สพฐ.ประกาศรางวัลผลการประกวดหนังสือดีเด่น “คนสองแผ่นดิน” ของสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ โดย “รุ่งมณี เมฆโสภณ” ได้รับรางวัลหนังสือชมเชยประเภทสารคดีด้วย คณะกรรมการตัดสินเผยหนังสือสำหรับเด็ก อายุ 6-11 ปี ไม่มีหนังสือได้รับรางวัลดีเด่น แถมมาตรฐานหนังสือที่ส่งเข้าประกวดต่ำลงด้วย คำสะกดวรรณยุกต์ การันต์ผิดเยอะจนไม่สามารถให้รางวัลได้ ขณะที่หนังสือสำหรับเด็กเล็กอายุ 3-5 ปี มีพัฒนาการมากสุด เพราะพ่อแม่ให้ความสนใจมากขึ้น
เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 5 มี.ค.ที่หอสมุดแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดให้มีการประกาศผลรางวัลหนังสือดีเด่น ประจำปี 2552 นายพนม พงษ์ไพบูลย์ ประธานคณะกรรมการพิจารณาตัดสินการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี 2552 แถลงว่า การประกวดหนังสือดีเด่นครั้งนี้ มีสำนักพิมพ์ หน่วยงาน และผู้สนใจ ร่วมส่งหนังสือเข้าประกวดรวม 405 เรื่อง ซึ่งคณะกรรมการได้พิจารณาตัดสินด้วยความละเอียดถี่ถ้วน ผลปรากฏว่า รางวัลดีเด่นกลุ่มหนังสือสารคดี ได้แก่ “ซ่อนไว้ในสิม ก-ฮ ในชีวิตอีสาน” ของ อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย รางวัลชมเชย 3 รางวัล ได้แก่ “คนสองแผ่นดิน” ของ รุ่งมณี เมฆโสภณ “ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น 95 ปี 4 เดือน 9 วัน พูนศุข พนมยงศ์” และ “142 วัน 1,800 กม.นิเวศศิลป์ริมโขงของศิลปินนอกคอก” ของ พิน สาเสาร์ รางวัลดีเด่นกลุ่มหนังสือนวนิยาย ไม่มีหนังสือเรื่องใดสมควรได้รับรางวัล ส่วนรางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ “ฆาตกรรมลวง” ของ ธันวา วงษ์อุบล “ยิ่งฟ้ามหานที” ของ กนกวลี พจนปกรณ์ รางวัลดีเด่นกลุ่มหนังสือกวีนิพนธ์ ไม่มีหนังสือเรื่องใดสมควรได้รับรางวัล ส่วนรางวัลชมเชย 3 รางวัล ได้แก่ “เดินตามรอย” ของ วันเนาว์ ยูเด็น “นิยายของน้ำหยดหนึ่ง พิราบขาว และดอกหญ้า” ของ ชัยพร ศรีโบราณ และ “โลกยนิทาน” ของ ธีรภัทร เจริญสุข
นายพนม กล่าวอีกว่า รางวัลดีเด่นกลุ่มหนังสือรวมเรื่องสั้น ได้แก่ “จากสายน้ำสู่นคร” ของประกาศิต คนไว รางวัลชมเชย 3 รางวัล ได้แก่ “เด็กทารกแห่งเมืองหมองหม่น” ของ อดิศร ไพรวัฒนานุพันธ์ “เมรุมายา” ของ ศันสนีย ศีตะปันย์ และ “รูปรัก” ของ วรภ วรภา รางวัลดีเด่นกลุ่มหนังสือสำหรับเด็ก อายุ 3-5 ปี ได้แก่ “ทายซิ ทายซิ นั่นตัวอะไร” ของ ตุลย์ สุวรรณกิจ รางวัลชมเชย 3 รางวัล ได้แก่ “กระจิ๊บกระจ๊อบมองโลก” ของ สมาพร สุขสำอาง “บึ๊กซ่าขี้โมโห” ของ มณิศา ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา และ “แมวหมิวผู้กล้าหาญ” ของ ฉันทนา ยกมาพันธ์ รางวัลดีเด่นกลุ่มหนังสือสำหรับเด็ก อายุ 6-11 ปี ประเภทหนังสือบันเทิงคดี ไม่มีหนังสือเรื่องใดสมควรได้รับรางวัล ส่วนรางวัลชมเชย ได้แก่ “สายรุ้งหายไปไหน” ของ นวรัตน์ สีหอุไร ประเภทหนังสือสารคดี ไม่มีหนังสือเรื่องใดสมควรได้รับทั้งรางวัลดีเด่นและรางวัลชมเชย
ประธานคณะกรรมการพิจารณาฯ กล่าวอีกว่า รางวัลดีเด่น กลุ่มหนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12-18 ปี ประเภทหนังสือบันเทิงคดี ไม่มีหนังสือเรื่องใดสมควรได้รับรางวัล ส่วนรางวัลชมเชย มี 3 รางวัล ได้แก่ “กระท่อมดินทุ่งดาว” ของ พิบูลย์ศักดิ์ ละครพล “ขวัญสงฆ์” ของ ชมัยภร แสงกระจ่าง และ “สายลมกับทุ่งหญ้า” ของ วิเชียร ไชยบัง ประเภทหนังสือสารคดี ได้แก่ “เงาะป่า : วรรณคดีสัญลักษณ์แห่งรัชสมัย” ของ ยุพร แสงทักษิณ รางวัลชมเชย ไม่มีหนังสือเรื่องใดสมควรได้รับรางวัล ประเภทหนังสือบทร้อยกลอง ไม่มีหนังสือเรื่องใดสมควรได้รับทั้งรางวัลดีเด่นและรางวัลชมเชย รางวัลดีเด่น กลุ่มหนังสือการ์ตูน และหรือนิยายภาพ ได้แก่ “มะเขื่องแห่งเมืองโหวกเหวก” ของ อิทธิวัฐก์ สุริยมาตย์ รางวัลชมเชย 3 รางวัล ได้แก่ “การผจญภัยของสุดสาคร พระอภัยมณี” ของ อัมรินทร์ เดชณรงค์ “บันทึกสี่เท้าจากหัวใจผู้ไร้บ้าน (ฉบับการ์ตูน)” ของชนประเสริฐ คินทรักษ์ และ “แบนเล็กผจญภัย : ชีวิตชีปะขาวตัวแบนในโลกมหัศจรรย์ใต้สายน้ำ” ของ นิรมล มูนจินดา
“รางวัลดีเด่น กลุ่มหนังสือสวยงาม ประเภทหนังสือสวยงามทั่วไป ได้แก่ “สยามรัฐวัฒนา ใต้ฟ้าพระสยามินทร์” ของโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง รางวัลชมเชย 3 รางวัล ได้แก่ “ซ่อนไว้ในสิม ก-อ ในชีวิตอีสาน” “สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” ของทศพล จังพาณิชย์กุล และ “หนังสือชุดเครื่องถ้วยในเมืองไทย 3 เล่ม” ของ ภุชชงค์ จันทวิช ประเภทหนังสือสวยงามสำหรับเด็ก ได้แก่ “ที่สุดในโลก” ชองรัตนา คชนาท รางวัลชมเชย 3 รางวัล ได้แก่ “กระจิ๊บกระจ๊อบมองโลก” ของ สมาพร สุขสำอาง “ช้างเพื่อนกัน” ของ ธนากร ศรีวิเชียร และ “ตลาดน้ำ อ้ำ! อร่อย” ของตุ๊บปอง” นายพนม กล่าว
นายพนม กล่าวอีกว่า สำหรับหนังสือที่ได้รับรางวัลดีเด่น จะได้รับโล่พร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท ส่วนรางวัลชมเชยจะได้รับเกียรติบัตรพร้อมเงินรางวัล 10,000 บาท โดยเข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันเปิดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 37 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 7 ในวันที่ 26 มี.ค.ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
น.ส.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ประธานกลุ่มคณะกรรมการพิจารณาตัดสินกลุ่มหนังสือนวนิยาย กล่าวว่า ในปีนี้ไม่มีหนังสือนวนิยายได้รับรางวัลดีเด่น เนื่องจากคณะกรรมการซึ่งส่วนใหญ่เป็นท่านเดิม และผ่านการอ่านหนังสือจำนวนมาก ต่างมีมาตรฐานหนังสือที่จะให้รางวัลอยู่แล้ว ดังนั้น การพิจารณาให้รางวัลกับหนังสือเล่มใดก็ไม่ควรย่อหย่อนไปกว่าหนังสือที่เคยได้รับรางวัลในปีก่อนๆ อย่างไรก็ตาม หนังสือที่ส่งเข้ามาประกวดบางเล่มหากมีการขัดเกลาหรือแก้ไขให้มีคุณค่าทางวรรณศิลป์เพิ่มมากขึ้นก็อาจจะได้รับรางวัลดีเด่นได้
คุณหญิง กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ ประธานกลุ่มคณะกรรมการพิจารณาตัดสินกลุ่มหนังสือกวีนิพนธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันหนังสือประเภทกวีนิพนธ์ไม่เพียงแต่จะมีคนเขียนน้อยลงเท่านั้น แต่ยังมีสำนักพิมพ์ตีพิมพ์กวีนิพนธ์น้อยลงด้วย เนื่องจากจำหน่ายได้น้อย ปีนี้จึงไม่มีหนังสือดีเด่นประเภทกวีนิพนธ์ จึงขอให้สำนักพิมพ์ต่างๆ ตลอดจนสื่อมวลชนช่วยสนับสนุนหนังสือประเภทกวีนิพนธ์ด้วย
นายเฉลียว พันธุ์สีดา ประธานกลุ่มคณะกรรมการพิจารณาตัดสินกลุ่มหนังสือสำหรับเด็ก อายุ 6-11 ปี กล่าวว่า ในปีนี้หนังสือในกลุ่มนี้ไม่มีเล่มใดได้รับรางวัลดีเด่น อีกทั้งมีจำนวนหนังสือที่ส่งเข้าประกวดน้อยมาก และหนังสือที่ส่งเข้าประกวดก็มีมาตรฐานต่ำลง จนไม่สามารถพิจารณาให้รางวัลดีเด่นได้ เช่น ไม่จัดพิมพ์ปกในตามมาตรฐานหนังสือสากล เนื้อหาของภาพไม่สัมพันธ์หรือสอดคล้องกับเนื้อเรื่อง การสะกดวรรณยุกต์ การันต์ผิดจำนวนมาก แม้หนังสือบางเล่มจะมีเนื้อหาบันเทิง แต่เด็กในช่วงวัยดังกล่าว เป็นช่วงวัยของการจดจำ ดังนั้น จึงควรเป็นหนังสือที่มีความถูกต้องทั้งเนื้อหา และภาพประกอบ คณะกรรมการจึงไม่สามารถให้รางวัลได้
นางธารา กนกมณี ประธานกลุ่มคณะกรรมการพิจารณาตัดสินกลุ่มหนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12-18 ปี กล่าวว่า แม้จะไม่มีหนังสือดีเด่น แต่เห็นได้ว่ามีการพัฒนาหนังสือในกลุ่มนี้ขึ้นมาก ทั้งรูปเล่ม และภาพประกอบ แต่คณะกรรมการไม่สามารถให้รางวัลได้เนื่องจากยังมีจุดบกพร่องเช่น ไม่มีปกใน ไม่มีปีที่จัดพิมพ์ในหน้าสำนักพิมพ์ตามมาตรฐานสากล ขณะที่เนื้อหาบางเล่มเคยลงตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในวารสารหรือนิตรสาร เมื่อเอามารวมเล่มไม่มีการเรียบเรียงเนื้อหาให้เป็นเรื่องเดียวกัน เมื่ออ่านแล้วยังรู้สึกเป็นตอนๆ หรือมีเนื้อหาซ้ำซ้อนกันอยู่
น.ส.จินตนา ใบกาซูยี ประธานกลุ่มคณะกรรมการพิจารณาตัดสินกลุ่มหนังสือสำหรับเด็กเล็ก อายุ 3-5 ปี กล่าวว่า สำหรับหนังสือกลุ่มนี้เป็นที่น่ายินดีว่ามีการพัฒนามากกว่ากลุ่มอื่นๆ โดยมีความสวยงามทั้งรูปเล่ม ภาพประกอบ ซึ่งปัจจัยสำคัญอาจเป็นเพราะพ่อแม่ ผู้ปกครองหันมาให้ความสำคัญกับการจัดหาหนังสือให้กับเด็กวัยนี้มากขึ้น
นายณรงค์ ประภาสะโนบล ประธานกลุ่มคณะกรรมการพิจารณาตัดสินกลุ่มหนังสือการ์ตูน หรือนิยายภาพ กล่าวว่า ในปีนี้หังสือกลุ่มนี้มีส่งเข้าประกวดเพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา และมีการออกแบบภาพให้มีเอกลักษณ์ของความเป็นไทยมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่อง