คณะกรรมการฯ ตรวจสอบ “ปลากระป๋องเน่า” ประชุมนัดแรก “รองปลัดฯ กานดา” นั่งประธานฯ ชี้อยู่ในขั้นตอนการวางกรอบการทำงาน มอบอำนาจหน้าที่ เผยเตรียมเชิญ พมจ.พัทลุง เข้าให้ข้อมูลคนแรก เพราะใกล้ชิดเหตุการณ์สุด ปัดไร้แรงกดดันหากต้องเชิญ “วัลลภ ปลัดฯ พม.” มาให้ข้อมูล ระบุหากสาวถึงใครก็เรียกให้ข้อมูลได้หมด
วันนี้ (16 ก.พ.) เมื่อเวลา 13.30 น.ที่ห้องประชุมประชาบดี 4 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีปลากระป๋องในถุงยังชีพไม่ได้คุณภาพ ซึ่งมีนางกานดา วัชราภัย รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เป็นประธาน ได้ประชุมคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ นัดแรก ซึ่งภายหลังประชุมกว่า 1 ชั่วโมง จนเวลาประมาณ 15.00 น. นางกานดา ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมได้มีการกำหนดกรอบอำนาจหน้าที่การทำงาน และหารือว่าจะต้องมีเอกสารหลักฐานและบุคคลที่เกี่ยวข้องประกอบการพิจารณาอย่างไร หากจิ๊กซอว์ต่างๆ ที่พิจารณายังไม่ชัดเจน ก็จะเชิญบุคคลอื่นๆ มาให้ปากคำด้วย ทั้งนี้ เบื้องต้นอาจจะเชิญนางสุธีรา นุ้ยจันทร์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพัทลุง (พมจ.) มาให้ข้อมูลเป็นคนแรกในการประชุมนัดต่อไป เนื่องจากนางสุธีราเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์มากที่สุด เพราะเป็นผู้ที่รับของ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการประสานว่าจะจัดประชุมนัดต่อไปเมื่อไหร่
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการเชิญนายวัลลภ พลอยทับทิม ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มาให้ข้อมูลด้วยหรือไม่นั้น นางกานดา กล่าวว่า การที่จะเชิญบุคคลใดมาให้ข้อมูล ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการฯ ว่าได้พิจารณาและมีการพาดพิงถึงใคร หากเห็นว่าจำเป็นก็อาจจะต้องเชิญ ซึ่งการทำงานจะต้องเป็นไปตามกรอบขั้นตอนที่ชัดเจน จึงไม่คิดว่าจะมีแรงกดดันใดๆ รวมไปถึงการเชิญนายวิเชน สมมาต ก็ต้องดูว่ากรอบการพิจารณาของคณะกรรมการฯ เข้าไปถึงส่วนไหน หากพิจารณากันแล้วยังไม่มีความชัดเจนก็จะเชิญคนที่เกี่ยวข้องมาคุยอีกครั้งหนึ่ง ขณะนี้คณะกรรมการฯ ยังไม่ได้พิจารณาไปถึงขั้นนั้น ขอทำงานเป็นขั้นตอน
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่คณะกรรมการฯ ชุดนี้ถูกตั้งข้อสังเกตถึงการเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาคงไม่สามารถสอบข้อเท็จจริงระดับผู้บังคับบัญชาได้นั้น นางกานดา กล่าวว่า เราเป็นข้าราชการ ได้รับคำสั่งมาก็ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง ดังนั้น ผู้ที่ตั้งคณะกรรมการฯ ชุดนี้ขึ้นก็คงคิดว่าจะสามารถให้ความกระจ่างในเรื่องต่างๆ ได้ ขณะเดียวกันคณะกรรมการฯ ชุดนี้ก็มีตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สภาทนายความ และจากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอยืนยันว่าไม่มีแรงกดดันใดๆ อย่างไรก็ตาม คิดว่ากระบวนการสอบข้อเท็จจริง อาจจะประชุมกันไม่เกิน 10 ครั้ง แต่ระยะเวลานั้นคิดว่าไม่น่าจะช้า และจะต้องสรุปรายงานทั้งหมดเสนอปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ต่อไป
นายจิตติ มงคลชัยอรัญญา คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. หนึ่งในคณะกรรมการฯ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ กว่า 10 คน ประชุมตามคำสั่งแต่งตั้งของกระทรวงฯ พม. โดยมีการพิจารณาเบื้องต้นถึงระบบการเงิน การใช้เงินของกระทรวงฯ ว่ามีการใช้จ่ายในส่วนไหนบ้าง แต่ยังไม่ใช่ข้อมูลทั้งหมดยังนำมาไม่ครบ ซึ่งวันนี้ยังไม่ได้มีการหารือกันมากนัก เนื่องจากข้อมูลเรื่องปลากระป๋องที่ได้ยังเป็นข้อมูลทั่วไป ต้องรอรวบรวมข้อมูลทั้งหมดก่อน จากนั้นจะนัดประชุมครั้งต่อไป ซึ่งคณะกรรมการฯ ชุดนี้เป็นเพียงชุดหนึ่งที่ตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาปัญหาการแจกถุงยังชีพแล้วพบปลากระป๋องเน่า แต่ชุดสำคัญเป็นคณะกรรมาธิการฯ 3 ชุดของสภาฯ
อย่างไรก็ตาม อยากให้คณะกรรมการฯ ชุดนี้ตรวจสอบอย่างจริงจัง คงไม่ใช้ตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาข้อมูลแบบผิวเผินหรือตั้งขึ้นมาอย่างนั้น แต่อยากให้ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก ซึ่งอาจได้จากการชี้แจงของคนที่เกี่ยวข้องหรือเอกสาร หลักฐานทั้งหมด ส่วนจะชี้มูลว่าใครเป็นผู้กระทำความผิดเรื่องนี้ได้แค่ไหน ต้องพิจารณากันต่อไป