ข่าวการประกาศไขก๊อกจากเจ้ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ของ “วิฑูรย์ นามบุตร” ที่อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเดือนเศษ ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงแรกที่เกิดขึ้นในรัฐบาล “มาร์ค” สืบเนื่องมาจากพิษ “ปลากระป๋องเน่า” ที่ส่งกลิ่นจนทำให้หลายๆ คนถามหาถึงความรับผิดชอบ ซึ่งผลสรุปจะออกมาอย่างไรก็คงต้องคอยติดตามกันต่อไป
หลังจากนั้นไม่กี่อึดใจ ชื่อของ “อิสสระ สมชัย” ส.ส.อุบลราชธานี ได้รับการคัดเลือกขึ้นมาเพื่อรับไม้ต่อ
ถึงแม้ รมว.พม.ผู้นี้จะมีชื่อไม่ค่อยคุ้นหู แต่ชายวัย 63 ปี ที่พ่วงด้วยการศึกษาปริญญาโท จากสาขาพัฒนาสังคมโดยตรง ก็ไม่น่าทำให้ใครแปลกใจถึงความเหมาะสมกับการทำงานครั้งสำคัญนี้ แต่จะเจ๋งจริงหรือไม่ต้องลองไปฟังวิสัยทัศน์หรือ “กึ๋น” กันดู
** อยู่นานไม่นานดูที่การทำงาน
แต่ปรับห้องทำงาน หนีความร้อน (แรง)
แน่นอนว่า เมื่อพูดถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ หลายคนรู้ดีว่าเป็น “กระทรวงอาถรรพ์” เปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อย แต่ในมุมมองของ อิสสระ กลับมองว่า หากมองที่ด้านการทำงานตนไม่กังวลว่าจะอยู่ที่นี่ได้นานหรือไม่ เพราะว่างานที่ทำส่วนใหญ่ เป็นเรื่องที่ต้องทำตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงไว้ต่อสภา ส่วนสาเหตุที่กระทรวงนี้เปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อยนน่าจะมาจากเหตุสุดวิสัย การที่จะมาโทษว่าเป็นเพราะตัวกระทรวง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จึงไม่น่าใช่ เป็นเพียงปัจจัยภายนอกเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ก่อนมารับตำแหน่งก็มีคนมาทักบ้างถึงที่ทางการทำงาน ตนจึงปรับเปลี่ยนห้องทำงานใหม่ เพราะจากเดิมที่ผ่านมานั้น ห้องรัฐมนตรีจะเป็นห้องที่อยู่ตรงหน้ามุขของอาคาร แล้วมีกระจกโดยรอบทั้ง 3 ด้าน ทำให้แดดส่องและร้อนทั้งวัน จึงย้ายห้องเพื่อการทำงานที่สบายขึ้น ส่วนห้องเดิมก็เปลี่ยนมาเป็นห้องพระที่จะกราบไหว้ทุกครั้งก่อนการทำงาน ส่วนเรื่องอื่นถึงไม่เชื่อแต่ก็ไม่ลบหลู่ เมื่อมีคนมาทักก็พร้อมที่จะปรับปรุง เพื่อความสบายใจ
** ผู้สูงอายุ”เรื่องเร่งด่วน
จับตาแก้หนี้บ้านเอื้ออาทร
สำหรับนโยบายในเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำทันทีนั้น อิสสระ มองว่า นโยบายผู้สูงอายุคือเรื่องที่ต้องทำอย่างเร็วที่สุด กับการจ่ายเบี้ยยังชีพ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่จะจ่ายให้หมดทุกคนโดยมีจำนวนผู้สูงอายุกว่า 7 ล้านคนและจะเริ่มจ่ายได้ภายในเดือนเมษายนนี้ เมื่อเป็นดังนั้นจึงเหลือเวลาทำงานอีกเพียงเดือนเศษ จึงต้องรีบถึงที่สุดในการสรุปตัวเลขผู้ลงทะเบียนรับสิทธิ์ แต่ที่สรุปเบื้องต้นแล้วคือให้เป็นหน้าที่ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นรับดำเนินการในเรื่องนี้
อีกปัญหาที่สำคัญ คือ เรื่องของหนี้สินการเคหะแห่งชาติ โดยเฉพาะโครงการบ้านเอื้ออาทรที่ขาดทุน และเป็นหนี้อยู่กว่า 8 หมื่นล้านบาท โดยต้องเร่งหารือกับผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติเพราะหนี้กว่า 8 หมื่นล้านบาทนั้น สร้างภาระให้กับการเคหะฯ อย่างมากในการจ่ายดอกเบี้ย ก็ต้องมาทบทวนกันว่าโครงการนี้จะทำอย่างไรต่อไป สร้างต่อหรือยุติ ปัญหาเกิดจากใคร จากตัวผู้บริหารเอง หรือจากข้าราชการ เพราะบ้านสร้างเสร็จไปกว่า 1.5 แสนหลัง มีคนอยู่เพียง 7 หมื่นหลัง ปล่อยร้างอีกกว่า 8 หมื่นหลัง เป็นสิ่งที่น่าห่วงสำหรับโครงการใหญ่แล้วไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ซึ่งความชัดเจนต้องเกิดขึ้นเร็วๆ นี้
** เผชิญ “สังคมใหม่” เรื่องน่าห่วงของเยาวชน
ในด้านปัญหาสังคมที่น่าห่วงที่สุดนั้น รมว.พม.ให้ความเห็นว่า การเรียนรู้สังคมใหม่ส่วนใหญ่จะตกอยู่กับเยาวชน วัยรุ่น วิวัฒนาการสังคมใหม่กับวัยรุ่นจะไปด้วยกันอย่างหวือหวา จากที่เป็นข่าวไม่น่าเชื่อว่าทั้งเยาวชนหญิง ชาย ประกาศขายตัวทางอินเทอร์เน็ตอย่างโจ่งแจ้ง เด็กมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกในวัยที่ต่ำลง การยกพวกตีกันที่ยังไม่จบสิ้น ภาคสังคมก็ต้องเร่งหาวิธีการแก้ไข ซึ่งต้องร่วมกันกับทุกภาคส่วนในการจัดการปัญหา
“ปัญหาคนเร่ร่อนก็น่าห่วง โดยเฉพาะในสังคมเมืองอย่างกรุงเทพฯ ที่ห่วงสุดคือชีวิตเด็กเร่ร่อน เพราะแทนที่เด็กเหล่านั้นจะได้อยู่ในระบบการศึกษาก็ต้องมาขายของ ขายพวงมาลัยตามแยก ทำให้เด็กมองว่าการศึกษาไม่ใช่สิ่งสำคัญ มองคุณค่าการศึกษาน้อยลงไปด้วย จึงต้องเร่งส่งเสริมเด็กเหล่านี้ให้มาเข้ามาเรียนวิชาชีพ จนนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้” อิสสระ ให้ภาพ
**เลิกแจกของ : บทเรียนจาก “ป๋องเน่า”
กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ รมต.วิฑูรย์ เพราะปัญหาถุงยังชีพไม่ได้คุณภาพ ได้ให้บทเรียนด้านการทำงานอย่างไรบ้างนั้น อิสสระ บอกว่า บทเรียนที่ต้องเร่งนำไปแก้ไข คือ ในเมื่อกระทรวงนี้ แปรสภาพมาจากกรมประชาสงเคราะห์ คือ การมุ่งช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม เมื่อเป็นเช่นนั้นการให้ความช่วยเหลือก็ต้องมีอยู่อย่างเหมือนเดิม แต่จะเปลี่ยนจากการบริจาคสิ่งของ เป็นการช่วยเหลือด้วยตัวเงินแทน จะไม่ให้มีการมอบสิ่งของอีก เพราะเงินจะถึงมือผู้เดือดร้อนโดยตรง จะได้ไม่ต้องมีการจัดซื้อจัดจ้างที่อาจเป็นข้อครหาได้ นี่เองถือเป็นบทเรียนที่จะต้องนำมาปรับเปลี่ยนในการบริหาร จัดการต่อไป
ถึงตรงนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดนั้น อิสสระ บอกว่า ตนจะพยายามทำกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะในเรื่องของสวัสดิการของประชาชน จะดูแลให้ดีขึ้น เน้นการตรวจสอบ ดูแลอย่างรัดกุม ทั้งยังต้องมีการลดขั้นตอนการติดต่อ ช่วยเหลือไม่ให้ยุ่งยาก ต้องให้ประชาชนได้รับการช่วยเหลืออย่างเร็วที่สุด หากมีขั้นตอนเยอะก็จะเสียเวลา ดังนั้นทุกอย่างต้องลดขั้นตอนเพื่อเข้าสู่การช่วยเหลือให้เร็วที่สุด