ภาพเขียนของ ‘วรฤทธิ์ ฤทธาคนี’ สงบและงดงามไม่แพ้กวีนิพนธ์เล่มที่ชื่อ “พิมแข” และ “ศรีคำรุ้ง” ที่เขาเสกสรรค์ปั้นคำขึ้นเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน
และเป็นภาพเขียนที่เรียกสติผู้ชมให้คืนสู่ปัจจุบันขณะ อยู่กับภาวะที่แท้จริงของชีวิต แม้ว่าสัญลักษณ์ที่เขาถ่ายทอดผ่านภาพเขียน จะก่อรูปขึ้นมาจากมุมมองและความรู้สึกส่วนตัวของเขาเองก็ตาม
“ผลงานบางชิ้น มันเกิดจากเราได้สติจากการดำเนินชีวิต หรือว่าจิตใจของเรามีเรื่องมากระทบ คนดูไม่จำเป็นต้องเข้าใจเนื้อหาก็ได้ ในขั้นแรกขอเพียง ดูแล้วมีความรู้สึกสบายใจ เกิดสงบขึ้นในจิตใจ ก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องไปตีความหมายอะไร”
ในช่วงเวลาของการเขียนภาพแต่ละภาพ เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่เขาได้ใช้เวลาปัดกวาดสิ่งที่เป็นมลทินออกจากจิตใจ ให้เหลือน้อยที่สุด ดังนั้นหากว่า จะมีรังสีพิเศษอันใดที่สามารถส่งผ่านจากตัวเขาไปสู่ภาพเขียนและส่งต่อถึงผู้ชม เขาก็ได้แต่หวังว่ารังสีนั้นจะเป็นรังสีของความสงบและเยือกเย็น
วรฤทธิ์เล่าว่า ในวัยเด็กความสนใจใคร่รู้ที่เขามีต่อพุทธศาสนาเป็นไปในแง่ของการแสดงอิทธิฤทธิ์และปาฏิหาริย์ แต่เมื่อได้มีโอกาสติดสอยห้อยตามคนในครอบครัวไปทำบุญที่วัด และได้สัมผัสกับบรรยากาศอันเงียบสงบของสถานที่ จึงทำให้เขารักที่จะอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ทำให้จิตใจมีแต่ความสงบร่มเย็น
ชีวิตของการเป็นคนทำงานศิลปะนั้น เอื้อให้เขามีเวลาอยู่กับความคิดและจิตใจของตัวเอง ยิ่งเมื่อเนื้อ หาที่เขาเลือกถ่ายทอดผ่านงานศิลปะ เป็นเรื่องราวของธรรมะก็ยิ่งทำให้เขาสัมผัสกับความสงบได้มาก ขึ้น
“โดยพื้นฐานของการทำงานศิลปะมันจะทำให้คน ที่ทำเกิดสมาธิอยู่แล้ว และถ้าเรื่องที่ทำเป็นเรื่องที่เป็น สิริมงคลด้วย มันก็ยิ่งส่งเสริมให้จิตใจของเรามีสมาธิ”
เมื่อเริ่มสนใจเรื่องสมาธิ วรฤทธิ์จึงเริ่มทดลองฝึกปฏิบัติด้วยตัวเอง และนำแนวทางของแต่ละสำนักมาปรับใช้ เพื่อค้นหาแนวทางที่ดีที่สุด
ขณะเดียวกันเขาได้เพียรพยายามมองหาธรรมะสักข้อที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตได้อย่างสมบูรณ์แบบ
คำว่า “สติ” ได้ผุดขึ้นมาในความคิดของเขาระหว่าง ที่นอนพักรักษาตัวจากอาการเจ็บป่วย
“คำคำนี้ เราได้ยินกันอยู่ทุกวัน ว่าทำอะไรต้องมีสติ พอเราตั้งคำถามกับตัวเอง แล้วคำคำนี้มันผุดขึ้น มา เรารู้สึกว่าเราได้รับคำตอบที่พิเศษมาก เรื่องของสตินี่แหละสำคัญที่สุด”
จากนั้นเป็นต้นมาวรฤทธิ์จึงเริ่มสรรหาหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสติมาศึกษา และหนึ่งในจำนวนนั้นคือ หนังสือสติปัฎฐาน 4 จึงทำให้เขาค้นพบว่าหากชีวิตได้ปฏิบัติตามแนวทางของสติ ชีวิตก็จะไม่มีหลงทาง
“เริ่มทดลองกับตัวเอง แล้วลองเอามาใช้กับการ ทำงานศิลปะด้วย โดยเริ่มที่เรื่องของกายก่อน เพราะคนเราทั่วไป สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราขาดสติเพราะว่าเราไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน
จะขึ้นรถเมล์ จะทำงาน จะหยิบพู่กัน จะบีบสี จะเอื้อมมือหยิบสิ่งของ ต้องมีสติตลอด ผมเอาสติมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตประจำวันทั้งหมดเลย ใครมาเห็นเข้าก็คงจะรู้สึกแปลกๆ แต่เราไม่แคร์อะไร เพราะเรารู้ตัวเองว่าเรากำลังฝึกอะไรอยู่”
วรฤทธิ์กล่าวว่าคนเราส่วนใหญ่มักจะคิดไปอดีต คิดไปอนาคต แต่ไม่ยอมอยู่กับปัจจุบัน หรืออยู่กับภาวะที่เรียกว่าสติ เช่นนี้จึงสั่นคลอนถึงเป้าหมายที่วาดหวัง
“คนทั่วไป กายทำสิ่งหนึ่ง แต่ใจมักคิดไปที่อื่น เราขับรถไปเกิดอุบัติเหตุ สาเหตุหนึ่งก็เพราะใจคิดไปถึงคนโน้น คิดไปถึงคนนี้ หรือคิดไปที่ทำงาน ต่อไปนี้ไม่ว่าเราจะทำอะไรให้คิดเสมอว่าปัจจุบันสำคัญที่สุด ถ้าเราทำปัจจุบันไม่ดี หลายสิ่งที่ตั้งใจและคิดหวังไว้ ก็อาจไปไม่ถึง”
ตลอดมาหลายสิบปีการได้ใช้ชีวิตอย่างมีสติและผสานกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับงานศิลปะที่ทำ จึงทำให้ผู้ชมหลายๆคนไม่เกิดความสงสัยเลยว่า เหตุใดวรฤทธิ์จึงเคยตั้งชื่อนิทรรศการศิลปะครั้งสำคัญของตัวเองว่า “ชีวิตจิตใจ”
“ชีวิตจิตใจ มันก็คือผลผลิตของงานศิลปะที่มันอิงอาศัยกับวิถีชีวิตของเรา และเราได้ใช้ชีวิตเราทั้ง หมดให้เป็นเนื้อเดียวกับงานศิลปะ คนที่ทำงานอาชีพ อื่น หากเอาธรรมะมาประยุกต์ใช้กับอาชีพของตัวเอง มันก็จะเกิดเป็นชีวิตจิตใจในแบบของพวกเขา ส่วนผมทำงานศิลปะ ผลที่ได้มันก็ออกมาในรูปของศิลปะ”
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 100 มี.ค. 52 โดยฮักก้า)