สธ.ลงทุน 1,200 ล้านบาท เพิ่มสเปกเด็กไทยในศตวรรษ 21 ต้อง “สูง 175 ซม. ไม่อ้วน ไอคิว 110 จุด ใจดี รักสุขภาพ รักสิ่งแวดล้อม” แย้มโครงการดูแลตั้งแต่อยู่ในครรภ์ พร้อมกระตุ้นเด็กไทยรักการอ่าน -มีความเพียร
วันที่ 7 มกราคม นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วยนพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต และนพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกันแถลงข่าว “สธ.มอบของขวัญวันเด็ก ปี 2552”
นายวิทยา กล่าวว่า ในโอกาสวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2552 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำโครงการพิเศษ เพื่อมอบเป็นของขวัญให้เด็กไทยทุกคน เป้าหมายสำคัญคือให้เด็กไทยมีสุขภาพดี ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสติปัญญา โดยได้ผนึกกำลังกรมวิชาการต่างๆ ร่วมกันพัฒนา ได้แก่ กรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพเด็กไทยแบบบูรณาการ ตั้งเป้าเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 เมื่ออายุ 14-15 ปีจะต้องมีความสูง 175 เซนติเมตรเป็นอย่างต่ำ ไม่อ้วน มีไอคิวเฉลี่ย 110 จุด มีจิตใจดี รักสุขภาพและรักสิ่งแวดล้อม โดยเด็กไทยขณะนี้มีความสูงเฉลี่ย 165 เซนติเมตร มีไอคิวเฉลี่ย 103 จุด
จากการประเมินต้นทุนของเด็กไทยที่ผ่านมาพบว่า ยังไม่ทัดเทียมกับสากล ปัญหาที่พบตั้งแต่แรกเกิดก็คือน้ำหนักตัวน้อยกว่ามาตรฐาน 2,500 กรัม มีปีละเกือบ 90,000 ราย โดยเด็กกลุ่มนี้เกิดจากการขาดสารอาหารขณะอยู่ในครรภ์ แม่ขาดวิทตามินเอ เหล็ก กรดโฟลิก และสังกะสี และทารกคลอดก่อนกำหนด
ผลกระทบตามมาจะทำให้เสียชีวิตง่ายในช่วง 1 เดือนแรก เจ็บป่วยง่าย ทั้งปัญหาน้ำตาลในเลือดต่ำ ปอดบวม มีพัฒนาการล่าช้า และเรื่องที่คนทั่วๆ ไปคาดไม่ถึงก็คือ เด็กกลุ่มนี้เมื่อโตขึ้นจะเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรัง ที่สำคัญคือ เบาหวาน โรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ เนื่องจากผลกระทบจากกลไกการปรับตัวของร่างกาย โดยเฉพาะตับอ่อน จะทำงานหนักขึ้น เพราะขณะอยู่ในครรภ์อวัยวะนี้เคยทำงานน้อยเพราะได้อาหารน้อยมาก่อน แต่พอโตขึ้นได้รับสารอาหารมาก จนอวัยวะทำงานไม่ไหวและวายในที่สุด
ในการแก้ปัญหานี้ ในปี 2552 นี้ กรมอนามัยได้จัดงบ 1,200 ล้านบาท เริ่มดูแลตั้งแต่เด็กยังอยู่ในครรภ์ โดยได้พัฒนาการดูแลครรภ์ ให้ฝากครรภ์ทันที และให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนซึ่งมีปีละ 800,000 คน กินวิตามินรวม ซึ่งมีสารอาหารสำคัญ ได้แก่ กรดโฟลิก สังกะสี วิตามินเอ แคลเซียม ไอโอดีน กินยาเม็ดธาตุเหล็กและกรดโฟลิก อย่างละ 1 เม็ด วันละ 1 ครั้ง จนกระทั่งครรภ์ครบกำหนด 9 เดือนฟรี ซึ่งการได้รับธาตุเหล็กจะลดปัญหาคลอดก่อนกำหนด กรดโฟลิกช่วยลดความพิการของหลอดประสาท สังกะสีจะช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน เสริมการทำงานของฮอร์โมนช่วยเจริญเติบโต แคลเซียมจะช่วยสร้างกระดูกเด็กในครรภ์ ลดความเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ (Toxemia of Pregnancy) ส่วนไอโอดีนจะช่วยพัฒนาระบบประสาท ไม่เป็นโรคปัญญาอ่อน ขณะนี้คลินิกฝากครรภ์ในโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งพร้อมให้บริการแล้ว
ในการพัฒนาไอคิว อีคิว กรมสุขภาพจิต ร่วมกับเครือข่ายและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำโครงการ “พัฒนาสติปัญญาเด็กไทย” เพื่อเสริมสร้างให้เด็กไทย มีความสามารถในการเรียนรู้ เป็นคนดี เป็นคนเก่ง มีคุณภาพทั้งด้านสติปัญญา อารมณ์ สังคม และจริยธรรม จากการศึกษาพบว่า ปัจจัยสำคัญที่พ่อแม่สามารถช่วยส่งเสริมสติปัญญาและอีคิวของลูก ด้วยบัญญัติ 5 ประการ เป็นเคล็ดลับจำง่าย ได้แก่ รักลูกให้สัมผัส กอดรัดกันทุกวัน ขยันถามอยู่เป็นนิจ ช่วยลูกคิดหาคำตอบ ครอบครัวนักอ่าน รอบบ้านมีหนังสือ หมั่นซื้อนมให้ลูก ปลูกนิสัยออกกำลังกาย เสริมปัญญา ท้าทายลูกด้วยเกมวางแผน โดยในปี 2552 กรมอนามัยจะผลิตนิทานแจกศูนย์เด็กเล็ก 30,000 แห่ง จำนวน 1 แสนเล่ม