xs
xsm
sm
md
lg

“หม่อมถนัดศรี-สรพงศ์” สุดปลื้มรับศิลปินแห่งชาติปี 51

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สรพงษ์ ชาตรี
“หม่อมถนัดศรี-สรพงศ์” ศิลปินแห่งชาติปี 51 “สรพงศ์” เผยเป็นเกียรติสูงสุด เผยหลักชีวิตความซื่อสัตย์ ทำความดี กวช.เตรียมเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษให้ศิลปินแห่งชาติจาก 12,000 บาท เป็น20,000 บาท กรณีสร้างสรรค์ผลงาน-มีงานสอนให้ลูกหลานชัดเจน

เมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) พร้อมทั้งนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัด วธ.และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ศ.พิเศษ ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง ร่วมกันแถลงข่าวผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ปี 2551 ผลปรากฏว่า ผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติ 3 สาขา มีดังนี้ 1.สาขาทัศนศิลป์ ได้แก่ รศ.อิทธิพล ตั้งโฉลก (จิตรกรรม) 2.สาขาวรรณศิลป์ ได้แก่ นายอดุล จันทรศักดิ์

3.สาขาศิลปะการแสดง มีผู้ได้รับยกย่อง 5 คน ได้แก่ หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง), นายประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว (นาฏศิลป์-โขน), พลเรือตรี วีระพันธ์ วอกลาง (ดนตรีสากล), นายศิริ วิชเวช (คีตศิลป์) และ นายกรีพงศ์ เทียมเศวต หรือ สรพงศ์ ชาตรี (นักแสดงภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์) ส่วนสาขาศิลปสถาปัตยกรรม ไม่มีผู้ผ่านการคัดเลือก เนื่องจากไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ


นายธีระ กล่าวต่อไปว่า สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกศิลปินแห่งชาตินี้ ประกอบด้วย 3 หลักเกณฑ์ใหญ่ ดังนี้ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญและมีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับของวงการศิลปะแขนงนั้น เป็นผู้มีคุณธรรม มีผลงานที่ยังประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ ได้รับรางวัลหรือเกียรติคุณระดับท้องถิ่น ระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ ซึ่งมีกระบวนการพิจารณาเป็นมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ โดยศิลปินแห่งชาติปี 2551 จะเข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2552 และจะมีการจัดงานแสดงความยินดีพร้อมนิทรรศการเชิดชูเกียรติฯ ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งเป็นวันศิลปินแห่งชาติ โดยเหล่าศิลปินแห่งชาติทั้งในอดีตและปัจจุบัน ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

นายกรีพงศ์ เทียมเศวต หรือสรพงศ์ ชาตรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง กล่าวว่า ตนรู้สึกยินดี และเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลที่ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ ซึ่งตนได้ทำอาชีพนักแสดงมาด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเกือบจะ 50 ปีแล้ว ไม่เคยมีอาชีพอื่น เพราะอาชีพนี้ตนเข้ามาด้วยความรัก และอาชีพนี้ได้ตอบแทนเรา ตนจึงได้นำสิ่งที่เราได้รับจากอาชีพนักแสดงมาตอบแทนสังคม โดยไม่ได้นำชื่อสรพงศ์ไปทำชั่วไปเบียดเบียนสังคม สิ่งที่ได้รับในครั้งนี้ ถือว่าได้รับจากความซื่อสัตย์สุจริต ถือเป็นสิริมงคลแก่ครอบครัวของตนเอง

“ผมเด็กท้องทุ่ง พ่อ แม่ ปู่ย่า ตายาย ไม่เคยมีใครเป็นดารา ไม่เคยได้เรียนมหาวิทยาลัยที่สอนการเป็นดารา ดังนั้น สิ่งที่ได้มาต้องอาศัยความซื่อสัตย์ และอยากฝากถึงน้องนักแสดงรุ่นใหม่หรือคนรุ่นใหม่ว่า ต้องซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ทำความดีทั้งต่อหน้า และลับหลัง ไม่หวังผลตอบแทน ดังพระราชดำรัส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ผมได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติแล้ว พร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง” สรพงศ์ กล่าว

รศ.อิทธิพล ตั้งโฉลก ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติในปี 2551 ซึ่งจากนี้ไปตนจะมุ่งมั่นทำงานเพื่อส่วนรวมตามความสามารถที่มีอยู่ ซึ่งตนคิดว่า การที่เราได้รับคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาตินั้น เป็นเพราะผลงานที่ตนได้ทำมาต่อเนื่องไม่ใช่ทำแค่ชิ้นสองชิ้น หรือ แค่วันสองวัน ซึ่งตนก็อยากจะฝากให้เด็กรุ่นใหม่สนใจศิลปะ

ด้านนายปรีชา กันธิยะ เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) กล่าวว่า นับตั้งแต่เริ่มโครงการศิลปินแห่งชาติมาเมื่อปีพุทธศักราช 2527 และประกาศผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติในปีแรกเมื่อพุทธศักราช 2528 จนปัจจุบัน มีศิลปินสาขาต่างๆ ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติแล้วรวม 187 คน เสียชีวิต 72 คน สำหรับผู้ที่ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ จะได้รับเงินตอบแทนประจำตำแหน่ง เดือนละ 12,000 บาท และสามารถเบิกเงินสวัสดิการเพื่อการรักษาพยาบาลได้ตามระเบียบราชการ รวมทั้งมีค่าช่วยเหลือเมื่อประสบสาธารณภัย และหากเสียชีวิตจะมีค่าช่วยเหลืองานศพ 15,000 บาท พร้อมค่าจัดทำหนังสือที่ระลึก 120,000 บาท

“สำหรับเงินเดือนศิลปินแห่งชาติปัจจุบันได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 12,000 บาทนั้น ผมได้เสนอให้ต่อที่ประชุมคณะกรรมการใหญ่กองทุนศิลปินแห่งชาติ เพื่อพิจารณาให้ค่าตอบแทนเพิ่มเป็นเดือนละ 20,000 บาท ในกรณีศิลปินแห่งชาติที่สร้างสรรค์ผลงานเพิ่มเติม มีการสอน และถ่ายทอดให้กับลูกหลานอย่างชัดเจน โดยพิจารณาเป็นรายๆ ไป ส่วนศิลปินอื่นๆจะได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 12,000 บาท เป็นมาตรฐานเดิม หากทางประธานบอร์ดกองทุนศิลปินฯ เห็นชอบจะมีผลบังคับใช้ทันที ถือเป็นข่าวดีสำหรับศิลปินแห่งชาติทุกท่าน”นายปรีชา กล่าว




สำหรับประวัติศิลปินแห่งชาติปี 2551 มีดังนี้ รศ.อิทธิพล ตั้งโฉลก สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) อายุ 62 ปี เกิดวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2489 ที่กรุงเทพมหานคร จบการศึกษาศิลปะจากโรงเรียนช่างศิลป์ และได้รับปริญญาศิลปบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 (ภาพพิมพ์) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และปริญญาศิลปมหาบัณฑิต (จิตรกรรม) จากมหาวิทยาลัยแห่งวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา โดยเริ่มรับราชการในตำแหน่งอาจารย์ตรี คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้เกษียณอายุในตำแหน่งรศ. ระดับ 9 คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รศ.อิทธิพล เป็นทั้งศิลปิน และอาจารย์สอนศิลปะ ยังคงสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 40 ปี

นายอดุล จันทรศักดิ์ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์ บทความ) อายุ 62 ปี นามปากกา “ธารี” และ “อัคนี หฤทัย” ฯลฯ เกิดที่จังหวัดปราจีนบุรี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง ทั้งนี้นายอดุลเริ่มแต่งร้อยกรองตั้งแต่ยังเรียนมัธยม โดยมีผลงานกลอนรวมเล่มกับนักกลอนร่วมสมัยหลายเล่ม และได้สร้างสรรค์ผลงานกวีนิพนธ์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเขียนบทกวีประจำในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ โดยผลงานที่ได้รับรางวัล อาทิ ดอกไม้ไฟ ได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯในฐานะหนังสือดีเด่น ประเภทกวีนิพนธ์ ของคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ พ.ศ. 2538 ทั้งนี้ผลงานของนายอดุล มีความโดดเด่นในด้านพัฒนาการทางความคิด ทางอารมณ์และเปี่ยมด้วยพลังทางวรรณศิลป์

ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล – ขับร้อง) อายุ 81 ปี เกิด 28 พฤษภาคม 2470 ที่วังเพชรบูรณ์ จบการศึกษาระดับเตรียมปริญญา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวารสารศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานิเทศศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งเป็นผู้มีความสามารถเฉพาะตัวด้านการขับร้อง ศิลปะการแสดง การพูด และการเขียนบทความ โดยเฉพาะการขับร้องเพลงไทยสากล มีเทคนิคการร้องเพลงที่เป็นแบบเฉพาะของตนเอง และมีผลงานเพลงที่ขับร้องอัดแผ่นเสียง รวมกว่า 200 เพลง อาทิ เพลงสีชัง ทะเลระทม วานลมจูบ ทำไมหนอ ตราบสิ้นลม ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์งานด้านอื่น ๆ เช่น การทำศูนย์อาหารเชลล์ชวนชิม จัดรายการครอบจักรวาล จัดรายการวิทยุโทรทัศน์ จนได้รับรางวัลเสาโทรทัศน์ทองคำ ในฐานะจัดรายการดีเด่น

นายประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว ศิลปิน (นาฏศิลป์-โขน) อายุ 67 ปี เกิดวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2484 ศึกษาที่โรงเรียนนาฏศิลป์ โดยเลือกศึกษาประเภทโขนลิง มีความสามารถในด้านการแสดง จึงได้รับการสืบทอดและร่วมแสดงโขนกับครูกรี วรศะริน จนสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชานาฏศิลป์ชั้นสูง ต่อมาได้รับราชการในตำแหน่งศิลปินจัตวา กองการสังคีต กรมศิลปากร และได้เลื่อนตำแหน่งมาตามลำดับ ตำแหน่งสุดท้ายคือ ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลป์ นายประสิทธิ์ เป็นศิลปินที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการแสดงโขนลิงเป็นอย่างมาก จึงได้รับมอบหมายให้แสดงเป็นหนุมานแทบทุกตอน อาทิ ฉุยฉายหนุมาน ลงสรงโทน หนุมานทรงเครื่อง เป็นต้น และล่าสุดเป็นผู้สร้างสรรค์ท่าเต้นโขนลิงประกอบการแสดงเรื่องรามเกียรติ์ของกรมศิลปากร ชุดโขนวานรพงศ์ ในงานพระราชพิธีพระเมรุพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

พล.ร.ต. วีระพันธ์ วอกลาง สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) อายุ 62 ปี เกิดเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2488 สำเร็จการศึกษา L.R.A.M. จาก Royal Academy of Music และ L.T.C.L. จาก Trinity College of Music กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ รับราชการเป็นนักดนตรีเล่นไวโอลินในวงดุริยางค์ของกองดุริยางค์ทหารเรือ ต่อมาเป็นวาทยกร วงดุริยางค์ทหารเรือ และได้ร่วมก่อตั้งวง Pro Musica และวง Bangkok Symphony Orchestra วางรากฐาน และพัฒนานักดนตรีในฐานะผู้อำนวยเพลง จนได้มาตรฐานสากล มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ยอมรับอย่างสูง ตลอดระยะเวลารวม 40 ปี และได้ร่วมก่อตั้งสถาบัน Bangkok Symphony Music School ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนเครื่องสายทุกชนิด ผลิตนักดนตรีเครื่องสายที่มีฝีมือหลายรุ่น มีผลงานการประพันธ์เพลงและเรียบเรียงเสียงประสานให้กับหน่วยราชการของกองทัพเรือโรงเรียนและบุคคลทั่วไปเช่น เพลงทหารพรานนาวิกโยธิน “นักรบชุดดำ” เพลงมาร์ชศรีธานี เป็นต้น

นายศิริ วิชเวช สาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์) อายุ 76 ปี เกิดวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2475 ที่ กรุงเทพมหานคร สำเร็จการศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศึกษาดนตรีไทยทั้งทางร้องและทางเครื่องกับบิดา ครูฟุ้ง วิชเวช จนสามารถร้องเพลงและบรรเลงเพลงได้เป็นอย่างดี ทางร้องเรียนเพลงตับพรหมมาสตร์ ตับนางลอย และเพลงอื่น ๆ อีกหลายเพลง ทางเครื่องเรียน ปี่พาทย์และเครื่องสาย นายศิริ มีความสามารถสร้างสรรค์ดนตรีไทยอย่างมากมาย อาทิ คิดค้นวิธีทำไม้กรับเสภาให้มีเสียงไพเราะ เป็นรูปแบบมาตรฐานของกรับเสภา ตามระเบียบวิชาดุริยางคศาสตร์ไทย เขียนหลักสูตรการขับเสภาตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงระดับปริญญาเอก ของทบวงมหาวิทยาลัย ฟื้นฟูประเพณีเห่ช้าลูกหลวง ประพันธ์ทางร้องเพลงเชิดจีนสามชั้น ทางขับเสภาจีน ทางขับเสภาแขก ทางขับเสภาพม่า ทางขับเสภามอญ ฯลฯ

นายกรีพงศ์ เทียมเศวต (สรพงศ์ ชาตรี) สาขาศิลปะการแสดง (นักแสดงภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) อายุ 59 ปี เกิดวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2492 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ ๔ และบรรพชาเป็นสามเณรจนอายุ 19 ปี มีความสนใจงานด้านการแสดงชอบดูหนังกลางแปลงมาตั้งแต่เด็กจึงไปสมัครเป็นนักแสดงที่ทีวีช่อง7 สี ต่อมาได้แสดงฉากโดดลงไปช่วยคนตกน้ำในเรื่อง “หญิงก็มีหัวใจ” ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล เป็นเรื่องแรก นายกรีพงศ์ มีผลงานการแสดง ตั้งแต่ พ.ศ. 2514จนถึงปัจจุบัน มากกว่า 500 เรื่อง ละคร 50 เรื่อง อาทิ แผลเก่า มันมากับความมืด สุริโยทัย นเรศวร เป็นต้น จนได้รับฉายาพระเอกชั้นครูและพระเอกตลอดกาล ได้รับรางวัลมากที่สุดในวงการภาพยนตร์ไทย อาทิ รางวัลตุ๊กตาทอง 5 รางวัลรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ 2 รางวัล รางวัลดาราทอง รางวัลดาราดาวรุ่งยอดเยี่ยม รางวัลเพชรสยาม รางวัลบันเทิงเทิดธรรม Nine Entertain Award 2008

หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์
นายอดุล จันทรศักดิ์ สาขาวรรณศิลป์
รศ.อิทธิพล ตั้งโฉลก (จิตรกรรม)
นายประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว (นาฏศิลป์-โขน)
นายศิริ วิชเวช (คีตศิลป์)
พลเรือตรี วีระพันธ์ วอกลาง (ดนตรีสากล)
กำลังโหลดความคิดเห็น