ด้วยเหตุที่หมู่บ้านอยู่ห่างไกลจาก อ.ท่าสองยาง 20 กิโลเมตร และในช่วงฝนตกไม่สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ได้ต้องเดินด้วยเท้าอย่างเดียว จึงทำให้ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบากด้านปัจจัยสี่ ทั้งอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค รวมถึงด้านการศึกษาและสุขภาพอนามัยสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณภาพของน้ำประปาภูเขา ที่มีสารปนเปื้อนที่ก่อให้เกิดโรคและอันตรายแก่ชาวบ้าน
“พี่รุ่ง” รุ่งรัศมี ศรีวงศ์พันธ์ นักวิชาการสาธารณสุข ศูนย์พัฒนาอนามัยพื้นที่สูง กรมอนามัย และผู้วิจัยโครงการ “การมีส่วนร่วมในการพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพตามแนวทางสุขบัญญัติแห่งชาติ ชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยง บ้านแม่ต้อคี เล่าให้ฟังถึงการวิจัยเรื่องนี้ ว่า โครงการนี้เป็นโครงการของกรมอนามัย มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2551-2553 โดยปัญหาของบ้านแม่ต้อคีนั้นส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ สาธารณสุข ดังนั้นมีแนวคิดที่จะวิจัยปรับปรุงปัญหาส่วนนี้ จึงได้ตั้งแนวคิดให้กับหมู่บ้านนี้ ว่า “แม่ต้อคีชุมชนแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน” เพื่อให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมกับหน่วยงานและสามารถถ่ายทอดไปยังชุมชนใกล้เคียงได้
“หน่วยงานราชการที่เข้ามาในพื้นที่ส่วนใหญ่มักจะเอามาให้ ไม่ได้สอนให้ชาวบ้านได้เรียนรู้และนำไปปรับใช้ แต่ที่พี่ กรมอนามัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยนี้เข้ามาเพื่อให้ชาวบ้านเกิดการเรียนรู้ร่วมกับเรา โดยในช่วงปีแรกจะเป็นการศึกษาชุมชนว่าชุมชนที่เราเข้ามามีดีอะไร แต่สำหรับปีที่ 2 จะให้ชาวบ้านรู้ว่าเขามีดีและเกิดการเรียนรู้ และปีที่ 3 จะเป็นการถ่ายทอดความรู้สิ่งที่ชาวบ้านได้รับแล้วนำไปถ่ายทอดสู่หมู่บ้านชุมชนใกล้เคียง”
ด้าน นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานพัฒนาอนามัยชาวเขาบ้านแม่ต้อคีมีวัตถุประสงค์เพื่อลดปัญหาปัจจัยเสี่ยง และสร้างสุขภาพดีให้เกิดขึ้นกับประชาชน โดยเฉพาะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเรื่องน้ำที่ต้องพัฒนาและเฝ้าระวัง เนื่องจากปัจจุบันประปาภูเขาเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติเดียวที่ชาวบ้านใช้สำหรับอุปโภคบริโภค โดยส่งต่อมายังถังพักน้ำภายในหมู่บ้าน แต่เนื่องจากไม่มีการล้างทำความสะอาดถังพักน้ำหรือใส่คลอรีนให้สะอาดก่อนดื่ม ทำให้เสี่ยงต่อการปนเปื้อน
สำหรับการแก้ไขปัญหานั้น ขณะนี้กรมอนามัยร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ต้าน โรงพยาบาลท่าสองยาง ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อ.ท่าสองยาง ทำการปรับปรุงคุณภาพน้ำประปาภูเขา จัดทำฝายกั้นน้ำบริเวณแหล่งน้ำประปาภูเขา เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและคุณภาพน้ำ และได้จัดตั้งจุดสาธิตเครื่องกรองน้ำระบบทรายกรองช้าระดับครัวเรือนจำนวน 2 ชุด ทำให้สามารถกำจัดความขุ่น กำจัดสีแดงของตะกอนสนิมเหล็กซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยจะช่วยให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้มีน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาด ปลอดภัย ไม่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนที่ก่อให้เกิดโรค เช่น ท้องร่วง อหิวาตกโรค
ขณะที่ บุญเสริม ชัยโรจน์ปัญญา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ต้าน(อบต.แม่ต้าน) กล่าวถึงผลตอบรับหลังจากมีการพัฒนาด้านอนามัยของชาวบ้านว่า ชาวบ้านดีใจที่มีหน่วยงานของรัฐเข้ามาสนใจดูแล เปรียบเทียบจากเมื่อก่อนที่ยังไม่มีเครื่องกรองน้ำ หรือการเข้ามาดูแลเรื่องสุขภาพอนามัยเท่าที่ควร เมื่อเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ชาวบ้านไม่รู้วิธีแก้ปัญหาไม่รู้วิธีแก้ไขเพื่อให้ถูกสุขลักษณะ สำหรับเครื่องกรองน้ำที่มีการติดตั้งในหมู่บ้านช่วยเรื่องของความสะอาด สามารถนำมาอุปโภค บริโภคโดยไม่ก่อเกิดโรค และจากการที่ให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมกับการพัฒนาด้านอนามัยทำให้เกิดการเรียนรู้ นำมาปรับใช้ได้เมื่อมีปัญหาด้านอื่นตามมา
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ อบต.แม่ต้าน ได้มีการวางแผนเรื่องของสุขภาพโดยวางแผนไว้ว่า เนื่องจากตอนนี้ได้สร้างสาธารณสุขมูลฐานไว้แล้ว ต่อไปจะมีการประสานกับหน่วยงานอีกหลายๆหน่วยงานเพื่อช่วยในเรื่องสุขภาพอนามัยของชาวบ้านด้านอื่นควบคู่กับการพัฒนาด้านการศึกษา เพราะถ้าชาวบ้านมีสุขภาพอนามัยที่ไม่ดีก็ย่อมส่งผลต่อการประกอบอาชีพ การดำรงชีวิต การศึกษาก็เช่นกันถ้าชาวบ้านมีการศึกษาย่อมสามารถแก้ไขปัญหาและมีอาชีพที่ดี
ส่วน เตอะเลอะ สิงห์นิรามัย เด็กสาวบ้านแม่ต้อคี กล่าวเป็นภาษาไทยด้วยสำเนียงที่ไม่ค่อยชัดว่า ตนและชาวบ้านรู้สึกดีใจที่มีหน่วยงานเข้ามาดูแล ช่วยเหลือแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพอนามัย และตอนนี้มีเครื่องกรองน้ำ ทำให้ทุกคนในหมู่บ้านมีน้ำดื่มที่สะอาด ไม่มีเชื้อโรค มีสุขภาพดีขึ้น
…นี่อาจจะเป็นอีกปัญหาหนึ่งของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่ได้รับการแก้ไขในหลายปัญหาที่ชนกลุ่มนี้ประสบอยู่ ที่ได้รับการเหลียวแลจากองค์กรต่างๆที่จะช่วยส่งผลให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้นแม้จะไม่สมบูรณ์แบบเต็มร้อยก็ตามซึ่งดีกว่าการไม่พยายามลงมือทำสิ่งอันใดเลย เพราะอย่างไรเสียพวกเขา ก็คือ ประชาชนคนไทย ที่เกิดอาศัยพื้นแผ่นดินไทยมาช้านาน และมีบัตรประชาชนเหมือนคนไทยทั่วไปและไม่แน่ในอนาคตคนเหล่านี้อาจจะเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศก็ได้