xs
xsm
sm
md
lg

จวก “วิทยา” ป้องหมอ-พยาบาลเสนอกฎกระทรวงให้ยาเวชภัณฑ์พ้น พ.ร.บ.ความรับผิดฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คคบ.อัด “วิทยา” มัดมือชก ป้องหมอ พยาบาล เสนอกฎกระทรวง ให้ยกเว้นยาและเครื่องมือแพทย์จาก พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย งง! ทำไมต้องรีบ เตือนอย่าฟังแต่กลุ่มเสียประโยชน์ ชี้ แปลกกฎหมายของสำนักนายกฯ แต่ สธ.ขอออกกฎกระทรวง ชำแหละสอดไส้ยกเลิกยาทุกชนิด ยืมมือหมอป้องบริษัทยา ชี้ มีแต่สร้างปัญหา มั่นใจ “อภิสิทธิ์” ไม่เอาด้วย
นายวิทยา แก้วภราดัย
วันที่ 18 ก.พ. นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 นั้น จะครอบคลุมถึงการจ่ายยาในทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายยาโดยแพทย์หรือเภสัชกรปรุงเองให้คนไข้ หรือการจ่ายยาของบริษัทยาตามปกติที่มีการใส่ยาใส่ซองซิบ จะได้รับผลกระทบเรื่องนี้ทั้งหมด สธ.จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวง…. ออกตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อลงนามในฐานะรักษาตาม พ.ร.บ.นี้ ขณะนี้ร่างดังกล่าวอยู่ในการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่า จะผ่านการพิจารณาและจะมีผลยกเว้นตามมาตรา 4 ของกฎหมายนี้

“เมื่อมีกฎกระทรวงสำนักนายกรัฐมนตรี ยกเว้นยาและเวชภัณฑ์แล้ว หากมีความผิดพลาดจากจ่ายยาของบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยสามารถฟ้องร้องกับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค 2551 ที่มีผลบังคับใช้อยู่แล้ว หรือหากผู้ป่วยไปซื้อยาจากร้านขายยา แล้วพบว่าได้รับผลกระทบจาการใช้ยาที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็สามารถเอาผิดกับบริษัทยาผู้ผลิตได้โดยตรง โดยใช้ พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายฯ ได้ตามปกติ ไม่ได้รับการยกเว้นตามกฎกระทรวงที่ สธ.เสนอไปให้นายกรัฐมนตรีลงนาม” นายวิทยา กล่าว

ทั้งนี้ สธ.ได้ส่งหนังสือเลขที่ สธ.0201.041/402 เรื่องร่างกฎกระทรวงพ.ศ.... ออกตาม พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหาย เมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา ถึงนายกรัฐมนตรี โดยระบุใจความว่า ตามที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ซึ่งมีผลกระทบต่อการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขโดยรวม กล่าวคือ การปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร และบุคลากรด้านสาธารณสุขอื่นๆ จะได้รับผลกระทบ เนื่องจากถือเป็นสินค้าตาม พ.ร.บ.นี้ด้วย โดยมีมาตรา 4 กำหนดให้สามารถยกเว้นสินค้าที่ไม่อยู่ในบังคับของการเป็นการสินค้าโดยกำหนดในกฎกระทรวง สธ.จึงเสนอจัดทำร่างกฎกระทรวง พ.ศ...ออกตามกฎหมายนี้

ในส่วนของร่างกฎกระทรวงที่ สธ.เสนอไปให้นายกรัฐมนตรีลงนามนั้น ระบุให้ยาและเครื่องมือแพทย์ ที่ผลิตเพื่อใช้ในการป้องกันบำบัดโรค ในกรณีต่อไปนี้ ไม่เป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย 1 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบโรคศิลปะ ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยประเภทเวชกรรมไทย ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ เพื่อใช้แก่คนไข้ของตน

2.ผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาล การผดุงครรภ์ กายภาพบำบัด เทคนิคการแพทย์ เพื่อใช้แก่คนไข้ของตน 3.ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมตามใบอนุญาตขายยาว่าด้วยกฎหมายยา ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยประเภทเภสัชกรรมไทย เพื่อใช้แก่คนไข้ของตน และ 4.ผู้ประกอบวิชาชีพารสัตวแพทย์เพื่อใช้กับสัตว์ที่ตนบำบัดหรือป้องกันโรค ท้ายหนังสือ ลงวันที่ ... กุมภาพันธ์ พ.ศ.2552 และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้นายกฯลงนามได้ทันที

รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปนานนท์ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(คคบ.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่ นายวิทยา ระบุว่า ได้นำ พ.ร.บ.ความรับผิดต่อสินค้าไม่ปลอดภัย เข้าหารือในที่ประชุม ครม.เสนอให้ออกกฎกระทรวงสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อยกเว้นการใช้ยา และเวชภัณฑ์ โดยแพทย์ พยาบาล ไม่ให้บังคับใช้ใน พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ลดปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ถูกฟ้องร้อง โดยยืนยันว่า ครม.เห็นชอบด้วยนั้น เรื่องนี้มีความผิดปกติในหลายประเด็น

“พูดให้ชัดๆ ก็คือ ยาทุกอย่าง เพราะใครจะใช้ยากับผู้ป่วย ถ้าไม่ใช่หมอ พยาบาล เภสัช เว้นแต่กรณีผู้ป่วยซื้อยามากินเอง เรื่องนี้จึงเป็นการสอดไส้ลงไปในกฎกระทรวง เขียนแบบครอบจักรวาล หมอ พยาบาล กลัวการฟ้องร้อง ทั้งที่ถ้าตัวเองรักษาถูกต้อง จ่ายยาถูกกับโรค ก็ไม่มีอะไรต้องกลัว ถ้ายาไม่ดี ไม่มีคุณภาพ บริษัทยาต้องรับผิดชอบ แต่นี่กลายเป็นว่ายาอะไรก็ตาม ที่ผ่านมือหมอ พยาบาล เภสัช ไม่ถือเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ส่วนบริษัทยาได้ประโยชน์สูงสุด ไม่ต้องรับผิดชอบ” รศ.ดร.จิราพร กล่าว

รศ.ดร.จิราพร กล่าวต่อว่า ประเด็นที่น่าสงสัย คือ 1.พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้วันที่ 21 ก.พ.นี้ อยู่ภายใต้การดูแลของ สำนักนายกรัฐมนตรี เพราะกำกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ดังนั้น การเสนอเพิ่มเติม งดเว้น ปรับแก้ จะทำผ่าน คคบ.ที่ขณะนี้มีการเสนอให้ยกเว้น ผลิตภัณฑ์การเกษตร และยาที่ใช้ในการวิจัยทางคลินิก ซึ่งอยู่ในกระบวนการพิจารณา แต่ สธ.กลับไม่มีการเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ คคบ.แต่อย่างใด

“ทำไมไม่มีการนำเรื่องนี้มาพิจารณาใน คคบ.ทั้งๆ ที่มีผู้แทนจากทุกส่วน ทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัช ผู้บริโภค ไม่เว้นแม้ สธ.แต่กลับไม่เคยพูดถึงเลย จู่ๆ ก็มัดมือชกออกกฎกระทรวงสำนักนายกรัฐมนตรี อีกอย่างเรื่องนี้เกี่ยวกับชีวิต ความเป็นความตาย ต้องฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทำไมต้องรีบ จึงขอฝากไปถึงนายวิทยา ให้รอบคอบกว่านี้ เพราะทำงานเกี่ยวกับสุขภาพ ไม่เช่นนั้น หากรับฟังแต่กลุ่มอำนาจ กลุ่มผู้เสียประโยชน์ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นจะตามแก้กันไม่ไหว” รศ.ดร.จิราพร กล่าว

ประเด็นที่ 2 สธ.มีอำนาจในการออกกฎกระทรวงเรื่องนี้หรือ เพราะไม่ใช่กฎหมายที่หน่วยงานของตนดูแล หากรัฐบาลนี้ยอมให้ทำได้ ต่อไปจะกลายเป็นบรรทัดฐานว่า กระทรวงอื่นอยากยกเว้นอะไรในกฎหมายใดก็ได้ ประกอบกับเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่มีเอกสารเข้า ครม.และไม่ได้มีมติ ครม.ด้วยซ้ำ เพียงแต่พูดขึ้นมาลอยๆ จึงต้องตั้งคำถามว่ารัฐบาลนี้มีมาตรฐานอย่างไร 3.เนื้อความใน (ร่าง) กฎกระทรวง ขัดแย้งกับ สิ่งที่ นายวิทยา ระบุว่า จะยกเว้นเฉพาะยาที่ผสมเพื่อใช้ฉีด ไม่รวมยาที่ไม่มีคุณภาพ แต่กฎกระทรวงเขียนว่า ให้ยาและเครื่องมือแพทย์ ที่ใช้โดย ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หมอ พยาบาล เภสัช ไม่ถือเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย

รศ.ดร.ภญ.จิราพร กล่าวอีกว่า การอ้างว่า การให้ข้อมูลฉลาก การเอายาแบ่งใส่กล่อง ใส่ฟอยล์ จะทำให้เพิ่มต้นทุน ภาครัฐต้องรับผิดชอบมากขึ้น ต้องถามว่า เงินกับชีวิตคนอะไรสำคัญกว่า ผู้ป่วยควรทราบรายละเอียดผลกระทบของยาจากฉลากหรือไม่ เพื่อรักษาคุณภาพยาควรจัดเก็บอย่างถูกต้องหรือไม่ หรือว่าผู้ที่ร่างและเห็นชอบกับกฎกระทรวงฉบับนี้ ตีค่าชีวิตคนต่ำกว่าค่าฉลากกับฟรอยด์ห่อยา ส่วนที่อ้างว่าบุคลากรของรัฐ เช่น พยาบาล ไม่สามารถรับผิดชอบได้หากผสมยา แล้วผู้ป่วยได้รับผลกระทบ ก็หากใครไม่มีความรู้ ก็ไม่ควรผสมยา เพราะยาทุกชนิดมีสูตรเฉพาะอยู่แล้ว หากกระทำโดยผู้มีความรู้จะไม่เกิดความผิดพลาด

“เรื่องยามะเร็งที่อ้างว่าหมอจะไม่สั่งยาให้คนไข้ เพราะกลัวถูกฟ้อง คนๆ นั้นก็ไม่ควรเป็นหมอ และไม่เคยมีคนไข้มะเร็งที่ไหนในโลกฟ้องร้องหมอ ก่อนรักษาหมอกับคนไข้จะคุยกันถึงผลข้างเคียงที่เกิดจากยามะเร็งอยู่แล้ว สรุปว่า กฎกระทรวงฉบับนี้ มีแต่สร้างความไม่วางใจระหว่างผู้ป่วยกับผู้ให้บริการ คนจะตั้งข้อสงสัยว่าบุคลากรทางการแพทย์กลัวอะไร ถ้าทำตามหลักวิชาชีพและความรอบคอบ ดิฉันเชื่อว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าใจในหลักการของกฎหมายฉบับนี้ว่าเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และคงไม่เห็นด้วยกับกฎกระทรวงดังกล่าว ส่วนนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม คงไม่เห็นชอบกับกฎกระทรวงที่มาจากกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง” รศ.ดร.จิราพร กล่าว

ด้าน น.อ.พิเศษ นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่างข้อคิดเห็นอย่างเป็นกลางเกี่ยวกับผลกระทบของพ.ร.บ.ความรับผิดต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2552 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 ก.พ.นี้ โดยเนื้อหาเป็นข้อกังวลต่อทุกวิชาชีพทางด้านสาธารณสุข เพื่อเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งแพทยสภาเห็นด้วย พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 ที่จะคุ้มครองประชาชนเกี่ยวกับยาอันตราย แต่กังวลในบางกรณีที่อาจกระทบสิทธิของประชาชนอย่างมาก ในการได้รับบริการจากแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล ฯลฯ ที่จะให้ยาและเวชภัณฑ์ ทั้งกรณีปกติและฉุกเฉิน ว่า จะทำอย่างไรกระบวนการรักษาพยาบาลจะมีประสิทธิภาพเช่นเดิม เพราะหากได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ.นี้ จนเกิดความกังวลหรือไม่กล้าสั่งจ่ายยาให้การรักษาโรคที่มีความเสี่ยงสูง ท้ายสุดผลกระทบจะเกิดกับประชาชน

"ไม่เพียงแต่พยาบาลที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยแลเภสัชกรที่จัดยาให้ผู้ป่วยจะเดือดร้อนแล้วเท่านั้น แม้แต่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จะต้องเกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องในการจำหน่าย จ่ายแจก สินค้าที่ไม่ปลอดภัยจะต้องรับผิดชอบด้วยเช่นกัน เพราะ อสม.มีหน้าที่ในการดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งยังมีการแจกยาด้วย ทั้งนี้ หากกระบวนการผลิตยามีความผิดพลาด เห็นด้วยอย่างยิ่งที่บริษัทยาจะต้องชดเชย รับผิดชอบ โดยแพทยสภาจะสนับสนุนการฟ้องร้อง อย่างไรก็ตามหากเกิดความผิดพลาดขึ้นจากบุคลากรทางด้านสาธารณสุขนั้นก็มีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องที่รับผิดชอบอยู่ อาทิ พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ร.บ.ยา ฯลฯ”น.อ.พิเศษ นพ.อิทธพร กล่าว

น.อ.พิเศษ นพ.อิทธิพร กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวจะมีผลกระทบกับประชาชน เพราะยาทุกชนิดถอว่าเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งโดยหากยาจะเป็นสินค้าที่ปลอดภัย จะต้องมีฉลากที่ระบุ วิธีใช้ วิธีเก็บรักษา คำเตือน ซึ่งจะทำให้ยาบางฃนิดที่สั่งจ่ายอยู่ตามสถานพยาบาลไม่สามารถดำเนินการได้ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำฉลาก ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการให้ถูกต้องตามกฎหมายนี้จะเกิดต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งประชาชนจะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น นับว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ท้ายสุดท้ายสุดภาระก็จะตกอยู่ที่ประชาชนเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ ตัวแทนวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง อาทิ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ฯลฯ จะเข้าให้ข้อมูลดังกล่าวกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในช่วงเช้าของวันที่
กำลังโหลดความคิดเห็น