พม.ช่วยเด็กไร้รากเหง้า เด็กเร่ร่อนถูกทิ้ง ไร้บุพการี มีสูติบัตรสัญชาติไทย ด้าน มท.แก้กฎหมายให้รับแจ้งเกิดเด็กต่างด้าวในไทยทำประวัติทุกคน มีสิทธิเรียนหนังสือ รักษาพยาบาล สิทธิแรงงานตาม กม. เผยเด็กไร้สัญชาติในไทยไม่ต่ำกว่าแสนคน
วันนี้ (17 ก.พ.) ที่โรงแรมปรินซ์ พาเลซ สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือเด็กไร้สถานะทางกฎหมาย โดย นายวีนัส สีสุข หัวหน้าฝ่ายการทะเบียนราษฎรและสัญชาติ สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จาก พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 รวมแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 เพื่อแก้ปัญหาเด็กไร้สัญชาติไร้สถานะทางกฎหมาย โดยให้เด็กทุกคนที่เกิดในไทยได้รับการจดแจ้งเกิดและมีสูติบัตร ส่วนจะมีทะเบียนบ้านหรือไม่ขึ้นกับพ่อแม่เด็กมีลักษณะใด
เนื่องจากกฎหมายเดิมมีกฎกระทรวงมหาดไทยไม่ได้รับแจ้งเกิดเด็กที่เป็นลูกต่างด้าว ซึ่งขัดกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายใหม่จะแก้ไขให้นับแต่วันที่ 23 ส.ค.51 นายทะเบียนต้องมีการบันทึกการเกิดของเด็กทุกคน เช่น เด็กชายขอบ เด็กชนกลุ่มน้อย เด็กเร่ร่อน ถูกทอดทิ้ง เป็นต้น เด็กคนใดที่ตกสำรวจ ให้เข้ามาจดแจ้งกับสำนักทะเบียนราษฎร ส่วนสิทธิประโยชน์ของเด็กที่ได้รับสถานะแล้วจะได้รับการศึกษา การรักษาพยาบาล และแรงงานตามที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตามตัวเลขเด็กไร้สัญชาติเฉพาะที่เป็นนักเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการมีไม่ต่ำกว่า 60,000 คน ได้รับการทำทะเบียนประวัติแล้วแต่ยังไม่มีสัญชาติ
ด้านนางขวัญวงศ์ พิกุลทอง เลขานุการคณะอนุกรรมการติดตามการให้สถานะบุคคลแก่เด็ก คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้เด็กและเยาวชนไร้สถานะทางกฎหมายมี 5 กลุ่ม คือ เด็กไร้สถานะทางทะเบียนราษฎรเนื่องจากไม่มีเลขบัตรประชาชน 13 หลัก เด็กสัญชาติไทยแต่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยว่าเป็นคนต่างด้าว เด็กไร้สัญชาติที่เกิดในไทยและมีชื่อในทะเบียนราษฎรไทย เด็กไร้สัญชาติที่เกิดนอกประเทศไทยและมีชื่อในทะเบียนราษฎรไทย และเด็กที่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยในสถานะแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย
ในส่วนของกระทรวง พม.จะรับผิดชอบเด็กไร้รากเหง้า คือ เด็กเร่ร่อน เด็กถูกทอดทิ้งตามถังขยะ โรงพยาบาลไร้บุพการี และได้รับการดูแลจากสถานสงเคราะห์ ซึ่งกระทรวง พม.กำลังสำรวจจำนวนเด็กไร้สถานะทางกฎหมายทั้งหมด รวมทั้งเด็กอายุ 18 ปี ที่ออกจากสถานสงเคราะห์ไปแล้วให้ติดต่อกลับมารับการช่วยเหลือเพื่อรับสัญชาติได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้รัฐบาลไทยมีนโยบายให้คนต่างด้าวอาศัยอยู่ในประเทศถาวร 14 กลุ่ม 200,836 คน ยังไม่ได้สถานะ 65,722 คน เช่น ชาวเขา เวียดนามอพยพ ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า เป็นต้น อาศัยแบบชั่วคราว 5 กลุ่ม 331,645 คน กลุ่มที่ทางราชการมีนโยบายดูแลเป็นการเฉพาะ อาทิ แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ 1.5 ล้านคน ผู้หนีภัยการสู้รบ 1.4 แสนคน โรฮิงยา 15,000 คน ม้งลาว 7,000 คน เป็นต้น และกลุ่มคนหลบหนีเข้าเมืองต่างด้าวอื่นจำนวนไม่ชัดเจน
ทั้งนี้ กลุ่มที่ยังไม่ได้รับสถานะมีประมาณ 4 แสนคน คาดว่าจะมีเด็กที่เกิดในประเทศไทยแต่ไร้สัญชาติไม่ต่ำกว่า 1 แสนคนขึ้นไปจะได้รับการช่วยเหลือให้ได้รับสถานะตามกฎหมาย