xs
xsm
sm
md
lg

ตามรอย “เสื่อจันทบูร” เรื่องเล่าจากต้นกก ที่ ร.ร.สตรีมารดาพิทักษ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในอดีตกว่าร้อยปีมาแล้ว เมืองจันทบุรีเลื่องลือชื่อเรื่อง “เสื่อจันทบูร” มาก คนแก่คนเฒ่าเล่าต้นกำเนิดให้ฟังว่า “เสื่อจันทบูร” นี้มาจากคนญวนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองจันทน์ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
ชวนา สุทธินราธร หรือน้องรีน่า ทอเสื่ออย่างตั้งใจ
ทว่า เมื่อเวลาเปลี่ยนไป เอกลักษณ์ของเมืองจันท์ค่อยๆ เปลี่ยนไป เพชร พลอย อัญมณีหลากสีมีค่าเข้ามาแทนที่ ของราคาแพงเบียดต้นกกแปรรูปเสียตกขอบ อาจจะด้วยเพราะอาชีพทอเสื่อมีรายได้น้อย คนจึงหันไปจับเพชร จับพลอย เป็นอาชีพหลัก เรื่องราวของชาวญวนทอเสื่อจึงค่อยๆ เลือนไป ประวัติศาสตร์ที่แสนนานถูกพับเก็บจนเด็กรุ่นหลังเกือบไม่รู้เสียแล้วว่าที่มาที่ไปของเสื่อจันทบูรนั้นเป็นมาอย่างไร

“ธารา อานามนารถ” ครูโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ จ.จันทบุรี เล่าให้ฟังว่า ในอดีตแทบทุกหลังคาเรือนบริเวณหลังวัดวัดโรมันคาทอลิคจะมีอาชีพทอเสื่อกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันนี้จะพบเห็นทอเสื่อบ้างแต่น้อยมาก และหันมาประกอบอาชีพค้าพลอย เจียระไนพลอยกันเป็นส่วนมาก และนั่นจึงเป็นสาเหตุให้กิจการทอเสื่อในบริเวณหลังวัดโรมันคาทอลิกลดลง

ด้วยเหตุนี้เองคณะนักบวชหญิงคณะภคินีรักไม้กางเขน ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นภคินีรักกางเขนแห่งจันทบุรี ผู้บริหารโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ จ.จันทบุรี จึงต้องการที่จะต่อลมหายใจให้เสื่อจันทบูรไปสู่เด็กมากขึ้น ด้วยการตั้งชุมนุมทอเสื่อขึ้นในปี 2536 โดยมีเป้าประสงค์เพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมให้อยู่รอด และหวังฟื้นชุมชนคาทอลิคให้กลับมาทอเสื่ออีกครั้ง แม้จะยากแสนยากก็ตามที
อ.ธารา อานามนารถ ขณะสอนลวดลายเสื่อ
“ซิสเตอร์ได้เรียบเรียงเรื่องราวของเสื่อจันทบูรให้นักเรียนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ และดำรงอาชีพการทอเสื่อไว้ โดยบูรณาการการทอเสื่อกับกลุ่มสาระวิชาอื่นๆ ซึ่งทำให้เด็กๆ ได้ลวดลายเสื่อใหม่ๆ เกิดความคิดสร้างสรรค์ แปรรูปเสื่อให้มีมากกว่าเสื่อธรรมดา เช่น ทำเป็นรองเท้า กระเป๋าสตางค์ พัด และเครื่องใช้อีกจิปาถะ ขณะเดียวกัน ทางโรงเรียนก็นำเรื่องราวเหล่านี้เชื่อมกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย” อ.ธารา เล่าความเป็นมา

อย่างไรก็ดี แม้วันนี้แทบจะไม่เห็นลายดั้งเดิมของเสื่อต้นตำหรับญวนแล้ว เพราะลวดลายได้ถูกออกแบบให้แปลกตาตามยุคสมัย แต่ อ.ธารา บอกว่า ก็ยังดีกว่างานฝีมือชนิดนี้หายไปตลอดกาล

ด้าน ด.ญ.ชวนา สุทธินราธร หรือ น้องรีน่า นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ ซึ่งขะมักเขม้นอยู่กับกี่ทอขนาดกว้าง 2.5 คืบ ยาว 25 นิ้วอันเป็นขนาดที่สามารถนั่งทอเสื่อที่ไหนก็ได้ เล่าให้ฟังว่า แม้อาชีพทอเสื่อจะเป็นอาชีพที่มีรายได้น้อย หากแต่มากคุณค่าในเชิงวัฒนธรรม สำหรับนักเรียนนั้น การทอเสื่อช่วยฝึกสมาธิ ความอดทน และเรียนรู้ที่จะรักคุณค่าของงานหัตถกรรมพื้นถิ่นโดยสร้างสรรค์ผ่านงานทอเสื่อ จากนั้นถูกประยุกต์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผืนเสื่อ
สินค้าที่แปรรูปจากผืนเสื่อเพื่อเพิ่มมูลค่า
ทั้งนี้ ในฐานะของเยาวชน แม้ว่าในอนาคตเธอและเพื่อนๆ จะไม่สามารถยึดอาชีพทอเสื่อเป็นอาชีพหลัก หรือยึดเป็นงานอดิเรกได้ก็ตาม แต่ความรู้ที่ติดตัวไปเธอเชื่อว่าภายหน้าจะสามารถถ่ายทอดให้ผู้สนใจหรือหากวันหนึ่งเธออยู่ในฐานะครู ลูกศิษย์เธอจะมีความรู้ด้านทอเสื่อติดตัวกลับไปเช่นที่เธอได้รับจากครูในวันนี้

“ยอมรับว่า เรายึดอาชีพทอเสื่อไม่ได้ แต่หนูเชื่อว่าเรื่องเหล่านี้มีตำนานและน่าจะทำให้มันคงอยู่ต่อไป ในฐานะที่เป็นเยาวชนสิ่งที่พอจะทำได้ก็คือเก็บความรู้เหล่านี้ไว้ เผื่อวันหนึ่งต้องใช้จะได้หยิบมาใช้ทันที” รีน่า เชื่อเช่นนั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น