xs
xsm
sm
md
lg

พม.ชงเปลี่ยนชื่อเบี้ยยังชีพคนแก่เป็น “เบี้ยกตัญญู” ย้ำ! เงินถึงมือ 9 เม.ย.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“อิสสระ” คาดผู้สูงอายุลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพทะลุ 3 ล้านคน เตรียมจ่ายเงินถึงมือ 9 เม.ย.นี้ ทั่วประเทศ ย้ำไม่มการเปิดให้ลงทะเบียนเพิ่มเติม แต่จะจัดให้มีการลงทะเบียนทุกปีเพื่อผู้ที่ตกหล่นในปีนี้ และผู้ที่มีอายุครบ 60 ปี ในครั้งต่อไป เผยเตรียมเสนอเปลี่ยนชื่อ “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” เป็น “เบี้ยกตัญญู” กทม.สรุปยอดลงทะเบียนเกือบ 4 แสนคน ต้องจ่ายประชานิยมตามแผนรัฐบาลกว่า 2 พันล้านต่อปี บางแคครองแชมป์ลงทะเบียนมากสุด ส่วนน้อยสุดสัมพันธวงศ์ได้ไปครอง
นายอิสสระ สมชัย
วันนี้ (16 มี.ค.) ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้สัมภาษณ์ถึงยอดผู้มาลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งรัฐบาลเปิดให้ผู้สูงอายุที่มาอายุ 60 ปี ขึ้นไปมาลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 15 มีนาคมที่ผ่านมาว่า องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และเทศบาลทั่วประเทศจะรายงานตัวเลขอย่างเป็นทางการเข้ามาที่ พม.ในวันนี้ แต่จากการคาดการณ์เชื่อว่าจะมีผู้สูงอายุมาลงทะเบียนเกิน 3 ล้านคนแต่คงไม่มาก และขั้นตอนจากนี้ทางเจ้าหน้าที่ อปท.และเทศบาลจะทำการตรวจคุณสมบัติว่าผู้ที่มาลงทะเบียนเข้าหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดหรือไม่ เช่น ต้องไม่เป็นข้าราชการบำนาญ และไม่เป็นผู้ที่เคยรับได้ลงทะเบียนได้รับเบี้ยยังชีพมาแล้ว โดยภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้การตรวจสอบคุณสมบัติจะแล้วเสร็จ พร้อมที่จะส่งรายชื่อทั้งหมดมาให้ พม. ก่อนจะดำเนินการจ่ายเบี้ยยังชีพในวันที่ 9 เมษายนนี้ ให้แก่ผู้มีสิทธิ์พร้อมกันทั่วประเทศ

นายอิสสระกล่าวอีกว่า รัฐบาลได้เปิดให้ผู้สูงอายุมาลงทะเบียนรับสิทธิไปแล้วกว่า 20 วัน น่าจะเพียงพอกับการให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุโดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่มีผู้มาลงทะเบียนเกือบ 100% คงไม่มีการเปิดให้ลงทะเบียนเพิ่มเติมอีกในช่วงนี้ เพราะตัวเลขจะไม่นิ่งและจะมีปัญหาเรื่องการจัดงบประมาณ อย่างไรก็ตามรัฐบาลจะเปิดให้มีการลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุในทุกๆ ปี โดยผู้ที่พลาดหรือตกหล่นจากการลงทะเบียนในครั้งนี้ก็สามารถลงในครั้งหน้าได้ อีกทั้งผู้ที่จะมีอายุครบ 60 ปีในปีต่อๆ ไป ก็จะได้มีโอกาสได้ลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพเช่นกัน นอกจากนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้อยู่ระหว่างการเสนอให้เปลี่ยนชื่อ “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ”เป็น “เบี้ยกตัญญู” แทน เพื่อให้มีความนุ่มนวล ในการเรียก เนื่องจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นเหมือนกับการช่วยเหลือคนยากจน ทั้งที่ในความเป็นจริงเป็นการให้สิทธิ์กับผู้สูงอายุทุกคนโดยไม่เลือกฐานะ ตอนนี้ก็คงต้องใช้ชื่อนี้ไปก่อนเพราะหากจะเปลี่ยนในช่วงนี้ก็ต้องแก้ไขในเอกสารทั้งหมดซึ่งจะทำให้ยุ่งยากและสับสน

“ภายหลังปิดการลงทะเบียนผู้สูงอายุก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้สละสิทธิแต่อย่าใด ซึ่งแม้แต่มารดาของผู้ว่าราชการจังหวัดบางจังหวัดยังมาลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพด้วย ซึ่งเราคงไปห้ามไม่ได้เพราะถือเป็นสิทธิ อย่างไรก็ตามผมได้ประกาศว่า กรณีผู้สูงอายุที่แสดงความจำนงไม่ขอรับเบี้ยยังชีพ พม.จะทำหนังสือให้นายกรัฐมนตรีลงนามเพื่อมอบประกาศเกียรติคุณ เนื่องจากเป็นผู้เสียสละ นอกจากนี้ในการประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติในวันที่ 18 มีนาคมนี้ จะหารือในที่ประชุมว่าหลักเกณฑ์การกำหนดนับอายุผู้มีอายุ 60 ปี ว่าควรจะเป็นวันไหน ระหว่างปีปฏิทินหรือปีงบประมาณ เพื่อให้ง่ายต่อการทราบตัวเลขผู้สูงอายุ” รมว.พม.กล่าว

นายอิสสระกล่าวด้วยว่า สำหรับข้อกังวลของประชาชนที่เกรงว่า พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ได้เป็นรัฐบาล แล้วจะไม่ได้รับเบี้ยยังชีพนั้น ต้องบอกว่าขณะนี้ได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ผู้สูงอายุแห่งชาติ มาตรา 11 (11) กำหนดให้การจ่ายเบี้ยยังชีพต้องจ่ายเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม จากเดิมที่กำหนดเกณฑ์ตามความเหมาะสมเท่านั้น ในส่วนที่คาดว่ามาลงทะเบียนเกิน 3 ล้านคน รัฐบาลก็จะจัดสรรงบกลางดำเนินการให้ ซึ่งไม่น่าจะถึง 1 แสนคน

**ยอด กทม.เกือบ 4 แสน ใช้ 2.2 พันล้านบาทต่อปี
นางเพียงใจ วิศรุรัตน
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงยอดผู้สูงอายุที่มาลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพ ตามนโยบายช่วยเหลือประชาชนในระยะเร่งด่วนของรัฐบาล หลังจากที่ปิดรับลงทะเบียนไปแล้วเมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า ในพื้นที่ก ทม. มีผู้สูงอายุที่มาลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพทั้งสิ้น 380,495 คน โดยมีสำนักงานเขตที่มีผู้สูงอายุมาลงทะเบียนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เขตบางแค 15,354 คน เขตดินแดง 13,635 คน เขตจอมทอง 13,629 คน เขตภาษีเจริญ 13,363 คน และเขตบางซื่อ 11,667 คน นอกจากนั้นแล้วยังมีเขตที่มีผู้สูงอายุมาลงทะเบียนน้อยที่สุด ได้แก่ เขตสัมพันธวงศ์ 2,888 คน ซึ่งหลังจากนี้จนถึงวันที่ 20 มี.ค. ทางสำนักงานเขตที่รับลงทะเบียนจะดำเนินการตรวจสอบรายชื่อและคุณสมบัติผู้สูงอายุจากฐานข้อมูลในทะเบียนราษฎร์เพื่อยืนยันสิทธิ ส่วนการประกาศรายชื่อผู้สูงอายุที่ได้รับสิทธินั้นจะประกาศได้ประมาณ วันที่ 23 มี.ค. ทั้งนี้จะเริ่มจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตั้งแต่เดือน เม.ย.เป็นต้นไป

นางเพียงใจ กล่าวอีกว่า ในการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในส่วนของ กทม. ปีที่ผ่านๆ มา พบว่ามีผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพเดือนละ 500 บาท ทั้งสิ้น 43,726 คน ซึ่ง กทม. ต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,863,000 บาท ต่อเดือนหรือประมาณ 22,356,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งหลังจาก ที่รัฐบาลประกาศเป็นนโยบายช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน ทำให้มีผู้สูงอายุในพื้นที่ กทม. มาลงทะเบียนเพิ่มอีก 380,495 คน ซึ่ง กทม. ต้องของบอุดหนุนจากรัฐบาล คิดเป็นเดือนละ 190,247,500 บาท หรือประมาณ 2,282,970,000 บาทต่อปี
กำลังโหลดความคิดเห็น