xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อเศรษฐกิจวูบบริการสุขภาพดีขึ้น แพทย์-พยาบาล รัฐไม่ไหลไปเอกชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
ในงานเสวนา “วิกฤตเศรษฐกิจ : ผลกระทบต่อระบบสุขภาพคนไทย” จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) โรงพยาบาลเอกชน และนักวิชาการ โดยต่างมั่นใจว่าวิกฤตเศรษฐกิจ จะกระทบกับโรงพยาบาลเอกชน มากกว่ากระทบกับระบบบริการของรัฐ

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า เมื่อประเทศมีวิกฤตเศรษฐกิจประชาชนจะหันมาใช้บริการประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคมากขึ้น จากปัจจุบันมีผู้มีสิทธิใช้บัตรทอง 47 ล้านคน แต่ใช้จริงๆ เพียงร้อยละ 70 ส่วนที่เหลือยังพอมีเงินจึงไปใช้บริการสถานพยาบาลเอกชน แต่หากเศรษฐกิจไม่ดี คนต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย คาดว่า จะหันมาใช้บริการเป็นร้อยละ 90 อย่างไรก็ดี อาจจะทำให้สถานพยาบาลมีภาระมากขึ้น จึงต้องเตรียมพร้อม แต่หากมองในทางที่ดี จะพบว่า วิกฤตเศรษฐกิจจะทำให้บุคลากรทางการแพทย์ ทั้งแพทย์และพยาบาลของรัฐ ไม่ไหลออกไปสู่ระบบโรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากความต้องการของเอกชนน้อยลง ดังนั้น ส่วนนี้สามารถมองเป็นข้อดีได้ว่า ระบบบริการสุขภาพจะดีขึ้น เพราะมีผู้ให้บริการมีเพียงพอ

ด้าน นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการ สปส.กล่าวว่า ปัจจุบันนี้มีผู้มีสิทธิใช้บริการประกันสังคม ได้แก่ ลูกจ้าง และอดีตลูกจ้างที่ว่างงานไม่เกิน 6 เดือน ประมาณ 9.5 ล้าน คน โดย สปส.เชื่อมั่นในมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล จึงคาดว่า ในปีนี้ไม่น่าจะมีคนลาออก หรือถูกเลิกจ้างถึง 1 ล้านคน อย่างไรก็ดี คาดว่า ปีนี้จะมีคนเข้าใช้บริการตามมาตรา 39 หรือผู้ประกันตนที่ตกงาน จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเอง เดือนละ 432 บาท เพื่อรักษาสิทธิมากขึ้น

ขณะที่ รศ.นพ.ปิยะ เนตรวิเชียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร รพ.บางกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา กระทบมายังประเทศไทยโดยเฉพาะธุรกิจตรวจสุขภาพให้นักท่องเที่ยว ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 80 ของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทย เพื่อใช้บริการตรวจสุขภาพอาจจะน้อยลง เนื่องจากทุกคนประหยัดค่าใช้จ่าย และมองหาประเทศที่ถูกกว่า เช่น สิงค์โปร หรือ อินเดีย เป็นต้น แต่ก็อาจจะส่งผลดีต่อระบบบริการสุขภาพของไทย เพราะอัตราการไหลออกของบุคลากรทางการแพทย์จากราชการมาสู่เอกชน จะลดลงตามความต้องการของตลาด

นายวิโรจน์ ณ ระนอง นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจ ไม่กระทบกับสถานพยาบาลระดับท้องถิ่น เช่น โรงพยาบาลชุมชน หรือ อำเภอ แต่โรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลประจำจังหวัดจะมีเพิ่มขึ้น ซึ่งมาจากคนที่เคยใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน หันมาใช้บริการมากขึ้น ส่วนที่จะได้รับผลกระทบคือโรงพยาบาลเอกชนนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น