โพลกรมอนามัย เผย กว่าครึ่งวัยรุ่นเฉยๆ กับวัน “วาเลนไทน์” ขออยู่บ้านไม่ไปไหน ขณะที่ 80% ไม่ได้อยากมีเซ็กซ์ก่อนแต่งงาน ส่วนสาเหตุอยากมีเซ็กซ์ก่อนแต่ง 51% เพื่อทดลองอยู่ร่วมกัน 38.7% หวังผูกมัด 61% ชี้ พ่อแม่รับรู้ช่วยการันตีความรัก
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในการแถลงข่าว “วัยรุ่น...วัยรัก”ว่า จากการสำรวจของอนามัยโพล ในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา อายุ 14-29 ปี จำนวน 1,623 คน ในจังหวัดเชียงใหม่ นครศรีธรรมราช กรุงเทพมหานคร และเขตปริมณฑล ระหว่างวันที่ 26 มกราคม - 6 กุมภาพันธ์ 2552 เกี่ยวกับทัศนคติของวัยรุ่นไทยที่มีต่อเพศสัมพันธ์ ซึ่งกลุ่มตัวอย่าง 79% อาศัยอยู่กับพ่อแม่ ส่วนใหญ่ศึกษาในระดับมัธยมศึกษา 62%
นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลด้านพฤติกรรมพบว่า 49% มีคู่รักหรือแฟน 51% ยังไม่มี เมื่อถามว่า เคยมีเพศสัมพันธ์กับคู่รักหรือไม่ 30% บอกว่าเคย ส่วน 68% บอกว่าไม่เคย ทั้งนี้ ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ด้วยเป็นครั้งแรก 86.3% ระบุว่า เป็นคู่รัก ส่วน 10.4% เป็นเพื่อนหรือคนรู้จัก และ 3.1 เป็นผู้ขายบริการ เมื่อถามว่ามีการป้องกันเมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก 46.7% ระบุว่าใช้ถุงยางอนามัย ขณะที่ 34.9% ระบุว่าไม่ป้องกันอะไรเลย 10.7% ใช้ยาเม็ดคุมกำเนินฉุกเฉิน และ 5.6% นับวันปลอดภัย
นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนด้านทัศนคติ เมื่อถามว่า มีความเห็นอย่างไรกับวันวาเลนไทน์ 51% เฉยๆ เหมือนกับทุกวัน ขณะที่ 37% เห็นว่า เป็นวันพิเศษสำหรับคนรัก และ 9% เป็นวันพิเศษสำหรับครอบครัวหรือญาติ ส่วนกิจกรรมที่ตั้งใจทำในวันวาเลนไทน์ คือ อยู่บ้านไม่ไปไหน 55% 32% จะไปเที่ยวกับคู่รัก แต่เมื่อถามว่า จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานหรือไม่ 80.6% คิดว่าไม่ 59.3% คิดว่า การมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ผิดขนบธรรมเนียมประเพณี และ 27.6% ระบุ อยากประพฤติตัวให้พ่อแม่ภูมิใจ
“สาเหตุที่ต้องมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่ง 51.4% เพื่อต้องการทดลองอยู่ร่วมกัน และ 38.7% เพื่อเป็นการผูกมัด ส่วนสิ่งที่วัยรุ่นคิดว่าเป็นเครื่องการันตีความรักระหว่างกันนั้น 61.7% ระบุว่า ต้องให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ของแต่ละฝ่ายรับรู้ รองลงมา 49.1% การพูดคุยอย่างสม่ำเสมอ ส่วนลักษณะของคู่รักที่วัยรุ่นส่วนใหญ่ชอบและอยากจะชอบหา ร้อยละ 84.5 มองที่นิสัยและความรับผิดชอบ ร้อยละ 19.8 มองที่รูปร่างหน้าตา การแต่งกาย สำหรับข้อมูลข่าวารเรื่องเพศศึกษา 69.7% ได้รับจากครู อาจารย์ 58.8% อินเทอร์เน็ต โทรทัศน์ 53.9%” นพ.ณรงค์ศักดิ์กล่าว
นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ข้อมูลการเกิดของกระทรวงสาธารณสุข พบการตั้งครรภ์และคลอดในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ในปี 2550 มี จำนวนทั้งสิ้น 155,978 คน จากจำนวนการคลอดทั้งหมด 811,384 คน คิดเป็นร้อยละ 19.2 จากปี 2547 ที่มี วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี คลอดบุตรคิดเป็นร้อยละ 18.5 ซึ่งถือว่ายังห่วงมาก เพราะแนวโน้มการตั้งครรภ์ในกลุ่มแม่วัยรุ่นมีเพิ่มมากขึ้น ทำให้อนาคตเด็กที่เกิดขึ้นมาอาจไม่มีคุณภาพ
“การแสดงออกซึ่งความรักของหญิงชายมีความแตกต่าง ผู้หญิงส่วนใหญ่มักมองเรื่องความรักเป็นนามธรรม เช่น การดูแลใกล้ชิด แต่สำหรับผู้ชายมักเป็นการแสดงออกความรัก ซึ่งการสัมผัสร่างกายมากกว่า ยิ่งหากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นใจยิ่งทำให้มีโอกาสพลั้งเผลอได้ และปัญหาที่จะตามมาภายหลังคือการตั้งครรภ์ไม่พึ่งประสงค์ ทำให้เยาวชนเหล่านี้ต้องสูญเสียโอกาสทางการศึกษา และรุนแรงในบางรายถึงขั้นติดเชื้อเอดส์ ซึ่งกรมอนามัยตั้งเป้าหมายในการลดอัตราการตั้งครรภ์ของผู้หญิงอายุน้อยกว่า 20 ปี ให้ได้10% โดยจะเน้นเรื่องการทำความเข้าใจเรื่องการอนามัยเจริญพันธุ์และการป้องกันตนที่ถูกต้อง” นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าว