xs
xsm
sm
md
lg

คนดังมีดี : ตั้งสติให้ดีในปีใหม่ จากใจกวีซีไรต์ ‘เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในวัย 68 ปีของชีวิต ‘เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์’ เจ้าของรางวัลซีไรต์ พ.ศ.2523 จากกวีนิพนธ์รวมเล่มเรื่อง ‘เพียงความเคลื่อนไหว’ บอกเล่าว่า ครูคนแรกที่มีส่วนสร้าง ให้เขากลายมาเป็นกวีที่มีชื่อเสียงในวันนี้คือคุณพ่อ
ที่จังหวัดสุพรรณบุรีบ้านเกิด เมื่อจำความได้ นอกจากพ่อจะจับมือให้เขียน ก.ไก่ ข.ไข่...พ่อยังสอนให้ท่องบทกวี บทกลอน และโคลงต่างๆ จึงทำให้วัยเด็กของเขามีความคุ้นชินในจังหวะจะโคนของถ้อยคำต่างๆเป็นอย่างดี
ส่วนในเรื่องของการเขียนบทกวี เนาวรัตน์กล่าวว่าเขามี บทกวีของกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์อย่าง ‘สุนทรภู่’ เป็นแม่แบบ เนื่องจากบทกวีของสุนทรภู่นั้น มีความกระชับ ชัดเจน ไพเราะทั้งคำและจังหวะ
กวีอาวุโสไม่รอช้า ร่ายบทกวีหรือบทกลอนของสุนทรภู่ซึ่งถือเป็นกลอนครูสำหรับเขาให้ได้ฟังสดๆ
ถึงยามค่ำย่ำฆ้องจะร้องไห้
ร่ำพิไรรัญจวนหวนละห้อย
โอ้ยามดึกดาวเคลื่อนเดือนก็คล้อย
น้ำค้างย้อยเย็นฉ่ำที่อัมพร

จังหวะจะโคนของถ้อยคำ และเสียงสูงเสียงต่ำของตัวอักษร คือสิ่งที่เนาวรัตน์ย้ำว่า เป็นหัวใจสำคัญในการเขียนบทกวีที่จะต้องจับเอาไว้ให้มั่น เมื่อใดที่คิดจะแต่งบทกวีสักบท ก็จะสามารถแต่งได้เป็นอัตโนมัติ
เขาเห็นว่าบทกวีและงานศิลปะทั้งปวงคือสื่อของอารมณ์และความรู้สึก
“ในอารมณ์และความรู้สึก มันก็จะมีความนึก ความคิดอยู่ด้วย เพราะใจคนมันมีอยู่สามอย่างคือ รู้สึก นึก คิด รู้สึกเป็นปัจจุบัน นึกเป็นอดีต คิดเป็นอนาคต ถ้าเราตามดูจิตของเราไปตลอดเวลา เราก็จะมองเห็น เพราะจิตของเรามันถูกกำหนดอยู่ในสามกาละนี้ ถ้าเป็นธรรมะเขาก็ เรียกว่า เวทนา สัญญา สังขาร เวทนาคือรู้สึก สัญญาคือจำได้หมายรู้หรือนึก สังขารคือปรุงความคิด
รู้สึก นึก คิด เป็นกระบวนการทางจิตที่ขันธ์ 5 บอกไว้ พูดเรื่องกายกับจิต ทุกข์ก็คือส่วนที่เป็นกาย เวทนา สัญญา สังขาร ส่วนวิญญาณนี้คือตัวรู้ในตัวเรา วิญญาณหรือมโนภาพ ซึ่งถ้าเรารู้ขันธ์ 5 เราก็จะรู้ทางลัด นั่นคือรู้จักตัวเอง”
ดังนั้นทุกเรื่องในชีวิตที่ก่อให้เกิดความรู้สึก เนาวรัตน์จะกลั่นออกมาเป็นผลงานประเภทร้อยกรอง นั่นคือ บทกวี
“ส่วนเรื่องที่มันไม่ให้ความรู้สึก เราก็เขียน ไม่จำเป็นต้องเขียนเป็นบทกวี เขียนเป็นร้อยแก้วก็ได้ บทกวีมันเป็นสารจากความรู้สึก มจ.จันทร์จิรายุ รัชนี หรือ ว.ณ ประมวญมารค บอกว่า บทกวีมันคือการร่ายรำของภาษาคำเก่า อย่างแต่งกลอน หรือแต่งหนังสือ ซึ่งแต่งในที่นี้หมายถึงเรา แต่งตัวให้มัน นั่นคือ แต่งให้ตัวหนังสือ ให้มันงดงาม มันถึงจะเป็นกลอน ที่พร้อมจะออกมาร่ายรำได้ คำว่าแต่งมัน จึงมีความหมาย มีนัยยะดี”
หนึ่งชีวิตนี้ของเขาเคยผ่านการบวชมาแล้วครั้งหนึ่ง ภายหลังที่จบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ก่อนจบผมมีความสนใจธรรมะมาก่อนแล้ว โดยเฉพาะ ธรรมะของท่านพุทธทาส เพราะผมเรียนกฎหมาย และเคย อยู่ในช่วงที่มีความทุกข์มากๆ พอได้อ่านหนังสือของท่านพุทธทาส เลยทำให้เราเข้าใจกระบวนการของจิตใจของเรา ว่ามันปรุงแต่งขึ้นมาเป็นความทุกข์ได้อย่างไร ที่ผ่านมาเรารู้ไปข้างนอกตัวตลอดเวลา แต่เราไม่เคยรู้มาในตัว แต่พอเราสนใจธรรมะ มันทำให้เรารู้เข้ามาในตัว เวลาทุกข์ ส่วนใหญ่เรามักจะมัวไปคร่ำ ครวญกับอาการของความทุกข์ ไม่หยุดมาดูว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ผมสนใจงานท่านอาจารย์พุทธทาส อ่านมากๆเข้า ก็เลยทำให้อยากจะบวช”
พ้นหนึ่งพรรษาของการบวชเป็นพระที่วัดในจังหวัดกาญจนบุรี จึงออกธุดงค์ไปที่สวนโมกข์ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ทำให้ได้ฟังธรรมจากท่านพุทธทาสโดยตรง และขณะที่อยู่คนเดียวในกุฏิกลางป่าเขาได้ใช้เวลาส่วนหนึ่งไปกับการบันทึกความคิดของตัวเองและสิ่งที่พบเห็นในแต่ละวัน
ซึ่งสิ่งที่ชีวิตได้จากการบวชมากที่สุดเนาวรัตน์บอกว่า คือการได้ตามดูกระบวนการทางจิตของตัวเองอย่างลึกซึ้ง
“พอเราเข้าใจจิตของเรา เราก็เข้าใจจิตของคนอื่น แต่ละคนก็เหมือนกันทั้งนั้นแหละ รู้สึก นึก คิด เพียงแต่เรามีสติตามดูมันทันหรือเปล่า พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า ผมตามดูมันทันนะ บางทีก็ไม่ทันมันหรอก เพราะจิตมันไว ถ้าเราไม่ฝึกดูมัน การเขียนหนังสือกับการอ่านหนังสือ ก็เหมือนการฝึกจิตให้อยู่กับตัว การอ่านหนังสือคือการอ่านความคิดของคนอื่น การเขียนหนังสือคือการอ่าน ความคิดของตัวเราเอง”
ธรรมะจึงมีอิทธิพลต่อการสร้างงานเขียนของเขาจนกระทั่งวันนี้
“เพราะว่าธรรมะนี่แหละที่ทำให้เรามีทัศนะในการมอง เรื่องราวต่างๆที่จะนำมาเขียนได้ชัดเจนขึ้น หยั่งไปถึงเหตุถึงผล”
แผ่วผ่านธารน้ำไหล, มุมที่ไม่มีเหลี่ยม, ดาบที่หมกอยู่ในจีวร, มืดจริงหนอฯลฯ เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานเขียนทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองนับสิบเล่ม ที่เนาวรัตน์ได้รับแรงบันดาลใจมาจากธรรมะและการใช้ชีวิตสมณเพศ โดยเฉพาะ ‘แผ่วผ่านธารน้ำไหล’ เป็นบันทึกของอารมณ์และความรู้สึกระหว่างที่อยู่สวนโมกข์กระทั่งลาสิกขา
พอสึกเราก็ไปลาท่าน ว่าจะออกไปปฏิบัติหน้าที่การงานต่างๆ อยากจะได้คติธรรม เตือนสติตัวเอง ท่านอาจารย์ก็บอกว่าทำจิตให้เป็นปกติ คำนี้มีความหมายมาก เพราะถ้าเราศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม คำว่าปกติก็คือไม่ทุกข์ ความทุกข์แปลว่าทนเป็นปกติอยู่ไม่ได้ ทนอยู่ได้ยาก จิตของเรา นี่ เวลาเรามีความสุข สนุกสนาน จิตมันฟู เวลาโศกเศร้า จิตมันแฟบ จิตที่ไม่ฟูก็แฟบนี้มันเหนื่อย เพราะอยู่กับการฟู การแฟบ หรือความสุข ความเศร้า ตลอดเวลา นั่นคืออยู่ เป็นปกติไม่ได้ ฉะนั้นทำจิตให้เป็นปกติ เป็นทางลัดสั้นที่สุดที่จะไม่มีทุกข์”
‘แผ่วผ่านธารน้ำไหล’ มีการตีพิมพ์เพื่อจัดจำหน่ายให้กับผู้สนใจทุกปี คำว่า “ธารน้ำไหล” ตั้งมาจากชื่อของสวนโมกข์ที่มีอีกชื่อว่า “วัดธารน้ำไหล” ส่วนคำว่าแผ่วผ่านเนาวรัตน์อธิบายว่า
“ผมไปอยู่เพียงชั่วครู่ชั่วคราว ก็เหมือนลมที่มันแผ่วผ่านไปเท่านั้นเอง”
นอกจากนี้ยังมีบทกลอนอีกนับไม่ถ้วน ที่เนาวรัตน์ได้สอดแทรกเนื้อหาของธรรมะเข้าไปด้วย
อย่าเอาแต่สงบเย็นเห็นโทษแท้
อย่าเอาแต่เป็นประโยชน์จิตโลดเร่า
สงบเย็นเป็นประโยชน์ลดมัวเมา
ส่วนตนเอาเผื่อแผ่แก่ส่วนรวม

“ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยบอกว่า สงบเย็นเป็นประโยชน์ เพราะว่าคนเราส่วนใหญ่แล้ว เอาแต่เป็นประโยชน์ แต่ไม่สงบเย็น หรือบางคนเอาแต่สงบเย็นแต่ไม่เป็นประโยชน์ เช่น ชอบเข้าวัด นั่งทางใน แต่พอออกมานอกวัดก็เร่าร้อนอีก บางคนก็ทำกิจกรรมวุ่นวาย บำเพ็ญประโยชน์เยอะแยะ แต่ไม่สงบเย็น ถ้าเช่นนั้นจะทำอย่างไรให้สงบเย็นและเป็นประโยชน์ จะได้สมดุล บทกวีนี้อยู่ในหนังสือ ชื่อ “หนึ่งได้แรงใจ” อันเป็นบทความเกี่ยวกับธรรมะสั้นๆแล้วก็มีกลอนตอนท้าย”
เพราะเชื่อว่าทุกวันเป็นวันดี ขอเพียงทำจิตใจเราให้ดี เมื่อเทศกาลปีใหม่เวียนมาถึงจึงหาได้เป็นวันที่มีความพิเศษแตกต่างจากวันอื่นๆ เขายังคงใช้ชีวิตไม่ต่างจากทุกๆ วัน และตามดูจิตใจของตัวเองอยู่ทุกขณะ ด้วยเหตุนี้พรปีใหม่ที่กวีอาวุโสอยากฝากถึงทุกคนก็คือ การตั้งสติให้อยูในความไม่ประมาท
“ถ้าเรามาติดตามดูจิตใจอยู่ทุกขณะ เราก็จะตั้งมั่นอยู่ในความไม่ประมาท เพราะช่วงการผ่านเปลี่ยนของปี มันมีคนประมาทเยอะ ถึงเราจะระวัง เราก็ล้มได้ ระวังเท่าไหร่ ก็ล้มได้ ทางมันลื่นเยอะ ยิ่งปีนี้เป็นปีที่มีการเปลี่ยนผ่านของอะไรเยอะแยะ เราต้องตั้งรับกับมันให้ได้ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม จะเป็นสึนามิใหญ่ที่โหมทับ ถ้าเราตั้งสติไม่ทัน รู้ไม่เท่าทัน ช่วยตัวไม่ได้ ใช้ตัวไม่เป็น เราก็จะตกเป็นเหยื่อ ปีใหม่ก็เป็นโอกาสให้เราตั้งสติ ตั้งรับกับมันให้ได้”

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 98 ม.ค. 52 โดยพรพิมล)
กำลังโหลดความคิดเห็น