สธ.ชี้คนไทย “พุงหลาม” ฉุดจีดีพีทรุดกว่า 4,200 ล้านบาท เหตุเพราะโรคเรื้อรังที่มากับความอ้วน คาด เพิ่มขึ้นอีก 13 เท่า ในอีก 6 ปี จับมือมหาดไทยแข่งฟิตหุ่นผู้ว่าฯ นายอำเภอ นายก อบจ.-อบต.ภายใน 6 เดือน จังหวัดไหนพิชิตพุงได้รับเงินแสน หวังกระตุ้นชาวบ้านตื่นตัวลดความอ้วน หากป้องกันโรคได้ลดสูญจีดีพีได้ 5,000-10,000 ล้านบาท ขณะที่กรมอนามัยเผย 10 จังหวัดอ้วนลงพุง “ชัยภูมิ” ตุ้ยนุ้ยสุด
วันนี้ (3 มี.ค.) ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วยนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในโครงการ “จังหวัดไร้พุง มุ่งสู่สุขภาพดี” ด้วยการรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงจากโรคอ้วนลงพุง หรือ เมตาบอลิค ซินโดรม (Metabolic syndrome) โดยใช้หลักปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 3 อ.ได้แก่ อาหาร ออกกำลังกาย และ อารมณ์ และให้ทุกจังหวัดแข่งขันรณรงค์จังหวัดไร้พุง มุ่งสู่สุขภาพดี เพิ่มบุคคลต้นแบบไร้พุงและองค์กรต้นแบบไร้พุงให้มากขึ้น
นายวิทยา กล่าวว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์เจ็บป่วยของคนไทย ในปี 2550 มีผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด หลอดเลือดสมอง และปอดอุดกั้นเรื้อรัง เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 2 ล้านราย มากที่สุด คือโรคความดันโลหิตสูง มีกว่า 1 ล้านราย ในจำนวนนี้มีกว่า 2 แสนราย เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา ทั้งไตวาย อัมพฤกษ์ อัมพาต และ โรคหัวใจ โดยแนวโน้มการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจระดับประเทศ ในปี 2549 คาดประมาณว่าโรคหัวใจ อัมพาต และเบาหวาน ทำให้ไทยต้องสูญเสียผลผลิตมวลรวมประเทศ หรือจีดีพี (GDP) ถึง 4,200 ล้านบาท หากไม่เร่งแก้ไข ในปี 2558 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า การสูญเสียผลผลิตมวลรวมประเทศจะเพิ่มเป็น 52,150 ล้านบาท หรือเกือบ 13 เท่า แต่หากมีมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่ดี จะช่วยลดการสูญเสียผลผลิตมวลรวมประเทศได้ถึงร้อยละ 10-20 หรือ 5,000-10,000 ล้านบาท
นายวิทยา กล่าวต่อว่า ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยโดยลงนามความร่วมมือ (MOU) จัดทำโครงการ “จังหวัดไร้พุง มุ่งสู่สุขภาพดี” เพื่อสร้างบุคคลต้นแบบไร้พุง และองค์กรต้นแบบไร้พุงให้ครอบคลุมทุกจังหวัด โดยสนับสนุนให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ นายกเทศมนตรี และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นผู้นำในการพิชิตอ้วน พิชิตพุง ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป็นองค์กรต้นแบบไร้พุง และ อปท.สร้างชุมชนต้นแบบไร้พุงจังหวัดละ 1 แห่ง ภายในเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่มีนาคม-สิงหาคม 2552 นี้
“สำหรับจังหวัดที่ผู้นำ บุคลากรองค์กร และประชาชน มีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ถูกต้องตามหลัก 3 อ.จนสามารถพิชิตอ้วน พิชิตพุงได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด จะได้รับรางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ เงินสด 100,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 เงินสด 80,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 2 เงินสด 50,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณทุกรางวัล ส่วนจังหวัดที่ได้คะแนนสูงสุดของแต่ละเขต จะได้รับรางวัลเงินสด 20,000 บาทพร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ” นายวิทยา กล่าว
ด้าน นายถาวร กล่าวว่า มท.จะให้ความร่วมมืออย่างเข้มแข็งกับโครงการนี้ โดยจะเริ่มจากการให้หัวหน้าส่วนราชการในแต่ละจังหวัด ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด 75 จังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายกเมืองพัทยา นายอำเภอ 877 คน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 75 คน นายกเทศมนตรี 1,631 คน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 6,314 คน และหัวหน้าส่วนราชการอื่น รวมกว่า 8,800 คน นำร่องในการลดพุงเป็นตัวอย่าง เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนในพื้นที่มุ่งมั่นในการลดพุง ช่วยให้คนไทยกว่า 63 ล้านคน มีสุขภาพดี โดยให้เริ่มดำเนินการทันที ซึ่งอาจไม่ต้องใช้เวลานานถึง 6 เดือน นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีจะออกกำลังกายลดพุงเป็นตัวอย่างด้วย
ด้านนพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้เริ่มดำเนินโครงการคนไทยไร้พุง ด้วยหลัก 3 อ.คือ อาหาร ออกกำลังกาย และ อารมณ์ ตั้งแต่ ปี 2550 พบว่า ระยะเวลาเพียง 4 เดือน ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถลดน้ำหนักได้เฉลี่ย 9 กิโลกรัม รอบเอวลดลงเฉลี่ย 9 เซนติเมตร โดยน้ำหนักสูงสุดที่ลดได้คือ 28 กิโลกรัม และรอบเอว 25 เซนติเมตร
“ทั้งนี้ ผลการศึกษาล่าสุดของมหาวิทยาลัยเซ็นต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกา ปี 2552 พบว่า คนที่มีภาวะเสี่ยงโรคเบาหวาน หากลดน้ำหนักลงได้ร้อยละ 7 จะช่วยลดความเสี่ยงได้ถึงร้อยละ 58 ส่วนผู้มีภาวะเสี่ยงเป็นโรคตับ ไขมันเกาะตับ และมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน หากลดน้ำหนักได้อย่างน้อยร้อยละ 5 ขึ้นไป เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 9 เดือน จะช่วยลดไขมันที่เกาะตับ ช่วยให้อินซูลินทำงานดีขึ้น ถ้าลดน้ำหนักได้ร้อยละ 9 จะช่วยฟื้นฟูสภาพของตับให้ดีขึ้น” นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าว
นพ.โสภณ เมฆธน รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากรายงานความชุกอ้วนลงพุงของหัวหน้าส่วนราชการภูมิภาค ซึ่งสำรวจในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นหัวหน้าส่วนราชการในทุกจังหวัดทั่วประเทศเมื่อปี 2551 ด้วยการวัดรอบเอวโดยหากมีรอบเอวเกิน 90 เซนติเมตรในเพศชายและเกิน 80 เซนติเมตรในเพศหญิงถือว่าอยู่ในภาวะอ้วนลงพุง พบว่า จังหวัดที่หัวหน้าส่วนราชการมีภาวะอ้วนลงพุงมากที่สุด 10 จังหวัดแรก ได้แก่ 1. ชัยภูมิ 81.16% 2.ประจวบคีรีขันธ์ 60 % 3.แม่ฮ่องสอน 57.45% 4.เพชรบูรณ์ 55.46% 5.นครราชสีมา 53.7% 6.ชลบุรี 52.44% 7.อุตรดิตถ์ 50.51% 8.ลพบุรี 49.12% 9.นนทบุรี และ 10.สุราษฎร์ธานี 46.7% ส่วนจังหวัดอื่นๆ ก็ประสบภาวะอ้วนลงพุงเช่นเดียวกันเพียงแต่อาจจะไม่ได้อยู่ใน 10 อันดับแรกและมีสัดส่วนประมาณ 30-40%