xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเทอมหนนี้ “ฟรี” หรือ “จ่าย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงานพิเศษโดย...คีตฌาณ์ ลอยเลิศ

เป็นนโยบายที่เปรี้ยงปร้างที่สุดก็ว่าได้ สำหรับ “นโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ” ของรัฐบาล “โอบามาร์ค” เพราะไม่เพียงแต่เป็นครั้งแรกของไทยที่รัฐบาลประกาศอุดหนุนการศึกษาระดับขั้นพื้นฐานอย่างเต็มที่เพื่อเด็กได้เรียนฟรีอย่างแท้จริง ยังใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลถึง 18,257,975,200 บาท เพื่อดำเนินนโยบายดังกล่าวอีกด้วย

นโยบายเรียนฟรี 15 ปี นั้น เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ที่ต้องการให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งประเภทสามัญศึกษา และอาชีวศึกษา โดยให้การอุดหนุนทั้งค่าเล่าเรียน หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2552 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ งบ 18,257,975,200 บาท ถูกแบ่งเป็นเงินอุดหนุนค่าเล่าเรียน 2,047,682,300 บาท ค่าหนังสือเรียน 6,151,119,500 บาท ค่าอุปกรณ์การเรียน 2,069,169,300 บาท ค่าเครื่องแบบนักเรียน 4,634,559,400 บาท และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 3,355,444,700 บาท

แนวปฏิบัติในการรับเงินอุดหนุน รัฐบาลแยกออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ให้โรงเรียนเป็นผู้รับผิดชอบ คือ ค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพ ส่วน อุปกรณ์การเรียน และเครื่องแบบนักเรียน รัฐจะให้ผู้ปกครองเป็นผู้รับผิดชอบ

ในส่วนของโรงเรียนนั้น ค่าเล่าเรียน รัฐจะจัดสรรให้ตามรายหัวนักเรียน โดยให้เงินอุดหนุนสำหรับนักเรียนอนุบาล 3 ขวบ และปรับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวให้กับโรงเรียนเอกชน จากเดิมที่อุดหนุนอยู่ที่ ร้อยละ 60 เป็น ร้อยละ 70 โดยมีการปรับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวเพิ่มขึ้นในทุกระดับและประเภทการศึกษา เพื่อลดภาระการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ จากผู้ปกครอง ส่วนกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนให้โรงเรียนเป็นผู้จัดกิจกรรม โดยให้การอุดหนุนกิจกรรมด้านวิชาการ กิจกรรมด้านคุณธรรม จริยธรรม เช่น ค่ายลูกเสือ/ยุวกาชาด กิจกรรมทัศนศึกษานอกสถานที่ และจัดบริการสารสนเทศ ICT โดยต้องเป็นการสอนเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น คอมพิวเตอร์นอกเหนือการเรียนปกติไม่ต่ำกว่า 40 ชั่วโมงต่อคนต่อปี ในส่วนของอาชีวศึกษาให้เพิ่มเติมกิจกรรมด้านองค์กรวิชาชีพ

ยกเว้นโรงเรียนสาธิตในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่ไม่ขอรับงบประมาณดังกล่าว แต่จะระดมทรัพยากรจากผู้ปกครองตามแนวทางที่เคยปฏิบัติมา

ที่แสดงความกังวลกันมากว่าอาจจะมีการ “ฮั้ว” กันเกิดขึ้นนั้น คือ การให้โรงเรียนเป็นผู้ดำเนินการเรื่องการจัดหาหนังสือยืมเรียน ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้โรงเรียนพิจารณาจัดซื้อหนังสือจากรายชื่อหนังสือเรียนด้านคุณภาพและราคาตามบัญชีหนังสือเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดในอัตราลดร้อยละ 20 โดยเชิญผู้จำหน่ายหนังสือมาร่วมประชุม พร้อมแจ้งแนวทางการจัดซื้อ ซึ่งต้องให้ฝ่ายวิชาการสถานศึกษา ครูผู้สอน ผู้แทนนักเรียน และผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการเลือกซื้อหนังสือ ให้สอดคล้องกับหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษา พร้อมจัดทำบัญชีควบคุมการให้ยืมหนังสือ เพื่อให้นักเรียนทุกคนมีหนังสือเรียนและส่งต่อไปยังนักเรียนรุ่นต่อไปได้

ส่วนค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองจะได้รับจากรัฐบาล ประกอบด้วย ค่าอุปกรณ์การเรียนกับเครื่องแบบนักเรียนนั้น ในส่วนของค่าใช้จ่ายอุปกรณ์การเรียนสายสามัญศึกษา รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณให้ ดังนี้ ระดับก่อนประถมศึกษา 100 บาท/คน/ภาคเรียน ประถมศึกษา 195 บาท/คน/ภาคเรียน มัธยมศึกษาตอนต้น 210 บาท/คน/ภาคเรียน และมัธยมศึกษาตอนปลาย 230 บาท/คน/ภาคเรียน โดยการอุดหนุนนักเรียนอาชีวศึกษาก็ยึดหลักการเดียวกับนักเรียนในสายอาชีวศึกษา

การรับเงินอุดหนุนในส่วนนี้ รัฐจะจัดสรรเงินสดให้ผู้ปกครองและนักเรียนจัดซื้อด้วยตนเอง โดยให้ไปเบิกจ่ายจากโรงเรียนต้นสังกัด แล้วให้ผู้ปกครองลงลายมือชื่อเป็นหลักฐานในการรับเงิน เมื่อซื้อแล้วก็ต้องนำใบเสร็จมาแสดงกับสถานศึกษา

ส่วนค่าใช้จ่ายเป็นค่าเครื่องแบบนักเรียน ผู้เรียนต้องลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิ์ในการรับเครื่องแบบนักเรียน ที่สถานศึกษา คนละ 2 ชุด/ปี ซึ่งรัฐจะจัดสรรงบประมาณให้ ดังนี้ ระดับก่อนประถมศึกษา 300 บาท/คน/ปี ประถมศึกษา 360 บาท/คน/ปี มัธยมศึกษาตอนต้น 450 บาท/คน/ปี มัธยมศึกษาตอนปลาย 500 บาท/คน/ปี

ส่วนนักเรียนอาชีวศึกษา รัฐบาลจะจัดสรรเครื่องแบบนักเรียนให้ 1 ชุด/คน/ปี และชุดฝึกปฏิบัติ 1 ชุด/คน/ปี โดยรัฐบาลจัดสรรให้ 900 บาท/คน/ปี

แนวปฏิบัติในการรับเงินอุดหนุนเป็นค่าเครื่องแบบนักเรียนนั้น ในส่วนของสายสามัญศึกษา รัฐจะจัดสรรเงินสดให้กับผู้ปกครองโดยผู้ปกครองต้องไปเบิกจ่ายจากโรงเรียนต้นสังกัด พร้อมลงลายมือชื่อรับเงินไว้เป็นหลักฐาน ทั้งนี้ รัฐบาลให้สิทธิ์หากผู้ปกครองจะรวมกันจ้างกลุ่มแม่บ้านตัดชุดนักเรียนก็สามารถทำได้ ขณะที่ของอาชีวศึกษา ให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กำหนดแบบและเนื้อผ้าตัดชุดนักศึกษาและชุดฝึกให้สถานศึกษา เพื่อให้วิทยาลัยอาชีวศึกษา และวิทยาลัยอื่นที่มีศักยภาพในการตัดเย็บเสื้อผ้าดำเนินการ

ทั้งนี้ ผู้ปกครองที่ขอสละสิทธิ์ในการรับเงินอุดหนุนค่าชุดนักเรียนจะได้รับใบประกาศเกียรติคุณจากกระทรวงศึกษาธิการ

เพียงแค่เริ่มต้นนโยบายก็มีทั้งเสียงติ เสียงติง และเสียงชื่นชม ซึ่ง
ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความเห็นว่า ในความเป็นจริงแล้ว รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่ารัฐบาลจะต้องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานฟรีให้กับนักเรียน เพียงแต่ต้องให้สิทธิในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา แต่ก็ถือว่าการดำเนินนโยบายนี้เป็นการประกันโอกาสทางการศึกษาขั้นต่ำให้กับเด็กไทย

“ที่ผมเป็นห่วง คือ การเรียนฟรีจะไปตัดโอกาสการมีส่วนร่วมของพ่อแม่ผู้ปกครอง เพราะจะคิดว่าการให้การศึกษาคือหน้าที่ของรัฐ เพราะการศึกษาจะมีคุณภาพได้ การมีส่วนร่วมจากผู้ปกครอง ชุมชน และองค์กรต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญ แต่ผมกลัวว่าเมื่อได้รับการอุดหนุนแล้ว พ่อแม่ก็จะพากันละเลย ต้องขอร้องว่าอย่าลืมว่าเด็กๆ คือลูกของเรา ซึ่งบางครั้งการให้การศึกษาก็จำเป็นที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายบ้าง และเมื่อรัฐช่วยอุดหนุนแบ่งเบาภาระบางส่วนแล้ว พ่อแม่ก็ต้องเข้ามาช่วยโรงเรียนบ้าง การช่วยไม่ใช่การจ่ายเงินให้เสมอไป อาจเข้ามาเป็นคณะกรรมการสถานศึกษา หรือร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมกิจกรรมกับโรงเรียน การศึกษาจึงจะพัฒนาได้ แต่ทุกวันนี้พ่อแม่ไม่ได้คิดว่าตรงนี้ คือ หน้าที่ของตนเอง”
กำลังโหลดความคิดเห็น