xs
xsm
sm
md
lg

ทุ่ม 70 ล.จ้างบัณฑิตตกงานวิจัยสุขภาพจิตรับ ศก.ทรุด เผยคนใต้อารมณ์ดีสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เตรียมสำรวจสุขภาพทั่วประเทศช่วงเศรษฐกิจทรุด เชื่อใช้แก้ปัญหาได้ตรงจุด ทุ่ม 70 ล้าน จ้างบัณฑิตตกงาน 3,900 คน ร่วมทำงานวิจัย เผยผลสำรวจสุขภาพจิตคนไทย กว่าครึ่งอยู่ในเกณฑ์ปกติ คนใต้สุขภาพจิตดีสุด

วันที่ 9 มีนาคม นางธนนุช ตรีทิพยบุตร เลขาธิการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า จากผลการสำรวจสุขภาพจิตของคนไทย โดยใช้เครื่องมือของกรมสุขภาพจิต ในช่วงเดือนตุลาคม 2551 จำนวน 28,000 คน พบว่าคะแนนสุขภาพจิตโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 31.8 จาก 45 คะแนน โดยมีประชากรคะแนนดีกว่าปกติ ร้อยละ 27 สุขภาพจิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ ร้อยละ 54 ส่วนคะแนนต่ำกว่าปกติ ร้อยละ 17 หรือเกือบ 1 ใน 5 ที่เสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพจิต นอกจากนี้พบว่า ผู้ชายกับผู้หญิงมีสุขภาพจิตใกล้เคียงกัน ภาคใต้เป็นภาคที่มีสุขภาพจิตดีกว่าภาคอื่น และผู้ที่ประกอบอาชีพรับราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ มีสุขภาพจิตดีกว่าอาชีพอื่นอย่างเห็นได้ชัด โดยในช่วงปีนี้จะมีการสำรวจและรายงานในช่วงกลางปีและปลายปีอีกครั้ง จำนวน 52,000 ครัวเรือน และแยกเป็นรายจังหวัด เพื่อดูความเคลื่อนไหวของสุขภาพจิตคนไทย เนื่องจากในปีนี้ คาดว่า จะมีวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้น

ด้าน นพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยเผชิญปัญหาหลายด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพจิต ซึ่งภาวะเศรษฐกิจอาจทำให้แนวโน้มของปัญหาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้รับความร่วมมือจาก 4 หน่วยงาน คือ กรมสุขภาพจิต สำนักงานสถิติแห่งชาติ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการสำรวจและพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพจิตที่มีคุณภาพ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการสร้างการมีส่วนร่วมและแก้ปัญหา ซึ่งเมื่อสำรวจแต่ละพื้นที่และจะได้ลักษณะของปัญหาที่มีความเฉพาะเจาะจงขึ้น เพราะจะมีการแบ่งเป็นรายจังหวัด เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดมากขึ้น

“นอกจากการสำรวจสุขภาพจิตคนไทยทั้งประเทศ จะมีการทำการสำรวจความสามารถทางอารมณ์ และจิตใจในการเผชิญปัญหาวิกฤต หรือ RQ โดยการของบกลางประมาณ 70 ล้านบาท เพื่อจ้างงานบัณฑิตที่ตกงานในท้องถิ่นทั่วประเทศประมาณ 3,900 คน เพื่อเป็นบัณฑิตอาสาที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเก็บข้อมูลได้หลังเดือน พ.ค.โดยใช้เวลาในการประเมินประมาณ 4 เดือน” นพ.ชาตรี กล่าว

นพ.ชาตรี กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ผลการสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว การมีคุณธรรม-จริยธรรม และการใช้หลักคำสอนทางศาสนาในการดำเนินชีวิตช่วยให้ประชากรมีสุขภาพจิตดีขึ้น ซึ่งผู้ที่ปฏิบัติตามคำสอนทางศาสนาอย่างเคร่งครัดจะมีสุขภาพจิตดีกว่าผู้ที่ไม่ค่อยปฏิบัติตามคำสั่งสอนทางศาสนา และสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ผู้ที่ใช้หลักคำสอนเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา หรือคิดว่าหลักคำสอนศาสนาเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต โดยผู้ที่ ไม่ยึดหลักคำสอนทางศาสนาในการดำเนินชีวิตร้อยละ 24.5 มีความเสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพจิต สำหรับกลุ่มชาวพุทธ การทำสมาธิเป็นประจำช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้น นอกจากนี้ คนที่อยู่ในครอบครัวที่มีเวลาให้แก่กันเพียงพอ หรือไปเที่ยวพักผ่อนด้วยกันเป็นประจำจะมีสุขภาพจิตดีกว่าคนที่อยู่ในครอบครัวที่ไม่มีเวลาให้แก่กันเพียงพอ หรือไม่ค่อยได้ไปเที่ยวพักผ่อนด้วยกันถึง 2 เท่า

นายอภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความเสี่ยงที่จะมีปัญหาสุขภาพจิตเริ่มสูงมากขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น ผู้หญิงเสี่ยงที่จะมีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้ที่เป็นหัวหน้าครัวเรือน โดยพบว่า คนที่รู้จักการยกโทษ ให้อภัยซึ่งกันและกัน จะมีความเสี่ยงน้อยกว่า และผลสำรวจยังชี้อีกว่า ผู้ที่มีอาชีพไม่มั่นคงทางด้านรายได้ คือ กลุ่มรับจ้างทั่วไป และกรรมกร มีความเสี่ยงที่มีปัญหาสุขภาพจิตสูงกว่าอาชีพที่มีความมั่นคงกว่า เช่น กลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ประมาณ 3 เท่า ส่วนกลุ่มที่มีความเสี่ยงรองลงมาจากกรรมกร คือ พนักงานเอกชน ดังนั้น ควรให้ความสำคัญในครอบครัว และรัฐบาลควรกำหนดนโยบายระดับประเทศ ว่าทำอย่างไรให้เศรษฐกิจมั่นคง

ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงรอง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ โดยความร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆ ในครั้งนี้ ถือเป็นข้อมูลที่มีความเชื่อถือสูง และจะทำให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างชัดเจน ซึ่ง สสส.จะให้การสนับสนุนในการแก้ปัญหาในพื้นที่ต่างๆ ผ่านภาคีเครือข่าย โดยนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างตรงจุด
กำลังโหลดความคิดเห็น