xs
xsm
sm
md
lg

โละเซ็นเซอร์สู่ “7 เรตติ้ง” แตกต่างหรือทางเดิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงานพิเศษ โดย..... กองทรัพย์ ชาตินาเสียว

หลังจากรอคอยมาอย่างยาวนาน และมีการต่อสู้ทางความคิดเป็นเวลานับสิบปี จนถึงวันที่ 2 มิ.ย.2551 ซึ่ง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้ โดยจะนำมาแทนที่ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ พ.ศ.2473 แต่กว่าหลายเดือนที่ผ่านมาก็เกิดปัญหาหลายอย่างเกี่ยวกับผลบังคับใช้ เนื่องจากร่างกฎกระทรวงประกอบ พ.ร.บ.เกิดความล่าช้า ทำให้การบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯไม่สมบูรณ์


ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไฟเขียว 7 เรตติ้งคุมภาพยนตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกฎกระทรวงประกอบ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ ให้ผ่านเข้าพิจารณาในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยเพิ่มหมวดศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ขนบธรรมเนียมและหมวดภาพยนตร์ทำลายหรือหมิ่นสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เข้าไปด้วย ซึ่ง “ธีระ สลักเพชร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) คาดว่า กระทรวงวัฒนธรรมจะประกาศบังคับให้ใช้ได้ในเดือนพฤษภาคมนี้

กระนั้น หัวข้อที่ดูจะเป็นที่กล่าวถึงมากที่สุด และเป็นปัญหาตลอดมาตั้งแต่เริ่มร่าง พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ พ.ศ.2551 คือ การจะเปลี่ยนจากระบบ “เซ็นเซอร์” มาเป็น “เรตติ้ง” ที่กำหนดโดยคณะกรรมการภาพยนตร์และวิดีทัศน์แห่งชาติ ซึ่งแบ่งออกเป็น 7 ประเภทด้วยกันคือ 1.ประเภทส่งเสริมการเรียนรู้และส่งเสริมให้ดู มีเนื้อหาส่งเสริมการศึกษา จริยธรรม ศิลปวัฒนธรรมของชาติ 2.ประเภทที่เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไป 3.ประเภทที่เหมาะสมกับผู้มีอายุ 13 ปีขึ้นไป 4.ประเภทที่เหมาะสมกับผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไป 5.ประเภทที่เหมาะสมกับผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป 6.ประเภทที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีดู และ 7.ประเภทที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร เนื่องจากมีเนื้อหาหมิ่นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำลายความมั่นคงของประเทศ ก่อให้แตกความสามัคคี เหยียดหยามศาสนา ไม่เคารพต่อปูชนียบุคคล ขัดต่อศีลธรรม วัฒนธรรม และมีเนื้อหาที่แสดงถึงการมีเพศสัมพันธ์ เห็นอวัยวะเพศในลักษณะลามกอนาจาร

ภายหลังมติที่ประชุม ครม.อนุมัติเรตติ้งหนังทั้ง 7 ประเภทแล้ว มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงระดับความเหมาะสมของภาพยนตร์ หรือเรตติ้งกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะประเภทที่ 7 และกลุ่มที่ดูเหมือนจะเดือดร้อนที่สุดหนีไม่พ้นผู้ประกอบการภาพยนตร์

“ยงยุทธ ทองกองทุน” นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ในท่วงทำนองติติงว่า ระบบเรตติ้งเมืองไทยไม่แตกต่างจากการแบนหรือระบบเซ็นเซอร์ดั้งเดิมนัก

ตามความเข้าใจของผู้กำกับภาพยนตร์ผู้นี้ เห็นว่า การจัดเรตติ้งควรหมายถึงการจัดประเภทภาพยนตร์ให้เหมาะกับอายุของผู้ชม โดยไม่จำกัดความคิดสร้างสรรค์ของผู้สร้าง ดังนั้นเมื่อจัดเรตติ้งแล้วไม่ควรมีการแบนหรือสั่งห้ามฉายอีก

“ถ้ามองในประเทศอื่นๆ เขามี 5 ข้อ ซึ่งเขาลงรายละเอียดไปเลยค่อนข้างชัดเจน แต่เราเพิ่มมาอีก 2 ข้อ ทุกคนก็สงสัยและอยากรู้ขอบข่ายของมันกันมากเพราะเท่าที่รู้มันกว้างเหลือเกิน ถ้าหากจะทำให้ครอบคลุม หรือเข้ากับบริบทของไทยจริงๆ ผมว่าแค่ 6 ประเภทก็พอแล้ว แต่ต้องเจาะจงลงไปในรายละเอียด” นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ให้ความเห็น

ในอีกหลายเสียงเห็นว่าควรจะมีการจัดเรตติ้งเพียง 6 ข้อเช่นเดียวกัน บ้างว่า ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาหมิ่นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำลายความมั่นคงของประเทศนั้นควรจะตั้งเป็นบทเฉพาะกาลไม่ควรนำมาอยู่ในหมวดเดียวกับหมวดอื่นๆ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการแสดงความไม่บังควร

“ปรัชญา ปิ่นแก้ว” ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังจากค่ายบาแรมยู กล่าวว่า การจัดระดับภาพยนตร์หรือเรตติ้งฉบับล่าสุดนั้น จะว่าไปแล้วก็ถูกใจคนในวงการหนังกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ จะมีที่ไม่เห็นด้วยบ้าง ก็คือ ประเภทที่ 7 อันเป็นกรณีที่ถูกวิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพยนตร์ที่เข้าข่ายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น เชื่อว่าคงไม่มีผู้กำกับไทยคนใดที่คิดจะสร้างเป็นแน่ แต่เมื่อภาครัฐมองว่าบางประเด็นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและขอให้ทดลองใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ไปก่อนก็เข้าใจ อย่างไรก็ตาม หากต่อไปมีคนไม่เห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มคนทำหรือคนดูก็มีสิทธิที่จะแสดงความเห็น และร้องขอให้มีการปรับปรุงแก้ไขได้

ดังนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ จึงมีการประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวิดีทัศน์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2552 ขึ้น โดย ธีระ สลักเพชร รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า หากใครเห็นว่าการกำหนดเรตติ้งภาพยนตร์ทั้ง 7 ประเภท ไม่เหมาะสมหรือควรมีการปรับแก้ไข สามารถเสนอผ่านไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ เนื่องจากขณะนี้กฎกระทรวงประกอบ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ นั้นยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และยังสามารถนำบางเนื้อหามาทบทวนได้ หรือหากผู้ประกอบการ ผู้ผลิตภาพยนตร์เห็นว่า การพิจารณาภาพยนตร์ของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์มีความไม่เหมาะสม สามารถยื่นร้องต่อศาลปกครองได้

ดูเหมือนว่า ข้อสรุปของเรตติ้งภาพยนตร์จะยังไม่สมบูรณ์จนกว่าจะผ่านชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา อย่างไรก็ดี ตามคำประกาศของ รมว.วัฒนธรรมที่คาดว่าจะประกาศเรตติ้งทั้ง 7 ประเภทได้ในเดือนพ.ค.นี้และคงล่าช้าไปกว่านี้ไม่ได้ เนื่องจากในบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ ระบุว่ากฎกระทรวงประกอบจะต้องเสร็จภายใน 1 ปีภายหลังพ.ร.บ.ประกาศใช้ ดังนั้นเป็นที่น่าติดตามว่า ในเดือน พ.ค.หรือระหว่างนี้จะมีการเคลื่อนไหวของคนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยบ้างหรือไม่ และท้ายที่สุดแล้ว ระบบ “เรตติ้งหนัง” ที่เรียกร้องให้มีกันนักหนา จะต่างจากจากระบบ “เซ็นเซอร์” ที่รุมจวกกันมาโดยตลอดหรือไม่?
กำลังโหลดความคิดเห็น