xs
xsm
sm
md
lg

อย.ชี้ยังไม่พบ “แชมพู-ครีมอาบน้ำ” ปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง หลังพบในจีน-เวียดนาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
อย.เผยไม่พบ “แชมพู-ครีมอาบน้ำ” ยี่ห้อจอห์นสันแอนด์จอน์หสัน ที่ขายในไทย มีสารปนเปื้อนมะเร็ง รวมถึงยาย้อมผมดำ ยี่ห้อเรฟลอน ไม่มีการนำเข้า หลังจีน-เวียดนาม สั่งเก็บออกจากชั้น ไม่นอนใจสั่งสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ซ้ำ เฝ้าระวังเข้มด่านอาหารและยาทั่วประเทศ หวั่นสินค้าลักลอบเล็ดรอด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ประเทศจีนและเวียดนาม มีการสั่งเก็บสินค้าประเภทแชมพูและครีมอาบน้ำ สำหรับเด็กของบริษัท จอห์นสันแอนด์จอน์หสัน เพราะมีสารไดออกซิน (Dioxin), สารฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) ปนเปื้อน และยาย้อมผมดำ ยี่ห้อเรฟลอน ซึ่งมีสารเมตะ-ฟีนิลีนไดแอมีน (m-phenylenediamine) ปนเปื้อน ออกจากชั้นจำหน่ายสินค้า เพราะเป็นสารก่อให้เกิดมะเร็งนั้น

ภก.วีรวรรณ แตงแก้ว รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ของบริษัทดังกล่าว ที่นำมาขึ้นทะเบียนจำหน่ายในประเทศไทย พบว่า เป็นการนำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย และไม่มีการรายงานว่าใช้สารไดออกซิน และฟอร์มาลดีไฮด์ ส่วนยาย้อมผมดำ ยี่ห้อเรฟลอน ไม่พบรายงานการนำเข้ามาในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สุ่มตรวจสินค้าที่จำหน่ายในประเทศอีกครั้งเพื่อความปลอดภัย

ภก.วีรวรรณ กล่าวว่า สารไดออกซิน และ สารเมตะ-ฟีนิลีนไดแอมีน อยู่ในบัญชีสารต้องห้าม ไม่สามารถเติมลงในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ เพราะเป็นสารเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม ก่อให้เกิดมะเร็ง และมีผลต่อระบบสืบพันธุ์ รวมทั้งทำให้เกิดความระคายเคืองต่อผิวหนัง ส่วนฟอร์มาลดีไฮด์ ถือเป็นสารควบคุมพิเศษ สามารถใช้เป็นวัตถุกันเสียได้ แต่ต้องเติมลงในผลิตภัณฑ์ตามที่กำหนด เช่นผลิตภัณฑ์ทั่วๆ ไป สามารถเติมได้ในปริมาณร้อยละ 0.2 ของปริมาณทั้งหมด และหากเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดฉีดพ่นในช่องปาก จะต้องไม่เกินร้อยละ 0.1 ของปริมาณทั้งหมด และเป็นสารชนิดหนึ่งที่อยู่ในยาทาเล็บ มีคุณสมบัติทำให้เล็บแข็ง แต่ก็สามารถทำลายเนื้อเยื่อที่สัมผัสได้ด้วย จึงเป็นสารที่ต้องจำกัดปริมาณให้อยู่ภายใต้การควบคุม

“ที่ผ่านมา อย.มีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอไม่ให้เติมสารต้องห้ามลงไป และมีข้อตกลงระดับอาเซียนในเรื่องการเฝ้าระวังอันตรายจากสารต่างๆ หากประเทศสมาชิกพบสารที่เป็นอันตรายในผลิตภัณฑ์ จะต้องรายการให้ประเทศสมาชิกทราบเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันร่วมกัน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานอย่างเป็นทางการจากประเทศจีน และเวียดนาม แต่จะเฝ้าระวังสินค้าในกลุ่มดังกล่าว โดยเฉพาะด่านอาหารและยาทั่วประเทศ เพื่อความปลอดภัย เพราะแชมพูเป็นสินค้าประเภทที่ต้องสัมผัสบ่อยครั้งโดยเฉพาะเป็นสินค้าสำหรับเด็ก จึงไม่ควรปล่อยให้เสี่ยงเกิดอันตรายในระยะยาวขึ้น” ภก.วีรวรรณ กล่าว

ภก.วีรวรรณ กล่าวอีกว่า สำหรับการเลือกซื้อสินค้า อยากให้ผู้บริโภคเลือกสินค้าที่มีชื่อผู้ผลิต ผู้นำเข้า อย่างเสี่ยงซื้อสินค้าที่ไม่มีแหล่งที่มา เพราะอาจเสี่ยงกับสารที่เป็นอันตราย และไม่สามารถติดตามเอาผิดใครได้เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ส่วนของปลอมที่ลักลอบจำหน่าย อย.มีการสุ่มตรวจอย่างต่อเนื่อง โดยมีการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ ตรวจวิเคราะห์ หาสารเจือปน ที่อาจเป็นอันตราย อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคควรสังเกตฉลาก และเลือกซื้อสินค้าจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และสามารถตรวจสอบได้กับสายด่วน อย.1556 หากไม่มั่นใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น