สธ.เผยไทยพบแรงงานต่างด้าวติดเชื้อเอชไอวี ประมาณร้อยละ 3 ระดมสมอง 10 ประเทศอาเซียน จัดทำแผนงานระดับประเทศ ช่วยแรงงานต่างด้าวที่ติดเชื้อเอชไอวี ให้เข้าถึงการดูแลรักษาพยาบาล การป้องกัน การส่งเสริมสุขภาพ และข้อมูลข่าวสารที่ครอบคลุมอย่างทั่วถึง
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมอมารีวอเตอร์เกท กรุงเทพฯ นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดประชุมผู้บริหารในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้เรื่อง “การจัดทำกรอบความร่วมมือเรื่องโรคเอดส์ในแรงงานต่างด้าว” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมจัดทำแผนงานระดับประเทศ รองรับแรงงานต่างด้าวในภูมิภาคอาเซียนทั้งหมด ทั้งประเทศผู้ส่งแรงงานและประเทศผู้รับแรงงาน ซึ่งจะช่วยให้แรงงานต่างด้าวได้เข้าถึงการดูแลรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ การป้องกัน การส่งเสริมสุขภาพ และได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 10 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว พม่า บรูไน สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย ประกอบด้วย ผู้แทนภาครัฐ คือ สำนักงานเลขาธิการอาเซียน ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องเรื่องโรคเอดส์ ภาคประชาสังคม องค์กรเอกชน ในระดับภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 70 คน
นพ.ปราชญ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวในทุกภูมิภาคของโลก ซึ่งแรงงานเหล่านี้จะถูกดึงดูดโดยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจที่ยากจน ต้องดิ้นรนมาสู่ประเทศที่ร่ำรวยมากกว่าเพื่อหางานทำ ทำให้เกิดการหลั่งไหลของประเทศที่ด้อยกว่าสู่ประเทศที่เจริญ ส่วนภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ มีประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และไทย ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงกว่าประเทศอื่น จึงเป็นประเทศผู้รับแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน ทำให้พบปัญหาทางด้านโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อมากมาย โดยเฉพาะโรคเอดส์ จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในเดือนมิถุนายน 2551 พบอัตราความชุกการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มแรงงานต่างด้าวประมาณร้อยละ 3
นพ.ปราชญ์ กล่าวต่อว่า การประชุมในครั้งนี้ องค์กรเอกชนของไทยได้เป็นผู้นำในการดำเนินงาน เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีแรงงานต่างด้าวหลั่งไหลเข้ามาอยู่ในประเทศจำนวนมาก มีประสบการณ์และผลการดำเนินงานเป็นที่ยอมรับ ว่าสามารถดูแลแรงงานต่างด้าวที่ติดเชื้อเอชไอวีได้ดีระดับหนึ่ง มากกว่าประเทศอื่น เนื่องจากประเทศไทยได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนโลก ในการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ในแรงงานต่างด้าว โดยกระทรวงสาธารณสุขเชื่อมต่อมูลนิธิรักษ์ไทย พัฒนาระบบสาธารณสุขในภาครัฐ เพื่อรองรับแรงงานต่างด้าว ภายใต้หลักพื้นฐานของมนุษยชน จึงสามารถดูแลได้ดีกว่าประเทศอื่น
“ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2546–2550 กองทุนโลกได้สนับสนุนงบประมาณให้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพร่วมมือกับมูลนิธิรักษ์ไทย จัดทำโครงการเพื่อศึกษาการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขที่เป็นเลิศ สำหรับดูแลแรงงานต่างด้าวใน 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ตาก สมุทรสาคร สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง ภูเก็ต สงขลา นราธิวาสและปัตตานี โดยพบมีแรงงานต่างด้าวติดเชื้อเอชไอวีในจังหวัดนราธิวาสร้อยละ 3 จังหวัดระยอง ร้อยละ 2 และจังหวัดตราด ร้อยละ1.9 ขณะนี้โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินงานในระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี 2551-2555” นพ.ปราชญ์กล่าว