xs
xsm
sm
md
lg

ประกาศผลแล้ว"เสกสรรค์-ปรีชา-มัณฑนา" เป็นศิลปินแห่งชาติปี 52

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ด้านเรื่องสั้น สารคดี นวนิยาย กวีนิพนธ์
ประกาศผลศิลปินแห่งชาติ 2552 คนดังติดชื่อรับ “ปรีชา เถาทอง” สาขาทัศนศิลป์ “เสกสรรค์ ประเสริฐกุล” สาขาวรณศิลป์ “มัณฑนา โมรากุล” สาขาศิลปะการแสดง ขณะที่วธ.ออกโรงแก้ต่างไม่ได้ทอดทิ้งศิลปิน-เงินกองทุนศิลปินแห่งชาติพอเลี้ยงตัวเอง แต่สัญญาว่าปีหน้าจะเพิ่มกิจกรรมในมิติของศิลปินแห่งชาติมากขึ้น

วันนี้(7 ม.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นายธีระ สลักเพชร รมว.วัฒนธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ประกาศผลการคัดเลือกศิลปินที่ได้รับเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติใน 3 สาขา ได้แก่ ทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ และ สาขาศิลปะการแสดง ประจำปีพ.ศ.2552 มีรายชื่อดังต่อไปนี้

1. ศ.ปรีชา เถาทอง สาขาทัศนศิลป์ ด้านจิตรกรรม
2. นายองอาจ สาตรพันธุ์ สาขาทัศนศิลป์ ด้านสถาปัตยกรรมร่วมสมัย
3. นางเพ็ญพรรณ สิทธิไตรย์ สาขาทัศนศิลป์ ด้านประณีตศิลป์- แกะสลักเครื่องสด
4. นายวรนันทน์ ชัชวาลทิพากร สาขาทัศนศิลป์ด้านภาพถ่าย
5. นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล สาขาวรรณศิลป์ ด้านเรื่องสั้น สารคดี นวนิยาย กวีนิพนธ์
6. นายจตุพร รัตนวราหะ สาขาศิลปะการแสดง ด้านนาฏศิลป-โขน
7. นายอุทัย แก้วละเอียด สาขาศิลปะการแสดง ด้านดนตรีไทย
8. นางมัณฑนา โมรากุล สาขาศิลปะการแสดง ด้านดนตรีไทยสากล-คำร้อง
9. นายประยงค์ ชื่นเย็น สาขาศิลปะการแสดง ด้านดนตรีไทยลูกทุ่ง-ผู้เรียบเรียงเสียงประสาน

อย่างไรก็ตามภายหลังการประกาศรายชื่อศิลปิน รมว.วัฒนธรรม ได้เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวว่า กองทุนศิลปินแห่งชาติมีงบประมาณเหลือเพียง 3 ล้านบาทนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจคลาดเคลื่อน เนื่องจากเงินจำนวนี้นี้เป็นงบประมาณของวัฒนธรรมจังหวัดที่จะได้รับเป็นปกติ และใช้ในกิจกรรมวัฒนธรรมในแต่ละจังหวัดเท่านั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานด้านศิลปินแห่งชาติแต่อย่างใด ตนขอให้สังคมอย่ากังวล และยืนยันว่าวธ.จะดูแลศิลปินแห่งชาติเป็นอย่างดี ซึ่งมีค่าตอบแทนให้เดือนละ 20,000 บาท อีกทั้งยังได้สิทธิการเบิกค่ารักษาพยาบาลตามระเบียบราชการ

"กรณีเงินกองทุนศิลปินที่ว่าถังแตกนั้นเป็นข่าวคลาดเคลื่อนทาง เพราะวธ.มีเงินทุนอยู่ 315 ล้านบาทเป็นเงินที่จะไม่แตะต้องเงินต้น แต่จะนำดอกเบี้ยมาใช้ ซึ่งได้ประมาณปีละ 8 ล้านบาท ในจำนวนนี้จะใช้จัดกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปินแห่งชาติในรอบปี อีกทั้งในปี 2553 นี้ รบ.ได้ให้เงินงบประมาณลงมา 39.6 ล้านบาท ถือว่าน่าจะเพียงพอ"

นายธีระ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ วธ.ผลักดันให้ศิลปินแห่งชาติถ่ายทอดความรู้ให้เด็กและเยาวชนมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะส่งเสริมกิจกรรมของศิลปินแห่งชาติให้มากขึ้นด้วย รวมถึงจะพยายามส่งเสริมงานด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในมิติของศิลปินแห่งชาติด้วย

“เราดูแลศิลปินแห่งชาติและผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมที่เจ็บป่วยทั้งสิ้น 232 ครั้งใช้งบ 4.5 ล้านบาท ปีที่แล้วสูญเสียศิลปินแห่งชาติ 14 ท่านถือว่ามากทีเดียว ซึ่งศิลปินแห่งช่าติที่ป่วยขณะนี้เช่นครูหวังเต๊ะ วธ.ได้ดูแลอย่างต่อเนื่องมีเจ้าหน้าที่คอยถามอาการที่โรงพยาบาลและตามถึงบ้าน นอกจากนี้กองทุนศิลปินแห่งชาติก็ไม่ได้หวังพึ่งแต่รัฐบาล ได้พยายามจัดกิจกรรมเพื่อหารายได้ช่วยเหลือศิลปินที่ป่วยอย่างเต็มที่อยู่แล้ว ฉะนั้นประชาชนไม่ต้องเป็นห่วง” นายธีระ กล่าวและว่า สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกศิลปินแห่งชาติในปีนี้ ประกอบด้วย 3 หลักเกณฑ์ใหญ่ ดังนี้ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญและมีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับของวงการศิลปะแขนงนั้น เป็นผู้มีคุณธรรม มีผลงานที่ยังประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ ได้รับรางวัลหรือเกียรติคุณระดับท้องถิ่น ระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ ซึ่งในปีนี้มีผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวนมาก และมีกระบวนการพิจารณาอย่างละเอียดมากที่สุดโดยศิลปินแห่งชาติปี 2552 จะเข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 24 ก.พ. นี้ เนื่องในวันศิลปินแห่งชาติ ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

สำหรับประวัติโดยย่อของศิลปินแห่งชาติทั้ง 9 คนมี ดังนี้

 **ศ.ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ  สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)
ปัจจุบันอายุ 61 ปี เกิดเมื่อวันที่ 27 เม.ย. พ.ศ. 2491 ที่กทม.จบการศึกษาศิลปะจากโรงเรียนเพาะช่าง  ได้รับปริญญาศิลปะบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 2 (จิตรกรรม) จากม.ศิลปากร และปริญญาศิลปะมหาบัณฑิต (จิตรกรรม) จากม.ศิลปากร ได้รับทุนไปศึกษาที่ L’ Academia di belle Arte ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี เริ่มรับราชการในตำแหน่งอาจารย์โท คณะจิตรกรรม ประติมากรรม  และภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร เกษียณอายุในตำแหน่งศาสตราจารย์ ระดับ 9 คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร
 

ศ.ปรีชาเป็นศิลปินที่มีแนวคิดที่ทันสมัย  สามารถสร้างสรรค์ผลงานให้เกิดดุลยภาพระหว่างการอนุรักษ์กับการพัฒนาศิลปะให้เป็นแนวทางสร้างสรรค์ศิลปกรรมไทยร่วมสมัยอย่างมีเอกลักษณ์ ทั้งทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนศิลปะและผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ  ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม เมื่อ พ.ศ. 2522  นับว่าเป็นอาจารย์สอนศิลปะร่วมสมัยที่มีคุณูปการต่อวงการศึกษาศิลปะ และเป็นแรงบันดาลใจให้เป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง อีกทั้งได้อุทิศตนให้กับงานการกุศลโดยร่วมบริจาคผลงานให้กับสาธารณกุศลทำคุณประโยชน์ให้กับสังคมอย่างสม่ำเสมอมาเป็นเวลายาวนาน
 

**นายองอาจ  สาตรพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติ   สาขาทัศนศิลป์  (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย) เกิดเมื่อวันที่ 8  ก.พ. พ.ศ.  2487   ที่กทม.  จบการศึกษาจาก Cornell University , Ithaca, N.Y., U.S.A. และ Yale University , New Haven, CT., U.S.A.  เป็นสถาปนิกที่ถือได้ว่าเป็นต้นแบบของสถาปัตยกรรมแบบร่วมสมัย ที่มีความสามารถในการสืบทอดและประยุกต์ใช้ศิลปะแบบดั้งเดิมผสมผสานกับศิลปะสมัยใหม่ได้อย่างกลมกลืนและแสดงให้เห็นถึงรากเหง้าของวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี และนอกจากจะเป็นสถาปนิกที่ได้การยอมรับในการออกแบบบ้านพัก โรงเรียน โรงแรม และอาคารใช้สอยต่างๆแล้ว ท่านยังเป็นหนึ่งในกรรมการตัดสินผลงานดีเด่นทางสถาปัตยกรรมของสมาคมสถาปนิกสยาม    และอุทิศตนทำงานการกุศลอยู่เสมอ และยังคงสร้างสรรค์ผลงานด้านสถาปัตยกรรมอย่างต่อเนื่องเสมอมา
                

**นางเพ็ญพรรณ  สิทธิไตรย์ ศิลปินแห่งชาติ   สาขาทัศนศิลป์  (ประณีตศิลป์ - แกะสลักเครื่องสด) ปัจจุบันอายุ  83  ปี  เกิดเมื่อวันที่ 28 ม.ค.พ.ศ.2469 ที่สกลนคร จบการศึกษาประโยควิชาชีพชั้นสูง โรงเรียนการช่างสตรีพระนครใต้ และได้รับปริญญาครุศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ โปรแกรมวิชาคหกรรมศาสตร์ทั่วไป วิทยาลัยครูจันทรเกษม  เป็นผู้สร้างสรรค์ศิลปะการแกะสลัก เครื่องสดโดยการแกะสลักผัก ผลไม้ ใบตอง ดอกไม้สด ได้พัฒนารูปแบบ ลวดลาย เนื้อหาและวิธีการนำเสนอให้กว้างขวางขึ้นสู่สายตาชาวโลก เผยแพร่ทั้งผลงาน อบรมถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ลูกศิษย์ชาวไทยและชาวต่างประเทศ สาธิตและเขียนตำราวิชาการมากมา นอกจากนี้  ยังสามารถนำเครื่องสดมาตกแต่งในงานต่างๆ  และประยุกต์ใช้ในงานปัจจุบันได้อย่างสวยงาม  เช่น งานเลี้ยงรับรองทูตานุทูต และราชอาคันตุกะจากต่างประเทศ งานอภิเษกสมรสของเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี งานเลี้ยงพระราชทานในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นต้น และได้รับรางวัลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาช่างฝีมือ (ศิลปะการแกะสลักผัก ผลไม้ ใบตอง ดอกไม้สด) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2532

**นายวรนันทน์  ชัชวาลทิพากร ศิลปินแห่งชาติ   สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย)
ปัจจุบันอายุ  55  ปี   เกิดเมื่อวันที่   19  ส.ค. พ.ศ.  2497 ที่กทม. จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 โรงเรียนวัดราชสิงขร และเข้าอบรมการถ่ายภาพทั้งในและต่างประเทศ พร้อมทั้งฝึกฝนการถ่ายภาพอย่างสม่ำเสมอมากว่า 30 ปี  เป็นศิลปินที่สร้างสรรค์ภาพถ่ายได้โดดเด่น และมีเอกลักษณ์เฉพาะตน เน้นการถ่ายภาพที่ให้แสงธรรมชาติตามที่พบ และสามารถนำเสนอด้วยศิลปะการถ่ายภาพในแง่มุมต่างๆ ที่มีความงดงาม และนอกจากจะมีผลงานด้านถ่ายภาพแล้ว ยังเป็นอาจารย์พิเศษและวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพให้กับสมาคมถ่ายภาพ  สถาบันการศึกษาและผู้สนใจการถ่ายภาพ ซึ่งส่งผลให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน สนใจการถ่ายภาพมากยิ่งขึ้น ผลงานได้รับรางวัลจากสมาคมถ่ายภาพทั่วโลกประมาณ 1,000 รางวัล เช่น รางวัลชนะเลิศยอดเยี่ยม (Best of Show) การประกวดภาพถ่ายสไลด์สีนานาชาติทั่วโลก เหรียญทองจากสมาคมถ่ายภาพแห่งสหรัฐอเมริกา จำนวน 72 ครั้ง
 
 

**นายเสกสรรค์  ประเสริฐกุล  ศิลปินแห่งชาติ  สาขาวรรณศิลป์ 
ปัจจุบันอายุ  60  ปี  เกิดเมื่อวันที่  28  ม.ค. พ.ศ. 2492 ที่อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา  จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์   ม.ธรรมศาสตร์  ปริญญาโทและปริญญาเอก จากม.คอร์แนลล์  สหรัฐอเมริกา   เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะรัฐศาสตร์  ม.ธรรมศาสตร์   สำหรับผลงานการเขียน นายเสกสรรค์ได้เขียนหนังสือมาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา มีผลงานที่สร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องตลอดมากว่า 3 ทศวรรษทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง  ผลงานร้อยแก้วมีหลากหลายรูปแบบ  ทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย  บันทึก  ความเรียง  บทความ  บทปาฐกถา  บทวิจารณ์วรรณกรรม   และงานแปล  โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานเขียนในทศวรรษแรกและทศวรรษที่สองสะท้อนทัศนะและอารมณ์ในฐานะปัญญาชนที่เป็นผู้นำในเหตุการณ์  14 ต.ค. 2516   
 

**นายจตุพร  รัตนวราหะ ศิลปินแห่งชาติ  สาขาศิลปะการแสดง  (นาฏศิลป์-โขน)
ปัจจุบันอายุ 73 ปี  เกิดวันที่ 9 ธ.ค. พ.ศ.  2479 ที่กทม. จบการศึกษาวิชานาฏศิลป์โขน  จากวิทยาลัยนาฏศิลป  กรุงเทพมหานคร  เป็นศิษย์ครูยอแสง   ภักดีเทวา  และครูอร่าม   อินทรนัฏ    เริ่มรับราชการในกองการสังคีต   เมื่อ พ.ศ. 2500  ต่อมาได้ทำหน้าที่ครูตำแหน่งครูตรี  สาขาโขน  วิทยาลัยนาฏศิลปะกรุงเทพ   ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้อำนวยการที่วิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัยพ.ศ.  2540   ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ไทย  สำนักการสังคีต  กรมศิลปากร  เป็นผู้แสดงโขน – ละคร   ให้ประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศชม ณ โรงละครศิลปากร โรงละครแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล และไปเผยแพร่ผลงานทางด้านการแสดงในต่างประเทศหลายครั้ง  ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เข้ารับพระราชทานครอบประธานพิธีไหว้ครูโขนละคร และการต่อกระบวนรำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ  ณ  ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อ พ.ศ. 2527 นอกจากนี้ยังได้เขียนตำราไว้มากมาย และยังเป็นผู้สืบทอดกระบวนท่ารำที่ได้รับจากโบราณจารย์    ปัจจุบันเป็นผู้ควบคุมและเป็นอาจารย์พิเศษสอนโขนในสถาบันการศึกษาต่างๆ  มีลูกศิษย์เป็นจำนวนมาก
           

**นายอุทัย  แก้วละเอียด ศิลปินแห่งชาติ  สาขาศิลปะการแสดง  (ดนตรีไทย)
ปัจจุบันอายุ 77 ปี เกิดเมื่อวันที่ 23 ก.ค.พ.ศ.2475  ที่อำเภออัมพวา  จังหวัดสมุทรสงคราม    สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนวัดอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เติบโตในครอบครัวปี่พาทย์ ได้หัดดนตรีไทยจนมีความสามารถ  ต่อมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ระนาดเอกของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ณ สำนักปี่พาทย์บ้านบาตร เป็นศิษย์ที่คุณครูรักมากที่สุดคนหนึ่ง  ได้รับการถ่ายทอดชั้นเชิงการบรรเลงเดี่ยวระนาด เพลงหน้าพาทย์   การปรับวง  การขับร้อง  และการประชันวงอย่างลึกซึ้ง  มีความรู้เแตกฉานทั้งทางระนาดเอกและระนาดทุ้ม นายอุทัยมีผลงานและประสบการณ์ด้านดนตรีไทยมาอย่างยาวนานกว่า   65  ปี ไ ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม   สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ  ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนและปรับวงดนตรีไทย อยู่ที่อำเภออัมพวา  ตลอดจนยังเป็นครูสอนดนตรีไทยในสถานการศึกษาและสถานที่ต่างๆ  มีลูกศิษย์จำนวนมาก
               

**นางมัณฑนา  โมรากุล ศิลปินแห่งชาติ  สาขาศิลปะการแสดง  (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง)ปัจจุบันอายุ  86  ปี  เกิดเมื่อวันที่  30 มี.ค. พ.ศ.  2466   ที่กทม. สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่  2  ที่โรงเรียนเสาวภา กรุงเทพมหานคร เป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงโดดเด่นมาตลอดตั้งแต่เริ่มร้องเพลงที่กรมโฆษณาการ เริ่มมีผลงานขับร้อง ได้รับการฝึกฝนการขับร้องเพลงในด้านอักขระ การผันวรรณยุกต์ การหายใจ การออกเสียงให้ชัดเจน  จากครูดนตรีหลายท่านทำให้มีความชำนาญในด้านการร้องเพลงไทยเดิมและเพลงไทยสากล และมีการพัฒนาการขับร้องเพลงจากการทดลองด้วยตนเองจนมีลีลาการขับร้องที่ฟังดูเป็นธรรมชาติ  มีเสียงหนาและมั่นคง   แต่สะท้อนอารมณ์ที่อ่อนไหวได้ดี   เข้าใจอารมณ์เพลงได้อย่างถ่องแท้ อีกทั้งยังร้องเพลงได้ชัดเจนออกเสียงอักขระได้ถูกต้อง มีศิลปะการขับร้องที่เป็นเอกลักษณ์ มีเสียงไพเราะกังวานหวานใส   มีอารมณ์มีชีวิตชีวา สามารถทำเสียงให้เศร้าได้โดยธรรมชาติ  ทำให้เกิดความประทับใจแก่ผู้ฟัง  นอกจากนี้ ยังมีความเฉลียวฉลาดตีความหมายของบทเพลงแตกทุกเพลง   เป็นนักร้องหญิงรุ่นบุกเบิกที่โดดเด่น  ของกรมโฆษณาการ  ที่อยู่ในความทรงจำของผู้ฟังตลอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้ฟังเพลงรุ่นเก่ายังคงชื่นชอบไม่เปลี่ยนแปลง และเป็นนักร้องแม่แบบให้แก่นักร้องรุ่นใหม่ได้ขับร้องบันทึกเสียงใหม่ได้สืบสานต่อมาจนถึงปัจจุบัน  และเป็นประโยชน์ต่อวงการศึกษาดนตรีเป็นอย่างมาก  

**นายประยงค์  ชื่นเย็น ศิลปินสาขาศิลปะการแสดง  (ดนตรีไทยลูกทุ่ง-ผู้เรียบเรียงเสียงประสาน) ปัจจุบันอายุ 63 ปี เกิดเมื่อวันที่ 12 ก.พ. พ.ศ.2489 ที่จังหวัดพระตะบอง สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่  6  ที่โรงเรียนการช่างบุรีรัมย์  อำเภอเมือง  จังหวัดบุรีรัมย์ ศึกษาดนตรีที่โรงเรียนดนตรีสยามกลการสุขุมวิท ได้รับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต กิตติมศักดิ์  สาขาดนตรี จากม.ราชภัฏบุรีรัมย์  จังหวัดบุรีรัมย์  มีผลงานและประสบการณ์ด้านดนตรีมาอย่างยาวนานกว่า 40 ปี เริ่มเข้าวงการเพลงโดยเป็นนักดนตรีเป่าทรัมเป็ท อยู่กับวงดนตรีรวมดาวกระจาย 2510 ต่อมามาอยู่กับวงดนตรีสุรพัฒน์  ผ่องศรี วรนุช  และเพลิน  พรหมแดน  พ.ศ.  2519 - ปัจจุบัน  ออกมาทำงานประพันธ์เพลง  ควบคุมการบรรเลงเพลงวงดนตรีไทยลูกทุ่งและไทยสากล  ผู้เรียบเรียงเสียงประสานเพลงทุกรูปแบบ   และเรียบเรียงเสียงประสานเพลงพระราชนิพนธ์ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แก่ เพลงส้มตำ  เพลงแดร็กคูล่าผู้น่ารัก   เพลงเพ็ญจันทร์   เพลงพลบค่ำ   ได้เริ่มนำเอาเครื่องดนตรีไทยหลายชนิดมาบรรเลงผสมกับเครื่องดนตรีสากล เพื่อให้ดนตรีลูกทุ่งได้เผยแพร่สู่สากลจนเป็นที่ยอมรับของนักฟังเพลงทั่วโลก  ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ในฐานะเพลงไทยลูกทุ่งยอดเยี่ยม และวงดนตรีไทยลูกทุ่งยอดเยี่ยม  และได้รับโล่เกียรติยศ ในฐานะเรียบเรียงเสียงประสานเพลงไทยลูกทุ่งตัวอย่าง นอกจากนี้ ยังได้ประพันธ์เพลง เป็นอาจารย์พิเศษ เป็นวิทยากรบรรยาย  กรรมการตัดสินทางด้านดนตรีให้กับสถาบันต่างๆ  และเป็นอาจารย์พิเศษสอนดนตรีให้กับม.ราชภัฏบุรีรัมย์โดยไม่รับค่าตอบแทน     เพราะต้องการให้บุคคลในถิ่นฐานบ้านเกิดได้มีความรู้ด้านดนตรี

นางมัณฑนา โมรากุล สาขาศิลปการแสดง ด้านดนตรีไทยสากล-คำร้อง
นายจตุพร รัตนวราหะ สาขาศิลปการแสดง ด้านนาฏศิลป-โขน
นายองอาจ สาตรพันธุ์ สาขาทัศนศิลป์ ด้านสถาปัตยกรรมร่วมสมัย
นายประยงค์ ชื่นเย็น สาขาศิลปการแสดง ด้านดนตรีไทยลูกทุ่ง-ผู้เรียบเรียงเสียงประสาน
นางเพ็ญพรรณ สิทธิไตรย์ สาขาทัศนศิลป์ ด้านประณีตศิลป์- แกะสลักเครื่องสด
นายอุทัย แก้วละเอียด สาขาศิลปการแสดง ด้านดนตรีไทย
นายวรนันทน์ ชัชวาลทิพากร สาขาทัศนศิลป์ด้านภาพถ่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น