xs
xsm
sm
md
lg

กวีนิพนธ์ของคนหนุ่ม…กวีนิพนธ์ของคนบ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ประเด็นหลักที่ผมต้องการนำเสนอก็คือ การตั้งคำถามต่อเส้นแบ่งของความเป็นคนดีกับคนบ้า เป็นเพราะช่วงที่ผมเริ่มเขียนบทกวี ผมรู้สึกแปลกแยก ก็ในเมื่อเราเรียกตัวเองว่าเป็นคนเขียนกวี แต่ทุกวันนี้ มีใครเขายังอ่านบทกวีกันอยู่บ้างล่ะ ขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามต่อเนื่องไปยังเรื่องทัศนคติ มุมมองของคนส่วนใหญ่ในสังคมกับของตัวเรา เป็นต้นว่า ปัญหาอย่างหนึ่งเราอาจมองเห็นอีกมุมหนึ่งแต่คนส่วนใหญ่เขาเห็นอีกมุม เพราะฉะนั้นถ้าหากคนอื่นเขามองว่าสิ่งที่เขาเชื่อ สิ่งที่เขาเห็นนั้นคือความถูกต้อง แล้วเรามองผิดไปจากเขา นั่นแปลว่าเราบ้าหรืออย่างนั้นหรือเปล่า? แล้วนี่คือภาวะที่สังคมทุกวันนี้มันกำลังเป็นอยู่หรือไม่? ผมสงสัยจึงสะท้อนความคิดผ่านบทกวีที่มีอารมณ์ของความโดดเดี่ยว และค่อนข้างมองโลกในด้านลบ”

ชายหนุ่มตรงหน้า บอกเล่า ถึงแรงบันดาลใจและอารมณ์ที่ปรากฏอยู่ในเนื้องานของตัวเขาเองด้วยน้ำเสียงนุ่มๆ เรียบเรื่อย พร้อมแววตามุ่งมั่นคมเข้ม ขณะเดียวกัน ก็ทอดประกายอ่อนโยนอยู่ภายใต้กรอบแว่นสายตา

เขาคือ กิติคุณ คัมภิรานนท์ นักเขียนหนุ่มประจำกองบรรณาธิการนิตยสารไฮ-คลาส ผู้รับผิดชอบเซคชั่นศิลปะ คอลัมน์แนะนำ-วิจารณ์หนังสือ ทั้งยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงผลักดันระดมสมองกับบรรณาธิการในการเปิดพื้นที่รับผลงานบทกวีของผู้อ่าน ในนิตยสารไฮ-คลาส แต่ผลงานของกิติคุณ ในชื่อ “กวีนิพนธ์ของคนบ้า” คือเหตุผลสำคัญที่ชักนำให้เราเชื้อเชิญเขามาพูดคุย ถามไถ่กันถึงเรื่องเส้นแบ่งความดี ความเลว หรือกระทั่งว่าความต่างของคนบ้ากับคนดี ก่อนโยงใยไปสู่ มนตร์ขลังแห่งบทกวี รวมถึงแวดวงวรรณกรรมในทัศนะของเขา

“ส่วนตัวแล้วผมคิดว่า กวีนิพนธ์ของคนบ้า มันมีอารมณ์รุนแรงอยู่พอสมควรนะครับ เพราะส่วนตัวแล้วผมเชื่ออยู่ลึกๆ ว่าโลกนี้ไม่มีความดีความเลว มันคือสิ่งที่มนุษย์นิยามขึ้น กำหนดขึ้นมาเองแล้วเรียกว่าเป็นความดี-ความเลว แต่ถ้าให้ผมมองอย่างกว้างๆ ผมว่ามันก็เป็นแค่เรื่องของความควรหรือไม่ควรเท่านั้นเอง”

ใช่เพียงทัศนคติที่สอดแทรกไว้ในผลงาน หากเพราะรวมบทกวีคัดสรรด้วยตัวเองเล่มแรกของเขาที่จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ สามารถคว้ารางวัล Jury’s Mention จากเวที YOUNG THAI ARTIST AWARD 2006 ซึ่งประกาศผลไปเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

เมื่อได้ลองพิสูจน์ก็ยากจะปฏิเสธว่า อารมณ์เสียดเย้ย ประชดประชันเมืองใหญ่ ทั้งยังล้อความ “บ้า” ของกวีผู้โดดเดี่ยว ปรากฏให้เห็นอย่างโดดเด่นเพียงใด

“เธอบอกว่าในอณูแห่งความว่าง
ย่อมเจือจางด้วยความมีอันซ่อนสี
รุ่มรวยด้วยลายศิลป์จินตกวี
เป็นความมีที่สัมผัสด้วยวิญญาณ...
...ฉันเถียงเธอว่าความว่างคือความว่าง
ความอ้างว้างคืออ้างว้างที่สดับ
ความโดดเดี่ยวคือโดดเดี่ยวมีเลี้ยวลับ
และความมืดคือการดับแห่งวิญญาณ์
ไม่มีหรอกความมีในอากาศ
ที่กรีดนิ้วระบายวาดคือเพ้อบ้า
ทุกสิ่งล้วนแจ่มชัดแก่สายตา
อันราคาของความว่างคือไม่มี”


หากเมื่อวิพากษ์วิถีเมืองเปรียบเปรยความเป็นทาสวัตถุนิยมของคนเมืองใหญ่ บทกวีของเขาก็คล้ายจะฉุดดึงเราไว้ให้ลองก้าวเดินอย่างช้าๆ ดูบ้าง จากที่ต้องเร่งรีบเป็นหนูติดจั่นในแต่ละวัน

“ณ ขณะ อีกฟากของฟากฟ้า
ชายชราแปดสิบห้าลืมตาใหม่
เพื่อรับภาพแห่งวันอันวิไล
ก่อนหุ้มม่อฮ่อมไปกรำงาน
ขณะคนถือกระเป๋า หลุยส์-วิตตอง
ชายชราแบกกระป๋องมือไม้ด้าน
ขณะงานของคนคือเอกสาร
ชายชรามีงานเป็นต้นไม้
ขณะคนเคาะนิ้วบนแป้นคอมพ์
ชายชราผู้ผ่ายผอมรดน้ำไหล
ขณะคนโทรศัพท์ พร่ำเร็วไว
ชายชราพูดให้ต้นไม้ฟัง...”


“ผมอาจจะเป็นนักเขียน เป็นกวีที่นิสัยไม่ค่อยดีนะครับ เพราะผมขี้เกียจวางพล็อต ผมจะเขียนแบบปล่อยไหลไปเลย แล้วถ้าให้บอกถึงความรู้สึก สำหรับผมแล้วการเขียนบทกวีมีความเป็นธรรมชาติ เวลาเขียนกวีผมจะมีความสุข เคลิบเคลิ้มไปกับเสียงสัมผัส ต่างจากเวลาที่ผมเขียนเรื่องสั้น บางครั้งเขียนไปก็เครียด ใช้เวลานานกว่าบทกวี แล้วก็มีงานออกมาค่อนข้างน้อยมาก” เมื่อเราทราบว่า “อนุภาคอื่นๆ ที่วิ่งวนรอบความรัก” ผลงานรวมเรื่องสั้นของเขา ที่สะท้อนยุคสมัยท่ามกลางกลิ่นกรุ่นของความรักและอารมณ์ด้านอื่นๆ ของมนุษย์ เพิ่งวางแผงเมื่อไม่นาน กิติคุณจึงขยายความให้ฟังถึงความถนัดที่มีต่างกันในการเขียนกวีและเรื่องสั้น

เมื่อถามต่อไปว่า ฉันทลักษณ์แบบไหนที่เขาโปรดปรานเป็นพิเศษ? คำตอบของกวีหนุ่มคนนี้คือ

“มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมเคยติดอยู่ในวังวนของการที่อยากจะเขียนงานเพื่อให้คนอื่นเห็นว่าข้าเก่ง แต่ตอนนี้ผมพาตัวเองออกมาจากวังวนของการติดยึดในฉันทลักษณ์ หรือในรูปแบบแล้ว เพราะมันไม่สำคัญ ผมมองไปถึง “เนื้อใน” ของมันมากกว่า”

กิติคุณบอกว่า เขาไม่ปฏิเสธอารมณ์ความรู้สึกเป็นสุขยามเมื่อได้สดับสัมผัสอันไพเราะของบทกวีในฉันทลักษณ์ต่างๆ ถึงกระนั้น “ผมค่อนข้างเน้นที่แก่น เน้นที่เนื้อของบทกวี ว่าสุดท้ายแล้วมันให้อะไรกับผู้อ่าน นอกจากรูปแบบ นอกจากความไพเราะ ซึ่งความเห็นผมอาจจะไม่ขัดแย้งกับกวีหรือนักอ่านท่านอื่นๆ แต่มันคือสิ่งที่ผมเชื่อ เป็นสิ่งที่ผมศรัทธา และนำมาใช้ในการทำงาน”

การพูดคุยของเราต่อเนื่องไปถึงความเคลื่อนไหวในแวดวงวรรณกรรมไทย เมื่อขอความเห็นต่อประเด็นดังกล่าว แม้จะออกตัวว่า “ผมไม่ใช่คนในแวดวงหรอกครับ” แต่กิติคุณก็แสดงทัศนะทิ้งท้ายบทสนทนาในวันนี้ ได้อย่างน่าสนใจ

“ผมเคยคลั่งไคล้ผลงานของนายผี งานของจิตร ภูมิศักดิ์ ทั้งยังเก็บสะสมวรรณกรรมช่วงยุคเดือนตุลาไว้เป็นกล่องๆ แล้วเมื่อกลับมาอ่านใหม่ ผมก็รู้สึกว่าวรรณกรรมเพื่อชีวิตมันอาจตกยุคไปแล้วจริงๆ เพราะมันไม่รับใช้ยุคสมัยเสียแล้ว ซึ่งผมก็มองว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อเวลาเปลี่ยนผ่านไป แต่ละสิ่งก็ย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไป
กิติคุณมองว่า แนวทางหรือเนื้อหาของงานวรรณกรรมที่โดดเด่นขึ้นมาในระยะนี้ คือวรรณกรรมแนวรับใช้ตัวเอง มีกลิ่นของความเป็นสังคมเมือง

“ในมุมหนึ่งเราอาจมองว่าวรรณกรรมเพื่อชีวิต รับใช้จิตวิญญาณ แต่วรรณกรรมที่รับใช้ตัวเอง สะท้อนยุคสมัย กลับไม่มีจิตวิญญาณ แต่ไม่ว่าอย่างไร สุดท้ายแล้วเราก็อาจทำได้แค่เฝ้ามอง ว่ามันจะเดินไปสู่ทิศทางไหน แต่ผมเชื่อว่าวรรณกรรมที่รับใช้จิตวิญญาณก็ยังคงอยู่นะ เพียงแต่อาจเปลี่ยนรูปไปบ้างตามบริบทของสังคม”
แล้ว “กวีนิพนธ์ของคนบ้า” รับใช้ใคร

“ ผมเขียนบทกวีเพื่อรับใช้ตัวเองและรับใช้ยุคสมัย ผมมองมันอย่างไรผมก็เขียนออกมาเช่นนั้น และเชื่อว่าใครที่อ่านบทกวีของผม ก็น่าจะได้รับความจริงในแง่มุมที่ผมอยากบอก”

บทสนทนาจบลงด้วยคำตอบที่หนักแน่นชวนครุ่นคิด ก่อนบางบทกวีผลงานของเขาที่เราจำขึ้นใจ จะผุดขึ้นมาในห้วงคำนึงราวกับย้ำเตือนคำพูดนั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น