xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.มีมติอุ้มผู้ป่วยเอดส์ตกงาน 4 พันคน สั่ง รพ.ในสังกัด ให้ยาต้านต่อเนื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
มติบอร์ด สปสช.ให้ รพ.สังกัด สธ.และ กทม.ให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีผู้ประกันตนถูกเลิกจ้างทันทีแม้เปลี่ยนสิทธิ์ คาด มีประมาณ 4 พันคน ได้รับยาต่อเนื่อง สกัดภาวะดื้อยา รวมทั้งให้ สปส.ชดเชยค่าใช้จ่ายให้ สปสช.เล็งพิจารณาให้ผู้ป่วยวัณโรค และผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับยาต่อเนื่องได้รับการช่วยเหลือด้วย

วันที่ 9 มีนาคม ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการเตรียมการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีเพื่อรองรับสถานการณ์ว่างงาน มีมติให้สถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และ กทม.ให้การดูแลผู้ประกันตนว่างงานที่กำลังรับยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะยังมีสิทธิประกันสังคม โดยสามารถรับยาได้ที่ โรงพยาบาลชุมชนที่ใกล้บ้าน พร้อมทั้งรับบริการตรวจซีดีโฟร์ และตรวจรักษาโรคที่เกี่ยวเนื่องได้ นอกจากนี้ ให้ สปสช.และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ร่วมมือกันเรื่องการบริการและการชดเชยค่าใช้จ่ายยาต้านไวรัสระหว่าง 2 ระบบ

“จากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะมีการเลิกจ้างงานจากบริษัทเอกชนจำนวนมากส่งผลให้มีการว่างงาน ซึ่งกลุ่มผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้าง จะมีการเปลี่ยนสิทธิการรักษาพยาบาลจากประกันสังคมเป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยในระหว่างนี้ผู้ประกันตนยังสามารถใช้สิทธิประกันสังคมต่อได้อีก 6 เดือน แต่เนื่องจากผู้ประกันตนที่รับยาต้านไวรัสที่ถูกเลิกจ้าง อาจย้ายกลับภูมิลำเนา หรือหางานในสถานที่อื่น ทำให้ไม่สะดวกในการรับบริการกับรพ.คู่สัญญาเดิม จึงให้ผู้ประกันตนสามารถรับยาไวรัสได้ที่โรงพยาบาลชุมชน ซึ่งจะทำให้ได้รับยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการดูแลกรณีเจ็บป่วยอื่นด้วย เพื่อไม่ให้การดื้อยามีอัตราส่วนสูงขึ้นจากการไม่ได้รับยาต่อเนื่องซึ่งแนวทางนี้จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อดีขึ้น และรัฐไม่รับภาระด้านการรักษาพยาบาลที่เกิดจากเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้นด้วย”นพ.วินัย กล่าว

เลขาธิการ สปสช.กล่าวต่อว่า ปัจจุบันจำนวนผู้รับยาต้านไวรัสสิทธิประกันสังคมมี 43,346 คน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีประมาณ 10% หรือ 4,000 คน ได้รับสิทธิประโยชน์นี้ สำหรับการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั้ง 2 ระบบมีความคล้ายคลึงกันอยู่แล้ว ต่างกันตรงที่ยาของระบบประกันสังคมลงไปถึงหน่วยบริการเฉพาะที่เป็นคู่สัญญาหลัก คือ รพ.ศูนย์ และ รพ.ทั่วไป ขณะที่ยาของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าลงไปถึงระดับ รพ.ชุมชน และจำนวน รพ.ที่ให้การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีในเครือข่ายระบบประกันสังคมมี 306 แห่งส่วนใหญ่เป็นรพ.เอกชน รพ.ในเครือข่ายระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามี 1,150 แห่ง ส่วนใหญ่เป็น รพ.ของรัฐ โดยในจำนวนนี้มีรพ.ที่ให้การดูแลผู้ติเชื้อเอชไอวีในสิทธิประกันสังคมและระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพียง 182 แห่ง เท่านั้น

“นอกจากนี้ สามารถนำยาจากโรงพยาบาลจังหวัดมาให้โรงพยาบาลชุมชนได้หากไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากมีระบบคลังยา (วีเอ็มไอ) ที่มีการประสานข้อมูลกันอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่น่ามีปัญหา ยาของโรงพยาบาลชุมชนก็จะไม่พร่อง ส่วนงบประมาณนั้นมีเพียงพอ เพราะใช้งบจำนวนไม่มาก โดยสามารถนำงบจากกองทุนเอดส์มาใช้ก่อนได้ ทั้งนี้อาจจะพิจารณาให้ผู้ป่วยวัณโรค และผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับยาต่อเนื่องได้รับการช่วยเหลือด้วยเช่นกัน” นพ.วินัยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น