัญญาณด้วยวิธีต่างๆ ให้ผู้เข้าสอบทำข้อสอบ ซึ่งขบวนการดังกล่าวได้แฝงอยู่ในเครือข่ายรับติวข้อสอบและใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการช่วยสมัครสอบ โดยได้ว่าจ้างผู้ที่มีการศึกษาชั้นสูงจบการศึกษาระดับปริญญาโทจากสถาบันชื่อดังของเมืองไทย และประวัติการเรียนได้รับเกียรตินิยม เป็นคนเข้าไปดำเนินการเฉลยข้อสอบ

พ.ต.อ.ดุษฎี อารยะวุฒิ ผู้บัญชาการสำนักเทคโนโลยีข้อมูลและการตรวจสอบ ดีเอสไอ เปิดเผยว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สั่งการให้กำลังเจ้าหน้าที่ดีเอสไอประสานเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ เพื่อติดตั้งเครื่องมือการตรวจสอบและแกะรอยการสมัครสอบข้าราชการกรมราชทัณฑ์ดังกล่าว ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบข้อมูลการกรอกใบสมัครทางอินเทอร์เน็ตของผู้สมัคร กระทั่งพบว่าข้อมูลของผู้สมัครสอบแข่งขัน จำนวน 122 คน มีลักษณะพิรุธ คือจะสมัครในร้านอินเทอร์เน็ตแห่งเดียวกัน ในช่วงเวลาเดียวกันคือ ประมาณ 02.00-04.00 น.ของวันที่ 29-30 พ.ค. 2551 โดยเชื่อว่า เป็นการหลีกเลี่ยงผู้สมัครอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง และต้องการให้ผู้สมัครสอบร่วมกลุ่มดังกล่าวมีเลขที่นั่งสอบใกล้กัน และจะสะดวกในการส่งซิกเฉลยข้อสอบ

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่า วันที่ 29 พ.ค.มีผู้เข้าไปสมัครสอบในเวลาดังกล่าว จำนวน 65 คน ใช้เวลาในการสมัครสอบเพียง 12 นาที ส่วนในวันที่ 30 พ.ค.2551 มีผู้สมัครสอบจำนวน 57 คน และผู้รับจ้างสอบอีกหนึ่งคน ใช้เวลาสมัครเพียง 8 นาที โดยแนวทางการสืบสวนพบว่า ในวันดังกล่าวได้มีเจ้าหน้าที่ของทางราชการเดินทางเข้ามาจองเครื่องอินเตอร์เน็ต จำนวน 4 เครื่องจากเจ้าของร้านและเข้ามา ใช้บริการอินเทอร์เน็ตในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากนั้นยังพบพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ที่คุมสอบซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นผู้ที่เข้าช่วยเหลือการเฉลยข้อสอบและส่งสัญญาณผ่านโทรศัพท์มือถือด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการสอบในครั้งนี้ด้วย

พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าวต่อว่า ปัจจุบันสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้หันมาใช้วิธีการบริหารจัดการออกข้อสอบและเก็บตัวอาจารย์ผู้ออกข้อสอบอย่างรัดกุม ทำให้ไม่มีข้อสอบรั่วไหล พวกแก๊งทุจริตการสอบแข่งขันข้าราชการ จึงต้องใช้วิธีโกงโดยการเฉลยข้อสอบในห้องสอบแต่เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถใช้วิธีอื่นได้ โดยแก๊งทุจริตดังกล่าวจะหาลูกค้าที่ต้องการจะสอบเข้ารับราชการ โดยการให้หัวคิวกับนายหน้าที่หาลูกค้ามาให้ รายละประมาณ 10,000-20,000 บาท ส่วนตัวที่เข้าสอบจะต้องจ่ายเงินสูงถึง 100,000-300,000 บาท แบ่งเป็นดังนี้คือ ระดับซี 1 ราคา 100,000 บาท ซี 2 ราคา 200,000 บาท ซี 3 ราคา 300,000 บาท โดยในการสอบแต่ละครั้งผู้ที่เป็นลูกค้าจะได้รับการดูแลอย่างดี ขณะเดียวกัน ผู้ที่เป็นมือปืนรับจ้างสอบนั้นจะได้รับค่าจ้างจำนวนมากครั้งละนับแสนบาทขึ้นไป ทำให้มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดี

อย่างไรก็ตาม ขบวนการทุจริตการสอบดังกล่าวได้ส่งผกระทบต่อระบบราชการอย่างรุนแรง เพราะผู้สมัครที่สอบได้ โดยผ่านขั้นตอนการทุจริตจะไม่มีความสามารถเพียงพอ และมีส่วนทำให้เกิดการทุจริตในระบบราชการของเมืองไทย และแนวทางสืบสวนยังพบว่าเครือข่ายดังกล่าวมีการทำมาอย่างยาวนาน ต่อเนื่องกว่า 10 ปี แล้ว จึงเชื่อว่ามีข้าราชการที่ผ่านเข้าด้วยวิธีการทุจริตจำนวนมาก ซึ่งข้อมูลล่าสุดที่ตรวจสอบพบว่าอาจมีการทุจริตในการสอบแข่งขันคือ การสอบเข้าศุลกากร การสอบของตำรวจจากชั้นประทวนเป็นสัญญาบัตร และสอบเข้ากรมราชทัณฑ์

“ขณะนี้กำลังเตรียมข้อมูลการสืบสวนและสอบสวนผู้ที่อยู่ในข่ายที่ให้ความร่วมมือเปิดข้อมูลในการสอบเพื่อเสนอเป็นคดีพิเศษเนื่องจากเห็นว่าเครือข่ายนี้เป็นต้นธารของการทุจริตของระบบราชการในเมืองไทย และมีความเสียหายต่อระบบราชการไทยมากแต่ความผิดทางกฎหมายหรือโทษน้อย จึงจำเป็นต้องทำการสืบสวนสอบสวนอย่างรัดกุม” พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น