xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ผลิต “ปลากระป๋องชาวดอย” เจอคุก สธ.ลงดาบผิด 3 ข้อหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รมช.สธ.ตรวจโรงงานผลิตปลากระป๋องชาวดอย
สธ.ตรวจโรงงานทองกิ่งแก้วฟู้ดส์ สถานที่ผลิตปลากระป๋องยี่ห้อชาวดอย ไม่พบมีการผลิต แต่มีอาหารบรรจุกระป๋องที่ยังไม่ติดฉลากจำนวนกว่า 2 ล้านกระป๋องอยู่โกดัง แจ้งความดำเนินคดี 3 ข้อหา 1.ผลิตอาหารปลอม มีฉลากลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิด 2.ผลิตอาหารผิดมาตรฐาน 3.ผลิตอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต โทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 -100,000 บาท พร้อมสั่งการทุกจังหวัดเก็บปลากระป๋องในเครือบริษัทนี้อีก 15 ยี่ห้อ ลงจากชั้นวางชั่วคราว

บ่ายวันนี้ (29 มกราคม 2552) นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เดินทางไปตรวจสอบบริษัททองกิ่งแก้วฟู๊ดส์ จำกัด และโกดังเก็บสินค้า เลขที่ 17/1 หมู่ 5 ต.แคราย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ที่ระบุว่าเป็นสถานที่ผลิตปลากระป๋องยี่ห้อชาวดอย ที่นำไปบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่จังหวัดพัทลุง เมื่อ 12 ธันวาคม 2551 และมีปัญหากลิ่นเหม็นเน่า เนื้อปลาเละ เมื่อลองชิม เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน

นายมานิต กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง เก็บปลากระป๋องบริจาคออกจากหมู่บ้านที่ได้รับบริจาคทั้งหมดแล้ว และให้สำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศเก็บปลากระป๋องยี่ห้อดังกล่าวและที่ผลิตในล็อตเดียวกันคือ เลขที่สารบบอาหาร 74-07040-1-0050 ล็อตการผลิต TSE 77 ผลิตวันที่ 24 ธันวาคม 2551 หมดอายุวันที่ 24 ธันวาคม 2554 ออกจากท้องตลาดทั้งหมดด้วย เพื่อความปลอดภัยของประชาชน โดยผลการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2552 ไม่พบจุลินทรีย์ แต่มีกลิ่นเหม็น สภาพเนื้อปลาและน้ำซอสมีสีซีดกว่าปกติ และเนื้อปลาค่อนข้างยุ่ย ซึ่งขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เก็บปลากระป๋องอีกส่วนหนึ่งไว้ รอดูสภาพกระป๋องว่ามีแก๊สภายในที่เกิดจากการเน่าเสีย ซึ่งจะทำให้กระป๋องมีการบวมบุบบู้บี้หรือไม่ เป็นเวลา 14 วัน คาดจะทราบผลในสัปดาห์หน้า

สำหรับผลการตรวจสอบสถานที่ผลิตปลากระป๋องชาวดอย คือ บริษัททองกิ่งแก้วฟู๊ดส์ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 17/1 หมู่ 5 ต.แคราย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร พบผู้จัดการฝ่ายบุคคล ได้ให้การว่าโรงงานแห่งนี้หยุดผลิตอาหารเพื่อปรับปรุงให้ได้มาตรฐานจีเอ็มพี ตั้งแต่สิงหาคม 2551 ซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลที่ปรากฏบนกระป๋องที่ระบุว่า ผลิต 24 ธันวาคม 2551 และได้สาวถึงสถานที่ผลิตอาหารที่มีนายทนง ทองกิ่งแก้ว เป็นผู้ประกอบการอีก 2 แห่ง คือห้างหุ้นส่วนจำกัด ไทย เอ.ดีฟู้ด เทรดดิ้ง เลขที่ 219 หมู่ 14 ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย และที่จังหวัดจันทบุรีเลขที่ 50 หมู่ 5 ต.ตกพรม อ.ขลุง จ.จันทบุรี ผลการตรวจสอบไม่พบการผลิตปลากระป๋อง มีแต่ผลไม้บรรจุกระป๋อง และจากการเข้าไปตรวจสอบที่โกดังเก็บของของบริษัท พบว่ามีผลิตภัณฑ์อาหารบรรจุกระป๋องที่ยังไม่ติดฉลากจำนวน 2,373,062 กระป๋อง ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น เงาะในน้ำเชื่อม ข้าวโพด เห็ดแชมปิญอง เป็นต้น ไม่พบปลากระป๋อง ได้อายัดสินค้าไว้ทั้งหมดแล้ว

จากผลการตรวจสอบทั้งสถานที่ผลิตและโกดังเก็บของ สันนิษฐานว่าปลากระป๋องดังกล่าวน่าจะมีการผลิตมาจากสถานที่อื่น ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 และการผลิตอาหารตามมาตรฐานจีเอ็มพี (GMP) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ผลิต ทั้งหมด 3 ข้อหา คือ 1.ทำการผลิตอาหารปลอม และมีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิด ตามมาตรา 27(4) ฝ่าฝืนมาตรา 25(2) มีโทษตามมาตรา 59 คือจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-100,000 บาท 2.ข้อหาผลิตอาหารผิดมาตรฐาน ตามมาตรา 28 ฝ่าฝืนมาตรา 25(3) โทษตามมาตรา 60 คือจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท และ 3.ข้อหาเกี่ยวกับอาหารบรรจุกระป๋องอื่นๆ ที่ยังไม่ติดฉลากและมีการเก็บรักษาไว้ในโกดัง ถือว่าเข้าข่ายผลิตอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 14 มีโทษตามมาตรา 53 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาทหรือทั้งจำและปรับ เนื่องจากกระบวนการผลิตอาหาร ตั้งแต่การผลิตจนถึงการติดฉลากอาหาร จะต้องดำเนินการภายในโรงงานที่ได้ตามมาตรฐาน ที่ขออนุญาตกับอย.ไว้เท่านั้น การผลิตอาหารอีกที่และติดฉลากอีกที่ถือว่าเป็นการกระทำไม่ถูกต้อง

ด้านนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ความผิดทั้งหมดนี้ อย. ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ได้แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาดังกล่าวที่สถานีตำรวจภูธรกระทุ่มแบน จ.สมุทรสาครเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2552 อย่างไรก็ตาม ในการคุ้มครองความปลอดภัยประชาชนผู้บริโภค ขณะนี้ เจ้าหน้าที่อย. ทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัด ได้เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง และขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันตรวจสอบอาหารบริโภคบรรจุเสร็จ หากพบว่าไม่มีฉลากอย.ข้างกระป๋อง ขอให้แจ้งที่สายด่วนผู้บริโภค 1556 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อดำเนินการทางกฎหมาย

ทั้งนี้ ปลากระป๋องที่บริษัททองกิ่งแก้วฟู้ดส์ จำกัด และบริษัทเอดี ฟู้ดส์ ผู้แทนจำหน่าย ได้ขอฉลากมีทั้งหมด 15 ยี่ห้อ ได้แก่
 1.ปลาซาร์ดีนในน้ำเกลือตราไทเอดี เลขสารบบอาหาร 74-1-1040-1-0014
2.ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ เลขสารบบอาหาร 74-1-07040-1-0015
3.ปลาแมคเคอรอลในซอสมะเขือเทศ เลขสารบบอาหาร 74-1-07040-1-0018
4.ปลาแมคเคอรอลในน้ำเกลือตราไทยเอดี เลขสารบบอาหาร 74-1-07040-1-0019
5.ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศตรากู๊ดดี้ เลขสารบบอาหาร 74-1-07040-1-0048,
6.ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศตราทีเคเค เลขสารบบอาหาร 74-1-07040-1-0049
7.ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศตราชาวดอย เลขสารบบอาหาร 74-1-07040-1-0050
8.ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศตราแม่ครัวไทย เลข สารบบอาหาร 74-1-07040-1-0059
9.ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศตราแหวนเพชร เลขสารบบอาหาร 74-1-07040-1-0060
10.ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศตราชาววัง เลขสารบบอาหาร 74-1-07040-1-0061
11.ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศตรากระต่ายทอง เลขสารบบอาหาร 74-1-07040-1-0062
12.ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศตรากู๊ดดี้ เลขสารบบอาหาร 74-1-07040-1-0074
13.ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศตราลีดเดอร์ไพรซ์ เลขสารบบอาหาร 74-1-07040-1-0083
14.ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศตราเฟิร์สทไพรซ์ เลข สารบบอาหาร 74-1-07040-1-0084 
15.ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศตราบิ๊กซี เลขสารบบอาหาร 74-1-07040-1-0085
ซึ่งขณะนี้ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีไม่ได้สั่งสินค้าจากบริษัทนี้แล้ว ทั้งหมดนี้ อย. ได้สั่งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด เก็บออกจากชั้นวางขายทั้งหมดชั่วคราวจนกว่าผลการตรวจสอบจะเสร็จสิ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานสภาพของโรงงานซึ่งอยู่ระหว่างการปิดปรับปรุงว่า โรงงานแห่งนี้มีอาคารใหญ่ๆ 4 แห่ง อยู่ใกล้กันบนพื้นที่ 21 ไร่ แบ่งเป็น อาคารผลิตปลากระป๋อง ผักดอง และผลไม่กระป๋อง โกดังเก็บสินค้า และโกดังเก็บวัตถุดิบ โดยอาคารที่ทำการผลิตระหว่างการปิดปรับปรุง มีการปูกระเบื้อง หลังคาใหม่ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยต้องนำเครื่องจักร อุปกรณ์การผลิตมาวางไว้นอกห้องผลิต โดยบริเวณโรงงานมีกลิ่นเหม็นคาว โชยมาเป็นระยะ โดยเฉพาะโกดังเก็บสินค้า มีกลิ่นเหม็นรุนแรง และท่อระบายน้ำทิ้งมีน้ำเน่าเสียค้างอยู่

ขณะที่โกดังเก็บสินค้า มี 2 แห่ง แบ่งเป็นอาคารที่มีผนังปิดมิดชิด ซึ่งมีอาหารกระป๋องเช่น เห็ดหลินจือ ลำไย เงาะ ลิ้นจี่ บรรจุใส่กล่องกระดาษวางเรียงเต็มโกดัง และยังพบว่ามีการเก็บซอสมะเขือเทศเข้มข้น ซึ่งเป็นส่วนผสมของปลากระป๋อง ถังแกลลอนขนาด 200 ลิตร จำนวน 200 กว่าถัง โดยมีฉลากเป็นภาษาจีน แต่ไม่ระบุวันหมดอายุ ส่วนโกดังอีกหลังเป็นแบบเปิดโล่ง มีแต่หลังคาพบว่า มีอาหารกระป๋องที่ผลิตสำเร็จแล้วแต่ยังไม่ปิดฉลากวางอยู่จำนวนมาก และมีปลากระป๋องล็อตที่มีปัญหากลิ่นเน่าเหม็นซึ่งบริษัทได้เรียกเก็บคืน เพื่อรอทำลายจำนวน

นายมานิต กล่าวว่า ที่มาตรวจเยี่ยมโรงงานการผลิตแห่งนี้ ไม่ใช่เพราะประเด็นทางการเมือง แต่ต้องการต้องการให้รับทราบข้อเท็จจริงตรงกันทุกฝ่ายว่าเป็นอย่างไร ส่วนการตรวจสอบข้อมูลต่อจากนี้เป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงการตามตัวพ่อค้าที่มารับซื้อปลากระป๋องต่อไปนั้นเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจกับฝ่ายโรงงานว่าต้องการให้เรื่องกระจ่างชัดมากเพียงใด เพราะการขายของจะต้องมีการออกใบเสร็จ จะบอกว่าไม่ทราบว่าขายให้ใครคงไม่ได้ แต่ไม่ใช่หน้าที่ของสธ.ที่จะสืบเรื่องดังกล่าว

พ.ต.อ.ไชยา กล่าวว่า อย. ได้แจ้งความดำเนินคดีกับบริษัท ทองกิ่งแก้วฟู้ดส์ เมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา โดยนายทนง ทองกิ่งแก้ว เจ้าของบริษัท ทองกิ่งแก้วฟู้ดส์ฯ ได้เข้ามารับทราบข้อหาตามหมายเรียกเมื่อคืนวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา โดยได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และได้มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทราบ ซึ่งขณะนี้สภอ. กระทุ่มแบน อยู่ระหว่างการรอหลักฐานเพิ่มเติม โดยเฉพาะชื่อพ่อค้าเร่ที่มาซื้อปลากระป๋องชาวดอย เพื่อตรวจสอบว่าปลาประป๋องล็อตดังกล่าวไปอยู่ในถุงบริจาคได้อย่างไร ซึ่งจะเรียกให้นายทะนงมาชี้แจงเรื่องนี้ต่อไป

ด้านนายวิชาญ วรมุสิก ผู้จัดการโรงงานบริษัททองกิ่งแก้วฟู๊ดส์ จำกัด ผู้ผลิตปลากระป๋องยี่ห้อชาวดอย กล่าวว่า นายทนงได้ฝากคำชี้แจงให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องรวมถึงสื่อมวลชน ดังนี้ โรงงานได้หยุดการผลิตตั้งแต่ปลายเดือนส.ค.2551 ด้วยเหตุที่มีปัญหาภายในบริษัททีมผู้บริหารฝ่ายผลิตกับพนักงานในโรงงาน จึงมีการลาออกยกทีม ทำให้ข้อมูลต่างๆถูกทำลาย จึงตัดสินใจปรับปรุงโรงงานใหม่ทั้งหมด แต่เหตุที่ฉลากระบุว่าผลิตวันที่ 24 ธ.ค.2551 นั้นเนื่องจากความหวังดีของพนักงาน ซึ่งบริษัทก็ยอมรับผิดดังกล่าว

“บริษัทฯได้ขายปลากระป๋องดังกล่าวเลหลังหน้าโรงงานให้กับพ่อค้าขาประจำในล็อตดังกล่าวประมาณ 250 กล่อง หรือประมาณ 2.5 หมื่นกระป๋องไปแล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้ แต่ได้ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ซึ่งทางบริษัทฯไม่ทราบว่าสินค้าดังกล่าวไปถึงการบริจาคของผู้ประสบอุทกภัยได้อย่างไร และไม่สามารถติดต่อตัวพ่อค้าคนดังกล่าวได้ เนื่องจากปิดโทรศัพท์มือถือไปแล้ว และนายทนงยืนยันในหนังสือ ระบุว่า ไม่มีผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดเป็นนักการเมืองหรือข้าราชการระดับสูง หรือมีตำแหน่งที่ปรึกษาเป็นนักการเมืองอย่างที่ตกเป็นข่าว”นายวิชาญ กล่าว

นายวิชาญ กล่าวว่า ในส่วนกรณีที่ปลากระป๋องมีกลิ่นคาวปลา จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าน่าจะเกิดจากเครื่องคว่ำน้ำปลา ที่หมุนเร็วเกินไปจนไม่สามารถทิ้งนำในกระป๋องที่เกิดจากการนึ่งออกไปได้หมด เมื่อเติมซอสมะเขือเทศจึงไม่สามารถเติมซอสได้มากถึงปริมาณ เมื่อน้ำซอสมะเขือเทศผสมกับน้ำนึ่งปลา ทำให้เกิดกลิ่นคาวปลาอย่างแรง แต่มีการฆ่าเชื้อเป็นไปตามมาตรฐานทำให้กระป๋องไม่บวม จึงไม่ได้คัดกระป๋องเหล่านั้นออกตามมาตรฐานการผลิต




กำลังโหลดความคิดเห็น