กมธ.วุฒิ 3 คณะออกมติ อุ้ม 2 หมื่นถูกตัดสิทธิ์เอเน็ต ให้เลื่อนจ่ายค่าสอบ เลิกปลุก 1.9 แสนโจมตี เตรียมตบเท้าพบ “จุรินทร์” พรุ่งนี้ เด็ก-ผู้ปกครอง ร้องให้ระงม เปรียบเสมือนโดนฟ้าผ่า วอนรัฐเห็นใจอย่าตัดอนาคต
วันนี้ (10 ก.พ.) ที่รัฐสภา น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.ประธาน กมธ.ศึกษาตรวจสอบทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล เป็นประธานการประชุมร่วมกับ กมธ.2 ชุด ประกอบด้วย กมธ.ยุติธรรมและการตำรวจ และ กมธ.สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครอง กรณีการตัดสิทธิการสอบเอเน็ตนักเรียนที่ชำระเงินล่าช้า โดยทาง กมธ.ได้เชิญหน่วยงานภาครัฐทั้งกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มาชี้แจง แต่ปรากฏว่า ไม่มีตัวแทนจากภาครัฐมาร่วมเลยแม้แต่คนเดียว มีเพียงผู้ปกครองและนักเรียนที่ประสบปัญหาเท่านั้น
นายเจริญ คัมภีรภาพ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ที่เข้ามาช่วยเหลือเด็ก ก็เพราะทนดูเด็กถูกรังแกไม่ได้ มีการโยนความผิดลงไปที่เด็กที่ไม่ได้สมัครสอบตามเวลาที่กำหนด ทั้งที่เอกสารไม่ได้ระบุว่าต้องชำระเงินภายในวันไหน แถมยังมีปรักปรำ ว่า เด็กปลอมแปลงเอกสาร เป็นคนเห็นแก่ตัว ถือว่าโหดร้ายที่สุด และยังสร้างข่าวสารในอินเทอร์เน็ตสร้างความแตกแยกในสังคม ทั้งนี้ หลังจากที่ผู้ปกครองและนักเรียนได้ไปร้องเรียนกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ท่านกลับสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งเป็นคู่กรณีมาวินิจฉัย ซึ่งไม่มีอำนาจถือว่าผิดกฎหมายวิธีพิจารณาทางปกครอง ม.13 เพราะนายกฯ ดังนั้น หากมีการฟ้องร้องดำเนินคดีนั้นรัฐบาล และ รมว.ศึกษาธิการ แพ้แน่นอน ถามว่า จะกล้ารับผิดชอบทางการเมืองโดยเอาตำแหน่งเป็นเดิมพันหรือไม่
ทั้งนี้ การที่ สกอ.โยนกลองให้ที่ประชุมอธิการบดี (ทปอ.) เป็นผู้วินิจฉัยนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะอำนาจในการวินิจฉัยอยู่ที่รัฐมนตรี ไม่ใช่ สกอ.หรือ ทปอ.ถ้ารัฐมนตรีไปมอบการวินิจฉัยให้ทั้งสององค์กร ก็เท่ากับว่า รัฐมนตรีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ในที่สุดเมื่อ ทปอ.วินิจฉัยแล้วจะมีปัญหาตามมาว่า คนพิจารณาไม่มีอำนาจวินิจฉัย ถ้าผู้ปกครองนำคดีขึ้นสู่ศาล ซึ่งรัฐบาลไม่มีทางต่อสู้ แพ้แน่นอน และสิ่งที่ตามมา คือ ความรับผิดชอบทางการเมือง ซึ่งเราไม่ต้องการ แต่ต้องการเพียงน้ำใจ และความเมตตากับเด็ก ถามว่ามันไม่มีแล้วหรือ
“การบอกว่าถ้าไม่ชำระเงิน ถือว่าเสียสิทธิ์นั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะการศึกษาเป็นสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยเป็นภาคีว่าด้วยสิทธิพลเมือง สิทธิมนุษยชน รัฐธรรมนูญไทยก็คุ้มครองการเข้าถึงสิทธิการศึกษา แต่รัฐบาลกำลังใช้เหตุการณ์ไม่ชำระเงินมาตัดสิทธิ์ของพลเมือง ผมทนไม่ได้จริงๆ และเชื่อว่า คนในประเทศก็ทนไม่ได้ที่เห็นผู้ใหญ่รังแกเด็ก” นายเจริญ กล่าว
นายพิสิฐ กิตติเจริญฤกษ์ ผู้ปกครอง กล่าวเปิดใจทั้งน้ำตา ว่า ตนไปพบนายกฯในวันที่อัดรายการที่สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที นายกฯลงมารับหนังสือด้วยตัวเอง ตนจึงมีความหวังแต่ไม่มีความคืบหน้า ส่วนเลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ บอกว่า เราจ่ายเงินช้าไม่สามารถช่วยอะไรได้แล้ว เหมือนฟ้าผ่าใส่พวกเรา ซึ่งพวกตนก็ยอมรับว่า ผิดพลาด แต่ทุกคนก็มีสิทธิ์ผิดพลาดมาก เรากำลังบอกว่า เด็กเหล่านี้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ต้องหมดสิทธิ์ศึกษาต่อ เด็กหลายคนร่ำเรียนมาแทบตาย แต่พลาดครั้งเดียว ผู้ใหญ่ตีตราว่าประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง วันนี้ตนไม่เสียใจที่สู้มา ไม่ว่าผลจะออกเป็นอย่างไร ไม่ว่าลูกจะได้สิทธิ์สอบหรือไม่ แต่สังคมได้รับรู้ว่าสังคมนี้จะตัดสิทธิ์เด็กด้วยกฎเกณฑ์ด้วยเมตตา หรือเพียงแค่อีโก้ที่หน่วยงานรัฐผิดไม่ได้ ครั้งนี้จะให้ผมกราบก็ได้ ยังมีเด็กที่พลาดข่าวสารโดยไม่ตั้งใจอีกจำนวน ผมขอโอกาสให้เด็ก ขอเมตตาธรรม โดยไม่คิดว่าจะไปลิดรอนใคร ตนไม่ได้ปฏิเสธกฎเกณฑ์ แต่ถามว่ากฎเกณฑ์นั้นมีความเป็นธรรมอยู่หรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่บิดาของ นายพิสิฐ กำลังกล่าวความในใจอยู่นั้น ปรากฏว่า เด็กนักเรียนที่ประสบปัญหาเดียวกันต่างพานั่งร้องไห้ระงมด้วยความเสียใจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายของการประชุม กมธ.นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ได้เสนอให้ทำหนังสือไปยัง ทปอ.ซึ่งจะเป็นองค์กรที่วินิจฉัยว่าเด็กนักเรียนที่มีปัญหาจะมีสิทธิ์สอบเอเน็ตหรือไม่ แต่ยังเกรงว่า การกระทำดังกล่าวจะเป็นการที่ฝ่ายการเมืองแทรกแซงข้าราชการขัดรัฐธรรมนูญ ม.266 หรือไม่ โดยนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ แจงว่า รัฐธรรมนูญห้ามแทรกแซงในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง แต่ ส.ว.หลายคนไม่เห็นด้วยกับการทำหนังสือ เนื่องจากกังวลว่าจะเป็นกลายประเด็นทางการเมือง จะทำให้อีกฝ่ายไม่ยอม เพราะกลัวเสียหน้า จึงให้ นายบุญยอด นัดหมายให้ ส.ว.ได้เข้าพบ รมว.ศึกษาธิการ ในวันพุธที่ 11 ก.พ.เวลา 09.30 น.เพื่อเสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.ให้ขยายเวลาการชำระเงินออกไป โดยอาจจะให้มีการเสียค่าปรับด้วยก็ได้ 2.ให้เปิดกว้างสำหรับเด็กที่สมัครแล้วทั้ง 2 หมื่นคนไม่ใช่เฉพาะเด็กที่แจ้งความจำนงไว้ 3.ควรทำความเข้าใจกับสังคมว่าการให้สิทธิดังกล่าวไม่กระทบต่อเด็ก 1.9 แสนคน เพื่อไม่ให้เกิดการแตกแยก ระหว่างเด็ก 2 กลุ่ม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการประชุมบรรดาผู้ปกครอง รวมทั้งเด็กนักเรียนต่างจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ สกอ.ที่ปฏิเสธที่จะช่วยเหลือเด็กอย่างไม่มีเยื่อใย โดยได้นำเอกสารที่ปรินต์มาจากเว็บไซต์ของ สกอ.ว่า ไม่ได้ระบุว่าจะต้องจ่ายเงินค่าสมัครสอบเอเน็ตภายในวันไหน ซึ่งต่างยืนยันว่า ไม่มีเจตนาที่จะหลบเลี่ยงการจ่ายเงิน 500 บาท เพราะที่ผ่านมาเสียค่าเรียนพิเศษเป็นแสนบาทยังจ่ายได้ หาก สกอ.เปิดให้จ่ายก็พร้อมจะเสียค่าปรับ นอกจากนี้ ผู้ปกครองยังเป็นห่วงเด็กนักเรียนที่ประสบปัญหา เนื่องจากขณะนี้ไม่มีสมาธิที่จะอ่านหนังสือแม้ว่าจะได้สิทธิสอบก็จะสู้เพื่อนไม่ได้