ใกล้เข้ามาทุกที กับ “ช่วงเวลาที่ใครหลายคนต้องขยันที่สุดในชีวิต” “ช่วงเวลาแห่งความกดดันที่จะทำให้หัวใจต้องเต้นถี่จนแทบจะระเบิด” และ “เป็นช่วงเวลาที่จะทำให้ชีวิตต้องพลิกเปลี่ยนในชั่วข้ามคืน”
ความรู้สึกที่พร่ำพรรณนาข้างต้น จะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากช่วงเวลาแห่งการสอบแอดมิชชัน หรือการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง ของนักเรียนชั้น ม.6 ที่จะเป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายชีวิตในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เพื่อรับกับการเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวในรั้วมหาวิทยาลัย จนนำไปสู่การเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพในสังคม
เมื่อไม่นานมานี้ หลายคนคงจำกันได้ว่า หน้าการศึกษา ของนสพ. Astv ผู้จัดการ (รายวัน) เคยนำเสนอสกู๊ปเรื่อง “เตรียมศึกรับ Admissions” เปลือยเคล็ด (ไม่ลับ) งัดไม้เด็ด วิชาขั้นสุดยอดของรุ่นพี่คนเก่งระดับประเทศ รวมถึงสัดส่วน-องค์ประกอบของแอดมิชชัน ปี 52 และ 53 จากเหล่ากูรูผู้เชี่ยวชาญกันไปแล้ว
คราวนี้ถึงคิวผู้ใหญ่ใจดี จากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และตัวแทนอาจารย์มหาวิทยาลัยรัฐบาล-เอกชน ที่ยกทีมพกเอาเทคนิค ข้อแนะนำ รวมถึงความรัก และความห่วงใย ส่งผ่านไมค์ในงาน “เส้นทางชีวิต...พิชิต Admission” ณ มหาวิทยาลัยสยาม เพื่อให้ว่าที่นิสิต/นักศึกษารุ่นใหม่ทุกคน นำไปเป็นแนวทาง และรับศึกอย่างมั่นใจ กับการสอบที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้
เริ่มจาก“ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ที่เล่าย้อนความหลังในวัยเรียนอย่างน่าสนใจให้ฟังว่า ส่วนตัวเป็นคนต่างจังหวัด อยู่ อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นคนเรียนไม่เก่ง แต่ด้วยความพยายาม และมีความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะปมด้อยของตัวเอง จึงขวนขวายหาความรู้ ด้วยการอ่านหนังสือ และทบทวนตำราเรียนทุกวัน เพราะเชื่อว่า รวย หรือจน เด็ก กทม.หรือเด็กต่างจังหวัด ล้วนมีความสามารถ และความเก่งอยู่ในตัวทุกคน อยู่ที่ว่า จะใครจะสะสมและดึงออกมาใช้มากน้อยกว่ากันเท่านั้น
“ผมเป็นคนโชคดีที่ค้นพบตัวเองเร็ว สมัยเด็ก พ่อแม่อยากให้ผมเรียนหมอ แต่ด้วยอารมณ์ที่ไม่ใช่ตัวเอง จึงเปลี่ยนทางเดิน ก่อนสอบทุกครั้งผมจะมีพฤติกรรมอยู่ 3 อย่างคือ กิน นอน อ่าน และจะนั่งทำข้อสอบย้อนหลัง 10 ปีเป็นประจำ เพื่อสร้างความคุ้นชินกับแนวข้อสอบ และรู้แนวการอ่านหนังสือ ซึ่งผมจะไม่กดดันตัวเอง เพราะมันเป็นตัวลดทอนความมั่นใจ และนำไปสู่ความเครียด” คุณลุงชัยวุฒิ เล่า
ด้วยความมุมานะ บากบั่น เอาจริงกับการเรียนของเด็กบ้านนอกคนหนึ่ง แถมเรียนไม่เก่ง แต่ประสบความสำเร็จ จนได้เป็นรัฐมนตรีฯ ตามสโลแกน “เรียนไม่เก่ง แต่ทำข้อสอบเก่ง” จึงอยากฝากแนวทางให้รุ่นหลาน ว่า การจะเรียนต่อ ต้องเลือกช่องทางที่เหมาะสมกับตัวเอง ศึกษารายละเอียดของแต่ละคณะให้เข้าใจ อ่านหนังสือสอบ ต้องไม่เครียด เพราะจะทำให้สะดุด และกดทับความฝัน จงทุ่มเทในความสามารถของตัวเอง และใช้เวลา 24 ชั่วโมงให้คุ้มค่าที่สุด ถึงจะสอบไม่ได้ ก็คงไม่ตาย การศึกษาสมัยนี้ มีทางเลือกให้หลาหลาย
ไม่ต่างจาก “ศศิธร อหิงสโก” ผอ.กลุ่มรับบุคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่แง้มไม้เด็ดพิชิตการทำข้อสอบไว้ว่า ถ้าอยากเก่ง ต้องอ่านเก่ง การทำข้อสอบแบบนักปราชญ์ ต้องหมั่นทำแบบฝึกหัดจนเกิดความชำชาญ รู้ เข้าใจ จนสามารถวิเคราะห์ และตีโจทย์ออกมาได้ เช่น อยากเก่งวิชาคณิตศาสตร์ ต้องขยันทำโจทย์ อยากเก่งภาษาอังกฤษ ต้องฟัง และท่องศัพท์เก่ง เป็นต้น
สำหรับแนวข้อสอบ ผอ.ศศิธร บอกว่า ขอให้วางใจได้เลย ไม่ออกนอกเหนือจากตำราที่เรียนแน่นอน แต่จะครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมด แบ่งเป็นการจำ การวิเคราะห์ และสังเคราะห์อย่างละเท่ากัน เช่น สอบเอเน็ต จะไม่เน้นการจำ แต่จะเน้นการวิเคราะห์-สังเคราะห์ และการนำไปใช้ เพราะฉะนั้นการเรียนในห้องจึงเป็นสิ่งสำคัญ นักเรียนต้องเรียนอย่างเข้าใจ (มีความคิดเป็นระบบ) ตีโจทย์ให้แตก แล้วจะทำข้อสอบได้ รวมถึงอย่าไปกังวลว่าจะสอบไม่ได้ เพราะปี 2552 มหาวิทยาลัยของรัฐ และเอกชน สามารถรองรับเด็กได้ประมาณ 120,000 คน ทั้งนี้จะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐกว่า 50,000 ที่นั่ง
แต่กระนั้น สิ่งสำคัญที่อยากจะฝากไว้ก็คือ อย่าทุจริตในการสอบเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นการจดโพยเข้าห้องสอบ ส่งคำตอบผ่านมือถือ (SMS) หรือรับโทรศัพท์ จะถือว่าทุจริตทันที รวมถึงกลวิธีอื่นใด หากถูกจับได้ จะถูกตัดสิทธิ์แอดมิชชัน 3 ปี
ด้าน“สมพงษ์ จิตระดับ” อาจารย์ประจำภาควิชาครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้แง้มเคล็ดว่า การเตรียมตัว เป็นตัวช่วยที่ดีที่สุด อย่ามาเร่งรีบเอาตอนใกล้สอบ เพราะจะทำให้กดดัน และลดทอนความมั่นใจในการสอบ จงทำใจให้สบาย เที่ยวบ้าง ฟังเพลงบ้าง และหมั่นทบทวนตำราเรียนอย่างสม่ำเสมอ สอบได้หรือไม่ได้ ไม่ใช่เครื่องตัดสินอนาคต ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเรา มหาวิทยาลัยรัฐบาล หรือเอกชน ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพเหมือนกัน จบมามีงานทำเหมือนกัน
“เด็กบางคนไม่สนใจการสอบสัมภาษณ์ เพราะคิดว่าตัวเองสอบติดแล้ว แต่หารู้ไม่ว่า เป็นด่านสำคัญที่จะคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อ ดังนั้น จึงต้องเข้าใจคณะหรือสาขาที่เรียนเป็นอย่างดี เป็นด่านทดสอบเพื่ออ่านความคิด ทัศนคติ และลักษณะนิสัยของผู้สมัคร ว่าเหมาะสมกับสาขาที่เลือกหรือเปล่า จึงย้อนถามกลับไปว่า ถ้าเลือกคณะเพราะค่านิยม แต่ไม่มีความชอบ ความสนใจ หรือความรู้พื้นฐาน การสอบสัมภาษณ์จะเป็นด่านตัดสินอีกที” คุณลุงสมพงษ์ให้คำแนะนำ
นอกจากนี้ ยังฝากถึงผู้ปกครองทุกคนด้วยว่า อย่าเอาความคิดของตัวเองมากดดันลูก หรือคาดหวังมากเกินไป รวมถึงตัวเด็ก ต้องไม่ตามกระแส ตามค่านิยมของการเลือกคณะ หรือมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง โดยไม่ดูความเหมาะสมของคะแนน และความสามารถของตัวเอง แต่ต้องหาตัวตนให้เจอ ไม่ใช่ตอบแทนคนอื่น ขณะเดียวกัน ครูแนะแนวประจำโรงเรียนต้องเป็นเสาหลัก ให้แนวคิด ความรู้ ข่าวสาร และคำแนะนำเกี่ยวกับการสอบ และการเลือกคณะแก่นักเรียนด้วย เพราะเท่าที่เห็นส่วนใหญ่ ครูแนะแนวจะมีบทบาทน้อยมาก ทำให้เด็กขาดที่ปรึกษา
ก่อนจากกัน มีตัวเลือกให้ 2 ข้อ ระหว่าง “สอบติด” กับ “ประสบความสำเร็จ” คุณจะเลือกอะไร ไม่ต้องถาม และตอบใคร แต่จงตอบกับตัวเอง การสอบที่จะถึงขอให้ทุกคนตั้งใจสุดความสามารถ ได้หรือไม่ ไม่สำคัญ อยู่ที่ว่า เราใช้เวลา 24 ชั่วโมงใน 1 วัน คุ้มค่าแล้วหรือยัง ชีวิตหลังจากนี้ เราเป็นผู้กำหนด แม้จะล้ม ก็คิดจะคลาน ไม่มีใครล้มไปตลอดชีวิต เพียงแค่บอกกับตัวเองว่า “สู้โว้ย” “เราต้องทำได้” แล้วพลังมันจะมาเอง